จารึกเสาธรรมจักร เมืองโบราณซับจำปา วัสดุ : ศิลา
แนะนำโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ
จารึกเสาธรรมจักร เมืองโบราณซับจำปา
วัสดุ : ศิลา
อายุ/สมัย : ทวารวดี (อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๓)
ขนาด : สูง ๒๐๒ เซนติเมตร, เส้นผ่านศูนย์กลาง ๓๐ เซนติเมตร
สถานที่พบ : เมืองโบราณซับจำปา อำเภอท่าหลวง จังหวัดลพบุรี
ปัจจุบัน : จัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์
_ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _
ธรรมจักร สัญลักษณ์แสดงพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าในพุทธศาสนา ตั้งแต่สมัยไม่มีการสร้างพุทธปฏิมา ในประเทศไทยปรากฏการสร้างครั้งแรกในวัฒนธรรมทวารวดี ได้รับอิทธิพลจากศิลปะคุปตะ จากหลักฐานที่พบคาดว่ามีลักษณะเป็นประติมากรรมลอยตัวสลักจากหินที่ประกอบไปด้วย ๒ ส่วนหลัก คือ ส่วนยอดที่ทำเป็นรูปวงล้อเกวียนมีฐานผังสี่เหลี่ยมรองรับวงล้อ และส่วนเป็นเสารองรับในผังเหลี่ยม นิยมพบร่วมกับประติมากรรมรูปกวางหมอบ สื่อถึงการแสดงปฐมเทศนา ‘ธัมมจักรกัปปวัตตนสูตร’ แก่ปัญจวัคคีย์ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน
จังหวัดลพบุรีพบหลักฐานชิ้นส่วนธรรมจักรที่มีจารึกอักษรปัลลวะหลายชิ้น เช่น จารึกบนซี่ล้อธรรมจักร จารึกบนวงล้อธรรมจักร และจารึกบนชิ้นส่วนเสาธรรมจักร เป็นต้น ปัจจุบันทั้งหมดจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ โดยชิ้นที่มีความสำคัญและโดดเด่นที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ภูมิใจเสนอ คือ เสาธรรมจักรแปดเหลี่ยมที่มีจารึก อักษรปัลลวะ ภาษาบาลี เนื้อความกล่าวถึงหลักธรรม เช่น อริยสัจ ปฏิจจสมุปบาท ปฐมพุทธอุทาน และพระพุทธอุทาน
*** สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถเข้าชมได้ ทุกวันพุธถึงวันอาทิตย์ เวลา ๙.๐๐-๑๖.๐๐ น. ***
อ้างอิง
ศักดิ์ชัย สายสิงห์. พระพุทธรูปในประเทศไทยไทย รูปแบบ พัฒนาการ และความเชื่อของคนไทย.
กรุงเทพฯ : ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี, ๒๕๕๖.
. ศิลปะทวารดี วัฒนธรรมทางศาสนายุคแรกเริ่มในดินแดนไทย. พิมพ์ครั้งที่ ๒ นนทบุรี :
เมืองโบราณ, ๒๕๖๒.
(จำนวนผู้เข้าชม 1406 ครั้ง)