...

"ทับหลังสลักภาพนารายณ์บรรทมสินธุ์"
"ทับหลังสลักภาพนารายณ์บรรทมสินธุ์"
ศิลปะ/อายุ : ศิลปะเขมรในประเทศไทย แบบบาปวน อายุราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๗
แหล่งที่พบ : ศาลสูง (ศาลพระกาฬ) จังหวัดลพบุรี
ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ ณ พระที่นั่งพิมานมงกุฎ ชั้น ๒ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์
------------------------------
ทับหลังสลักภาพนารายณ์บรรทมสินธุ์ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ ว่าด้วยเรื่องราวของพระวิษณุหรือพระนารายณ์ เทพเจ้าผู้ทำหน้าที่รักษาความสงบสุขของโลก ตามคัมภีร์ในศาสนาฮินดูกล่าวว่า การบรรทมของพระวิษณุเกิดขึ้นเมื่อโลกถูกทำลาย บรรดาเหล่าพรหมและฤษีได้ขอให้พระวิษณุสร้างโลกขึ้นใหม่ พระวิษณุจึงกระทำโยคนิทราระหว่างบรรทมเหนือพระยาอนันตนาคราชกลางเกษียรสมุทร และบังเกิดดอกบัวผุดขึ้นจากพระนาภี (สะดือ) ซึ่งมีพระพรหมประทับอยู่บนนั้น โดยพระพรหมจะทำหน้าที่สร้างโลกและสรรพสิ่งต่าง ๆ ขึ้นอีกครั้ง ภาพเล่าเรื่องตอนนี้นิยมสลักอยู่บนทับหลังหรือหน้าบันของปราสาทเขมร และมักจะอยู่ในตำแหน่งสำคัญของเทวสถาน
.
สำหรับรูปแบบของทับหลังแผ่นนี้ เป็นแผ่นหินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า สลักภาพเล่าเรื่องขนาดใหญ่เต็มพื้นที่ โดยสลักรูปพระนารายณ์บรรทมตะแขงซ้ายเหนือพระยาอนันตนาคราช พระกรขวาประคองพระเศียร ส่วนประกรอื่น ๆ สภาพลบเลือนและแตกกะเทาะ จึงไม่เห็นสิ่งที่ถือในพระหัตถ์ ซึ่งปกติจะถือจักร สังข์ และคทา บริเวณพระนาภี (สะดือ) มีก้านดอกบัวผุดออกมา สภาพแตกกะเทาะเช่นกัน หากมีสภาพสมบูรณ์จะมีรูปพระพรหมประทับอยู่เหนือดอกบัว และบริเวณเบื้องพระบาทมีรูปพระชายา คือ พระลักษมี ประทับนั่งประคองพระชงฆ์ (แข้ง) และพระบาท
.
สภาพของทับหลังแผ่นนี้บางส่วนหักหาย ภาพสลักแตกกะเทาะและลบเลือน แต่จากรูปแบบศิลปกรรมสังเกตได้ว่าพระยาอนันตนาคราชยังไม่มีมกรมารองรับเหมือนศิลปะแบบนครวัด และทับหลังแผ่นนี้อาจเทียบได้กับทับหลังสลักภาพนารายณ์บรรทมสินธุ์ที่พบที่ปราสาทสระกำแพงใหญ่ ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ (พ.ศ. ๑๕๔๕-๑๕๙๓) ตรงกับศิลปะเขมรแบบบาปวน สอดคล้องกับจารึกพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ (จารึกศาลสูง) ที่พบร่วมกับทับหลังที่ศาลพระกาฬ
.
อย่างไรก็ตาม ทับหลังแผ่นนี้และจารึกดังกล่าวอาจถูกรวบรวมนำมาเก็บไว้ที่ศาลพระกาฬในภายหลังก็ได้แต่อย่างน้อยหลักฐานนี้แสดงให้เห็นว่าเมืองลพบุรีมีความสำคัญในสมัยบาปวนหรือในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ และแสดงถึงความต่อเนื่องของวัฒนธรรมเขมรในเมืองลพบุรีที่ปรากฏหลักฐานมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๕
------------------------------
อ้างอิง
.
ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ. ศิลปกรรมที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมเขมร (พุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๘). โครงการพัฒนาการของงานศิลปกรรมเมืองลพบุรีตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12 ถึงพุทธศตวรรษที่ 24. นครปฐม : สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๕๕.
.
สมิทธิ ศิริภัทร์ และมยุรี วีรประเสริฐ. ทับหลัง : การศึกษาเปรียบเทียบทับหลังที่พบในประเทศไทยและประเทศกัมพูชา. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๓๓.
.
สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์, หม่อมราชวงศ์. ทับหลังในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, ๒๕๓๑.
.
อรุณศักดิ์ กิ่งมณี. ทิพยนิยายจากปราสาทหิน. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, ๒๕๕๕.
------------------------------
เรียบเรียง : นายกฤษฎา นิลพัฒน์ ภัณฑารักษ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์

(จำนวนผู้เข้าชม 654 ครั้ง)


Messenger