พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ แห่งที่ ๓ ของประเทศไทย ตั้งเมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๗ โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในพระนารายณ์ราชนิเวศน์ จังหวัดลพบุรี
พระนารายณ์ราชนิเวศน์ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระมหากษัตริย์องค์ที่ ๒๗ แห่งกรุงศรีอยุธยา (ครองราชย์ พ.ศ.๒๑๙๙ – ๒๒๓๑) ทรงโปรดฯ ให้สร้างพระราชวังขึ้น ณ เมืองลพบุรี เมื่อ พ.ศ. ๒๒๐๙ โดยช่างชาวฝรั่งเศสและอิตาลีทำการออกแบบและก่อสร้างบนพื้นที่ ๔๑ ไร่ สำหรับเป็นที่ประทับพักพระอิริยาบถ ล่าสัตว์ ออกว่าราชการ และต้อนรับแขกเมือง พระองค์ทรงโปรดฯ ให้สร้างพระที่นั่งจันทรพิศาลสำหรับออกว่าราชการ ประชุมขุนนางและข้าราชสำนัก พระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญญมหาปราสาท สำหรับราชทูตแขกเมือง และพระที่นั่งสุทธาสวรรย์สำหรับประทับส่วนพระองค์ โปรดประทับ ณ เมืองลพบุรีปีละ ๘ – ๙ เดือน ลพบุรีจึงมีฐานะเป็นราชธานีที่ ๒ รองจากกรุงศรีอยุธยา ต่อมาเมื่อพระองค์สวรรคตในปี พ.ศ. ๒๒๓๑ เมืองลพบุรีจึงถูกลดฐานะมา จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะพระราชวังของสมเด็จพระนารายณ์ และสร้างหมู่พระที่นั่งขึ้นใหม่ คือ พระที่นั่งพิมานมงกุฎและหมู่ตึกพระประเทียบ พระราชทานนามพระราชวังแห่งนี้ว่า พระนารายณ์ราชนิเวศน์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ได้พระราชทานหมู่พระที่นั่งพิมานมุงกุฎ ให้เป็นศาลากลางจังหวัด ต่อมาสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงจัดตั้งขึ้นเป็นพิพิธภัณฑ์ในปี พ.ศ. ๒๔๖๗
ปัจจุบันนี้ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ แบ่งอาคารจัดแสดงศิลปะโบราณวัตถุเป็น 3 อาคาร คือ
1. พระที่นั่งจันทรพิศาลสร้างขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เดิมใช้เป็นท้องพระโรงสำหรับ
ประชุมเสนาบดี หลังจากถูกทิ้งร้างไป พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) แห่งกรุงรัตนโกสินทร์โปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์พระที่นั่งจันทรพิศาลขึ้นเมื่อครั้งที่โปรดเกล้าฯให้สร้างหมู่ตึกเพื่อใช้แปรพระราชฐานในพระราชวังแห่งนี้ ปัจจุบันในจัดแสดงนิทรรศการถาวร แสดงภาพประวัติศาสตร์และโบราณวัตถุที่มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องราวในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
2. พระที่นั่งพิมานมุงกุฎเป็นตึก ๓ ชั้น สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
(รัชกาลที่ ๔) โดยโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งนี้และหมู่ตึกต่างๆ เพื่อใช้ในการแปรพระราชฐาน ปัจจุบันใช้เป็นอาคารจัดแสดงนิทรรศการถาวรเกี่ยวกับพัฒนาการเมืองลพบุรี ตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์ถึงสมัยปัจจุบัน ดังนี้
ชั้นที่ ๑จัดแสดงโบราณวัตถุและศิลปวัตถุที่บอกเล่าเรื่องราวเมืองลพบุรีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ (ราว 3,500 ปี ที่แล้ว)ต่อเนื่องมาจนถึงวัฒนธรรมทวารวดี ซึ่งเชื่อว่าเป็นต้นประวัติศาสตร์ไทย และการเริ่มติดต่อ-สัมพันธ์กับดินแดนโพ้นทะเล เป็นต้น
ชั้นที่ ๒จัดแสดงนิทรรศการลำดับพัฒนาการเมืองลพบุรีเป็นเรื่องราวต่อเนื่องจากชั้นที่ ๑ ซึ่งต่อจากช่วงวัฒนธรรมทวารวดี เข้าสู่ช่วงความเจริญของวัฒนธรรม-อิทธิพลศิลปะเขมรในประเทศไทย อายุราวพุทธศตวรรษที่ 16-18 จัดแสดงศิลปวัตถุและโบราณวัตถุที่สำคัญ เช่น ทับหลัง พระพุทธรูปนาคปรก และเทวรูปต่างๆ ต่อเนื่องมาจนถึงสมัยอยุธยา จัดแสดงงานศิลปกรรมและงานช่างในสมัยอยุธยา เรื่อยมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์
ชั้น ๓เดิมเป็นห้องบรรทมพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) จัดแสดงเหมือนครั้งที่ยังประทับอยู่ มีพระแท่นบรรทม ฉลองพระองค์ พระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ พระสาทิสลักษณ์ แท่นบรรทม เหรียญเงินต่างๆ เครื่องแก้ว เครื่องประกอบโต๊ะพระกระยาหารที่มีตราประจำพระองค์ (มงกุฎ) เป็นต้น
1. หมู่ตึกพระประเทียบเป็นหมู่ตึกที่สร้างขึ้นในระยะเวลาเดียวกันกับพระที่นั่งพิมานมงกุฎ เดิมเป็นที่
ประทับและที่พักของเจ้านายฝ่ายในและข้าราชบริพารฝ่ายใน ปัจจุบันใช้เป็นอาคารจัดแสดงนิทรรศการถาวรและใช้สอยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับงานนิพิพิธภัณฑ์ ปัจจุบันตึกพระประเทียบบริเวณหลังศาลาเชิญเครื่องเสวย เดิมใช้จัดนิทรรศการวิถีชีวิตภาคกลาง ปัจจุบันปรับปรุงให้เป็นนิทรรศการพิเศษเนื่องในวันพิพิธภัณฑ์ไทย ๑๘ กันยายน ๒๕๕๕ จัดแสดงวิถีชีวิตพื้นบ้านลพบุรี ให้ชื่อว่า “วิถี ผู้คน ตัวตน คนลพบุรี”
(จำนวนผู้เข้าชม 528 ครั้ง)
พันธกิจ
๑. สำรวจ แสวงหาและรวบรวมทรัพย์สินทางวัฒนธรรมของชาติที่เป็นโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุทั้งแบบประเพณี ร่วมสมัย และสมัยใหม่ รวมถึงวัตถุทางชาติพันธุ์ ทั้งที่เป็นทรัพย์แผ่นดิน และที่เป็นหลักฐานแสดงถึงเอกลักษณ์ทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ ในเขตพื้นที่รับผิดชอบมาเก็บรักษา ควบคุม ดูแลรักษา สมบัติทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ เพื่ออนุรักษ์ไว้เป็นมรดกของชาติสืบไป
๒. ศึกษาค้นคว้าวิเคราะห์ และวิจัยเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์และสิ่งแวดล้อมจากหลักฐานที่เป็นโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และวัตถุทางชาติพันธุ์ ผนวกกับการสืบค้นจากเอกสารและตำนานหรือแหล่ง ข้อมูลอื่นๆ และสำหรับเป็นเอกสารอ้างอิงระดับชาติและนานาชาติต่อไป
๓. ประสาน สนับสนุนในการสงวนรักษาทรัพย์สินทางวัฒนธรรมของชาติ ตามหลักการอนุรักษ์โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และวัตถุทางชาติพันธุ์ ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์กับสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
๔. เผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ งานพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และความรู้ที่ได้จากการศึกษา ค้นคว้า วิจัย ต่อสาธารณชน ด้วยสื่อเทคโนโลยีและนวัตกรรมรูปแบบต่างๆ
๕. ตรวจพิสูจน์ กำหนดอายุสมัยโบราณวัตถุศิลปวัตถุและวัตถุทางชาติพันธุ์ที่อยู่ในเขตพื้นที่รับผิดชอบ
(จำนวนผู้เข้าชม 425 ครั้ง)