...

สุทธาสวรรย์พรรณเพริศแพร้ว ตอนที่ 3
ในตอนที่แล้วได้นำเสนอข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ และเขตพระราชฐานชั้นในไป โดยจากข้อมูลที่เป็นบันทึกของชาวต่างชาติ และเอกสารของไทย สามารถสรุปลักษณะของพระที่นั่งสุทธาสวรรย์และเขตพระราชฐานชั้นในได้ดังนี้
เขตพระราชฐานชั้นในเป็นที่ประทับของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช หลังคาของพระที่นั่งประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีเหลือง ที่มุมทั้งสี่ของพระที่นั่งมีสระน้ำใหญ่สี่สระมีกระโจมคลุมกั้นเป็นที่สรงสนานของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช สระน้ำด้านขวามือมีเขามอ พรรณไม้ขึ้นเขียวชอุ่มอยู่เสมอ มีธารน้ำแจกจ่ายน้ำให้แก่สระทั้งสี่นี้ บริเวณพระที่นั่งมีอาคารขนาดเล็กขนาบด้านซ้ายและด้านขวา มีน้ำพุอ่างแก้วบริเวณทิศเหนือและทิศใต้ของพระที่นั่ง เหล่าสนมกำนัลมีที่พักอาศัยเป็นตึกแถวยาวขนานไปกับพระที่นั่ง
............................................................
แม้ในปัจจุบันพระที่นั่งสุทธาสวรรย์จะเหลือเพียงซากของอาคารบนฐานไพทีแต่ยังคงไว้ซึ่งหลักฐานที่น่าสนใจเกี่ยวกับพระที่นั่งองค์นี้ ดังจะกล่าวต่อไป
ระบบการจัดการน้ำ เป็นจุดเด่นของพระราชวังเมืองลพบุรี โดยได้รับการออกแบบระบบประปาจากวิศวกรชาวอิตาลี และฝรั่งเศส ซึ่งเข้ามาสานต่อการวางระบบประปาที่ยังไม่แล้วเสร็จ โดยในปัจจุบันยังมีหลักฐานอันเกี่ยวข้องกับการนำน้ำมาใช้ในพระที่นั่งอย่างชัดเจนคือ รางน้ำ ท่อระบายน้ำ และน้ำพุ ยังคงปรากฏร่องรอยให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน
- รางน้ำ และสระน้ำ (หรืออ่างน้ำ) พบร่องรอยของรางน้ำบนฐานพระที่นั่งด้านทิศเหนือ ตะวันออก และทิศใต้ ส่วนทิศตะวันตกปัจจุบันไม่พบร่องรอยของรางน้ำ นอกจากรางน้ำที่ด้านทั้ง 3 ของพระที่นั่ง พบร่องรอยของสระน้ำ หรืออ่างน้ำทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้ายื่นออกมาจากส่วนฐานของพระที่นั่ง โดยมีรางน้ำล้อมรอบทั้งสี่ด้าน บริเวณมุมทั้งสี่พบร่องรอยของการถากอิฐคล้ายกับลักษณะของหลุมเสา เห็นได้อย่างชัดเจนที่อ่างน้ำด้านทิศใต้
- ท่อระบายน้ำ พบระบบการระบายน้ำโดยการนำท่อน้ำดินเผาวางตั้งฉากกับพื้นพระที่นั่ง ส่วนปลายท่อหันออกนอกพระที่นั่งเพื่อระบายน้ำส่วนเกินออก โดยท่อระบายน้ำวางเป็นช่วง ๆ ขนานไปกับแนวรางน้ำรอบพระที่นั่ง โดยมีการวางแผนผังอย่างเป็นระบบ และค่อนข้างสมมาตรกัน
- น้ำพุ? ที่กึ่งกลางของอ่างน้ำ หรือสระน้ำ ด้านทิศตะวันออก และทิศใต้ของพระที่นั่งพบท่อโลหะถูกฝังไว้ในลักษณะของการตั้งฉากกับพื้นพระที่นั่ง ฝังลึกลงไปในฐานพระที่นั่ง โดยมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของท่อโลหะประมาณ 2 เซนติเมตร ซึ่งสันนิษฐานได้ว่าคงเป็นการลดขนาดของท่อส่งน้ำ เพื่อให้เกิดแรงดันจนน้ำสามารถไหลขึ้นมาด้านบน แม้ไม่อาจจิตนาการได้ว่าน้ำพุในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชจะมีลักษณะอย่างไร แต่ท่อโลหะนี้ถือว่าเป็นหลักฐานอันใกล้เคียงกับองค์ประกอบของน้ำพุมากที่สุดเท่าที่ยังคงหลงเหลือหลักฐานอยู่
นอกจากระบบการจัดการน้ำยังคงหลงเหลืออาคารและสิ่งก่อสร้างบริเวณพระที่นั่งคือ เขามอ หรือภูเขาจำลอง และพระปรัศว์ ซึ่งเป็นสิ่งก่อสร้างประกอบพระที่นั่งที่มีลักษณะเฉพาะตัว
เขามอ หรือภูเขาจำลอง ตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือของพระที่นั่ง มีส่วนเชื่อมต่อกับสระน้ำ หรืออ่างน้ำด้านทิศเหนือ ที่ฐานของเขามอมีการเจาะรูทะลุเป็นอุโมงค์ บริเวณฐานของเขามอพบท่อน้ำดินเผาฝังไว้ โดยอาจเป็นท่อสำหรับนำน้ำเข้าไปยังพระที่นั่งหรืออาจเป็นท่อเพื่อระบายน้ำออก บริเวณเขามอ หรือภูเขาจำลองนี้ สอดคล้องกับบันทึกของ นิโกลาส์ แชร์แวส ที่ได้บรรยายไว้ว่า “...สระน้ำที่อยู่ทางขวามือ (หากหันหน้าเข้าหาด้านหน้าของพระที่นั่ง เขามอ จะอยู่ทางด้านขวามือ) มีลักษณะคล้ายถ้ำเล็ก ๆ มีพรรณไม้เล็ก ๆ ขึ้นเขียวชอุ่มอยู่เสมอ...”
พระปรัศว์ เป็นอาคารขนาดเล็กขนาบข้างพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ ภายในพบลักษณะของการทำอ่างน้ำขนาดประมาณ 1 x 1.5 เมตร โดยมีรางน้ำจ่ายน้ำเข้ามาในอ่างโดยเชื่อมต่อมาจากรางน้ำที่ล้อมพระที่นั่งด้านทิศตะวันออก ทิศเหนือ และทิศใต้ ลักษณะสำคัญของอ่างน้ำภายในพระปรัศว์ทั้งด้านทิศเหนือ และทิศใต้นี้ คือการนำหินอ่อนมากรุรอบอ่างน้ำ
.
ดังที่ได้กล่าวไป เกี่ยวกับหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับระบบจัดการน้ำที่ถูกนำมาเป็นส่วนตกแต่งสถาปัตยกรรมที่พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ โดยสามารถสันนิษฐานได้อย่างคร่าว ๆ ว่า พระที่นั่งองค์นี้มีการนำน้ำมาจากส่วนใดส่วนหนึ่งของพระราชวัง โดยอาจเป็นการเดินท่อประปามาจากอ่างเก็บน้ำบริเวณหน้าพระราชวัง การจ่ายน้ำหล่อพระที่นั่งใช้ระบบรางน้ำ หรือลำธารประดิษฐ์เป็นแนวบังคับน้ำให้ไหลไปยังส่วนต่าง ๆ และระบบการระบายน้ำส่วนเกินออกจากพระที่นั่งด้วยท่อประปาดินเผาวางตั้งฉากกับฐานพระที่นั่งแล้วปล่อยน้ำออกด้านนอกพระที่นั่ง
.
การตกแต่งพระที่นั่งด้วยการนำน้ำมาเป็นส่วนหนึ่งของพระที่นั่งโดยเฉพาะการวางรางน้ำ หรือธารน้ำประดิษฐ์มีผู้สันนิษฐานว่าเป็นการรับเอาวิทยาการมาจากสถาปัตยกรรมแบบอินโด-เปอร์เซีย โดยสามารถเปรียบเทียบการจัดวางแผนผังและระบบน้ำในพระราชวังที่อิหร่านและอินเดีย เช่น พระตำหนักฮัทซ์เบชัท (Hasht Behesht : พ.ศ. 2212-2213) ในอิหร่าน และ พระตำหนักในพระราชอุทยานชาลิมาร์ (Shalimar Garden : พ.ศ. 2112-2170) นอกจากนี้การทำอ่างน้ำที่กรุผนังด้วยหินอ่อนหรือกระเบื้องเคลือบก็พบได้ทั่วไปในระบบจัดการน้ำของสถาปัตยกรรมอินโด-เปอร์เซีย (ท่านที่สนใจ สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ตามลิงก์: https://so04.tci-thaijo.org/inde.../NAJUA/article/view/16707 )
ในตอนต่อไปจะพาทุกท่านเข้าไปสำรวจด้านหลังของแนวกำแพง ซึ่งถูกทิ้งให้รกร้างมาเป็นเวลานาน การบูรณะครั้งใหญ่ในปี 2563 จะเปิดเผยหลักฐานอะไรบ้าง ติดตามได้ใน สุทธาสวรรย์พรรณเพริศแพร้ว ตอนที่ 4 ค่ะ
………………………………………………
อ้างอิง
คำให้การขุนหลวงหาวัด ฉบับหลวง. เข้าถึงได้จาก : https://vajirayana.org/คำให้การขุนหลวงหาวัด-ฉบับหลวง
จุฬิศพงศ์ จุฬารันต์. ความสัมพันธ์ระหว่างสถาปัตยกรรมอินโด-เปอร์เซีย กับรูปแบบสถาปัตยกรรม ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่พระนารายณ์ราชนิเวศน์เมืองลพบุรี. เข้าถึงได้จาก : https://so04.tci-thaijo.org/inde.../NAJUA/article/view/16707
นิโกลาส์ แชร์แวส. ประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยาม : ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช. สันต์ ท. โกมลบุตร แปล. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ก้าวหน้า, 2506.
พิทยะ ศรีวัฒนสาร. การขุดแต่งพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ ต.ท่าหิน อ.เมือง จ.ลพบุรี. เข้าถึงได้จาก : http://bidyarcharn.blogspot.com/2011/03/blog-post.html
ห้างหุ้นส่วนจำกัดเอกพรไพศาล. รายงานการบูรณะพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ และขุดแต่งบริเวณด้านหลังพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ ปีงบประมาณ 2549. เอกสารอัดสำเนา.
………………………………………………
เรียบเรียงโดย นางสาววสุนธรา ยืนยง นักวิชาการวัฒนธรรม
.
สุทธาสวรรย์พรรณเพริศแพร้ว ตอนที่ 1 : https://www.facebook.com/1535769516743606/posts/3268604856793388/
สุทธาสวรรย์พรรณเพริศแพร้ว ตอนที่ 2 : https://shorturl.at/pwAEH

(จำนวนผู้เข้าชม 965 ครั้ง)