...

337 ปี ปรากฏการณ์จันทรุปราคา วันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2228
337 ปี ปรากฏการณ์จันทรุปราคา วันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2228
ปรากฏการณ์จันทรุปราคา วันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2228 ณ พระที่นั่งไกรสรสีหราช เมืองลพบุรี เหตุการณ์ครั้งนี้มีการบันทึกรายละเอียดจากบันทึกของบาทหลวงตาชารด์และบันทึกของบาทหลวงเดอ ฟงเตอเนย์ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
คณะบาทหลวงเยซูอิตนักคณิตศาสตร์จำนวน 6 รูป จากฝรั่งเศสมีเป้าหมายที่จะเดินทางไปยังเมืองจีน ซึ่งได้มาพักระหว่างทางที่สยาม และได้เข้าเฝ้าฯสมเด็จพระนารายณ์มหาราชที่เมืองลพบุรี โดยออกญาวิไชเยนทร์เป็นผู้นำเข้าเฝ้าฯ คณะบาทหลวงเยซูอิตได้กราบบังคมทูลเรื่องการจะเกิดขึ้นของจันทรุปราคาให้สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงทราบ พระองค์มีพระราชประสงค์จะทรงร่วมสังเกตปรากฏการณ์จันทรุปราคาครั้งนี้ด้วย โดยสถานที่ในการสังเกตปรากฏการณ์จันทรุปราคาคือ พระที่นั่งไกรสรสีหราช หรือ พระตำหนักทะเลชุบศร (พระที่นั่งเย็น) เนื่องจากคณะบาทหลวงเยซูอิตมองเห็นว่าเป็นสถานที่ที่สามารถมองเห็นท้องฟ้าได้รอบทิศ มีบริเวณกว้างขวางเหมาะสำหรับการตั้งกล้องดูดาว คณะบาทหลวงเยซูอิตได้นำแผนผังอุปราคา ซึ่งเป็นภาพดวงจันทร์ที่ค่อย ๆ หายเข้าไปในเงามืดและเริ่มเกิดเงามัวมืดทีละน้อย มอบให้กับออกญาวิไชเยนทร์นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เพื่อให้พระองค์ทรงศึกษาก่อนล่วงหน้า ซึ่งเป็นที่พอพระราชหฤทัยอย่างมาก หลังจากนั้นจึงเริ่มกระบวนการสังเกตการณ์ เพื่อเตรียมตัวในวันก่อนหน้าที่จะเกิดปรากฏการณ์
การเตรียมตัวในวันก่อนหน้าที่จะเกิดปรากฏการณ์ เริ่มต้นจากการสำรวจดวงดาวบนท้องฟ้า โดยเฉพาะดวงดาวที่จำเป็นกับปรากฏการณ์จันทรุปราคาให้ถูกต้อง ในวันที่ 6-7 ธันวาคม พ.ศ. 2228 ทำการสำรวจวงแหวนดาราศาสตร์ โดยทำเช่นนี้ตลอดช่วง 2 วัน ในวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2228 ทำการสำรวจดวงอาทิตย์ จากการวัดระดับความสูงของขอบดวงอาทิตย์ในช่วงเช้าและช่วงเย็น นอกจากนี้ออกญาวิไชเยนทร์ได้นำคณะบาทหลวงเยซูอิตไปยังพระที่นั่งไกรสรสีหราช ซึ่งห่างจากตัวเมืองลพบุรีไปทางทิศตะวันออก โดยคณะบาทหลวงเยซูอิตเลือกระเบียงด้านทิศตะวันตกเป็นที่จัดตั้งกล้องโทรทรรศน์และเครื่องมือต่างๆ ในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2228 ทำการสำรวจระดับความสูงของขอบดวงอาทิตย์และตำแหน่งการเบนของเข็มบนเครื่องมือวัดมุมพารัลแลกซ์ของดวงอาทิตย์ มีการนำเครื่องมือดาราศาสตร์บรรทุกบนหลังช้างขนไปยังพระที่นั่งไกรสรสีหราช ในช่วงบ่ายของวันคณะบาทหลวงเยซูอิตได้ติดตามคณะราชทูตฝรั่งเศสไปร่วมพิธีคล้องช้างที่บริเวณป่าใกล้ๆ พระที่นั่งไกรสรสีหราช เมื่อถึงเวลาค่ำ สมเด็จพระนารายณ์มหาราชพระราชทานเลี้ยงคณะราชทูตและคณะบาทหลวงด้วยอาหารจากญี่ปุ่น จีน และชาติอื่นๆ ซึ่งจัดไว้อย่างสวยงาม จากนั้นคณะราชทูตฝรั่งเศสจึงเดินทางกลับเมืองลพบุรี ส่วนคณะบาทหลวงเยซูอิตได้เตรียมการจัดกล้องโทรทรรศน์ นาฬิกาลูกตุ้มเหล็กแบบเกลียว เสร็จแล้วจึงกลับไปยังที่พักที่สยามจัดเตรียมไว้ให้
วันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2228 ปรากฏการณ์จันทรุปราคา ณ พระที่นั่งไกรสรสีหราช เริ่มจากการเตรียมเครื่องมือดาราศาสตร์ให้พร้อมปฏิบัติการ รวมทั้งเตรียมกล้องโทรทรรศน์สำหรับสมเด็จพระนารายณ์มหาราชที่ช่องพระบัญชร หลังจากนั้นปรากฏการณ์จันทรุปราคาจึงเริ่มเกิดขึ้นในเวลา 2 นาฬิกา 53 นาที จนกระทั่งเกิดเงามืดสนิทเต็มดวงในเวลา 3 นาฬิกา 22 นาที สมเด็จพระนารายณ์มหาราชพอพระราชหฤทัย เมื่อได้ทอดพระเนตรเห็นปรากฏการณ์บนดวงจันทร์ และพระองค์พอพระราชหฤทัยว่าแผนที่อุปราคาที่ได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายก่อนหน้านั้นถูกต้องตามที่คำนวณไว้ พระองค์ทรงซักถามต่าง ๆ กับคณะบาทหลวงเยซูอิตมากมาย เช่น เหตุใดดวงจันทร์ที่เห็นในกล้องโทรทรรศน์จึงกลับทางกัน เหตุใดยังคงเห็นดวงจันทร์อยู่ทั้งที่มีเงามืดบดบังแล้ว และปรากฏการณ์จันทรุปราคาที่กรุงปารีสเกิดขึ้นเมื่อใด นอกจากนี้พระองค์ยังมีพระราชประสงค์จะทอดพระเนตรด้วยกล้องโทรทรรศน์ขนาดความยาว 12 ฟุต ของบาทหลวงเดอ ฟงเตอเนย์ที่ใช้สังเกตปรากฏการณ์ บาทหลวงจึงนำขึ้นถวายให้ทอดพระเนตร แต่กล้องโทรทรรศน์จำเป็นต้องปรับกล้อง ทำให้มีการลุกนั่งหน้าที่ประทับ สมเด็จพระนารายณ์มหาราชพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ลุกขึ้นยืนหน้าที่ประทับได้ การสังเกตปรากฏการณ์จันทรุปราคาในครั้งนี้ สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงร่วมสังเกตปรากฏการณ์ประมาณ 2 ชั่งโมง หลังจากที่ทรงสังเกตปรากฏการณ์ด้วยความพอพระราชหฤทัยแล้ว พระองค์ทรงมีรับสั่งกับคณะบาทหลวงเยซูอิตว่าจะให้สร้างโบสถ์ เรือนพัก หอดูดาวที่เมืองลพบุรีและกรุงศรีอยุธยา
***********************************************
การสังเกตปรากฏการณ์จันทรุปราคา วันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2228 ณ พระที่นั่งไกรสรสีหราช เมืองลพบุรี ถือเป็นการสถาปนาดาราศาสตร์ตะวันตกในแผ่นดินสยามเป็นครั้งแรก ***********************************************
.
เรียบเรียงโดย สิทธิกานต์ พระโพธิ์ นักศึกษาฝึกประสบการณ์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
.
อ้างอิง
ภูธร ภูมะธน, สมเด็จพระนารายณ์มหาราช: พระมหากษัตริย์ผู้สนพระทัยและองค์อุปถัมภ์การศึกษาดาราศาสตร์ตะวันตกในสยามพระองค์แรก, พิมพ์ครั้งที่ 1, เชียงใหม่: สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน), 2555.
สมาคมดาราศาสตร์ไทย, จดหมายเหตุดาราศาสตร์จากฝรั่งเศสเกี่ยวกับพระราชอาณาจักรสยามในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช, กรุงเทพฯ: สมาคมดาราศาสตร์ไทย, 2542.

(จำนวนผู้เข้าชม 1320 ครั้ง)


Messenger