ว่าด้วยชื่อเมืองศรีเทพ : ข้อสังเกตเพิ่มเติม
ว่าด้วยชื่อเมืองศรีเทพ : ข้อสังเกตเพิ่มเติม
“…สืบถามต่อไปถึงชื่อเมืองอภัยสาลี แกว่าเป็นแต่พระธุดงค์บอกชื่อให้ หม่อมฉันจึงยุติว่าเมืองสีเทพ หรือศรีเทพหรือสีห์เทพ คงเป็นชื่อเมืองโบราณนั้น”
นับตั้งแต่ปีพ.ศ.2447 เมืองโบราณร้างขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำป่าสักก็ถูกรู้จักในนาม “เมืองศรีเทพ” จากพระวินิจฉัยของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อครั้งเสด็จไปตรวจราชการที่เพชรบูรณ์ ในนิทานโบราณคดี เรื่องความไข้เมืองเพชรบูรณ์ระบุว่า. “…ทรงสืบหาเมืองโบราณแห่งหนึ่งที่มีชื่อว่า “ศรีเทพ” เนื่องจากพระองค์เคยพบชื่อเมืองศรีเทพจากทำในทำเนียบเก่าบอกรายชื่อหัวเมืองและสมุดดำต้นร่างกะทางให้คนเชิญตราไปบอกข่าวสิ้นรัชกาลที่ 2” เมื่อพบกับพระยาประเสริฐสงคราม อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดวิเชียรบุรี ได้ความว่า เมืองวิเชียรบุรีแต่เดิมมีชื่อเป็น 2 อย่าง คือเมืองท่าโรง และเมืองศรีเทพ โดยเรียกตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดว่า “พระศรีถมอรัตน์” จนกระทั่งถึงสมัยรัชกาลที่ 3 โปรดให้ยกเมืองศรีเทพขึ้นเป็นเมืองตรี เปลี่ยนนามเมืองเป็นวิเชียรบุรี ส่วนชื่อเมืองอภัยสาลีเป็นชื่อที่พระธุดงค์เรียกจะเอาเป็นไม่ได้
แล้วเหตุใดจึงมีพระวินิจฉัยว่า เมืองโบราณขนาดใหญ่ใกล้เมืองวิเชียรบุรีจึงเป็นเมืองศรีเทพ ?
ในเรื่องความไข้เมืองเพชรบูรณ์ได้ระบุข้อความที่น่าสนใจว่า “...มาถึงบ้านนาตะกุด อันเป็นท่าที่จะขึ้นเดินบกไปยังเมืองโบราณในวันนั้น ให้เรียกพวกชาวบ้านศรีเทพอันอยู่ใกล้เมืองโบราณมาถามถึงเบาะแส...” และ “...เมืองโบราณนั้นพวกพราหมณ์จะขนานชื่อว่ากระไรก็ตาม เป็นมูลของชื่อเก่าเมืองวิเชียรที่เรียกว่า เมืองศรีเทพ เพราะยังเรียกเป็นชื่อตำบลบ้านชานเมืองมาจนบัดนี้…”
จากข้อความข้างต้นชวนให้คิดสงสัยว่า “ศรีเทพ” นั้นเป็นชื่อของชุมชนที่อยู่ใกล้เมืองโบราณ (แต่ยังมิได้เรียกเมืองโบราณดังกล่าวว่าเมืองศรีเทพ) จึงเป็นเหตุให้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพสันนิษฐานว่าเป็นมูลของชื่อเก่าเมืองวิเชียรบุรี
ต่อมาในปีพ.ศ.2478 กรมศิลปากรได้ทำการประกาศขึ้นทะเบียนเมืองศรีเทพหรือไพศาลีเป็นโบราณสถาน และในปัจจุบันยังไม่พบหลักฐานชื่อเดิมของเมือง เมืองโบราณแห่งนี้จึงยังคงชื่อเมืองศรีเทพไปก่อน
ถึงกระนั้น จากเรื่องราวการเสด็จเมืองวิเชียรบุรีของสมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทำให้มองเห็น ‘ร่องรอย’ ความสัมพันธ์ของเมืองวิเชียรบุรีและเมืองโบราณศรีเทพ เมื่อชื่อเดิมของตำแหน่งเจ้าเมืองวิเชียรบุรีเรียก “พระศรีถมอรัตน์” อันเป็นชื่อของภูเขาศักดิ์สิทธิ์ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกและเป็นส่วนหนึ่งของเมืองโบราณศรีเทพ ซึ่งจากการค้นคว้าเพิ่มเติม พบชื่อ พระศรีสมอรัตนราชภักดีศรีบวรพัช เมืองท่าโรง ในพระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน นาทหารหัวเมือง ตรงกับที่พระยาประเสริฐสงครามให้ข้อมูลไว้ว่าเมืองท่าโรงมีพระศรีถมอรัตน์เป็นเจ้าเมือง ทว่าเมื่อค้นคว้าชื่อเมืองศรีเทพ กลับพบว่าในเอกสารบางฉบับกล่าวถึงชื่อเมืองศรีเทพแยกออกจากเมืองท่าโรง อาทิ คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม กล่าวถึงเจ้าคณะซ้ายเมืองเหนือ ความว่า “… เมืองไชยบาดาล ๑ เมืองสระบุรี ๑ เมืองท่าโรง ๑ เมืองนครราชสีมา ๑ เมืองนางรอง ๑ เมืองพิมาย ๑ เมืองศรีเทพ ๑…” และจดหมายเหตุรัชกาลที่ 3 ความว่า “...แตบัวชุมไปศรีเทพวัน แต่สิเทพไปถาโรงครึ่งวัน แตทาโรงไปกองทูนวัน...”
นักวิชาการบางท่านได้ตั้งข้อสังเกตถึงชื่อตำแหน่งขุนนางว่า ศรีเทพ ที่ปรากฏอยู่ในเอกสารโบราณตั้งแต่สมัยอยุธยา-รัตนโกสินทร์ตอนต้น เช่น ในพระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน นาทหารหัวเมือง ตำแหน่งหมอศรีเทพ กรมหมอช้าง และขุนสีเทพ สังกัดกรมพระคลังวิเศศ ,พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ตำแหน่งพันบุตรศรีเทพ พนักงานเฝ้าหอพระ และในพงศาวดาร ฉบับไมเคิล วิกเคอรี กล่าวถึงทหารผู้สมคบคิดกับพระยาแก้วพระยาไทยก่อกบฏลอบปรงพระชนม์สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) ความว่า “...นายง้วศรีนายศรีหวิไชย นายศรีเทพศุก นายเจดห้วอิกห้วพันหัวปากนาย” คำว่านายศรีเทพศุก ก็อาจเป็นคำเรียกชื่อตำแหน่งทหารเช่นเดียวกัน (ผู้เรียบเรียง)
ถึงแม้คำว่า “ศรีเทพ” จะปรากฏอยู่ในเอกสารโบราณหลายฉบับ จนขณะนี้ก็ยังไม่มีหลักฐานที่จะเชื่อมโยงถึงเมืองโบราณศรีเทพ อันเป็นเมืองในวัฒนธรรมทวารวดีแต่อย่างใด เพราะจากหลักฐานทางโบราณคดีบอกว่า เมืองศรีเทพค่อย ๆ ถูกลดความสำคัญลงและถูกทิ้งร้างไปในที่สุดในพุทธศตวรรษที่ 18 ก่อนอาณาจักรอยุธยาถือกำเนิดขึ้นราว 200 ปี
อย่างไรก็ตาม มีเพียงร่องรอยเดียวที่แสดงความสัมพันธ์อันเป็นปริศนาระหว่างเมืองโบราณศรีเทพ และเมืองวิเชียรบุรี นั่นก็คือ ชื่อเขาถมอรัตน์ ภูเขาศักดิ์สิทธิ์อันเป็นส่วนหนึ่งของเมืองโบราณศรีเทพ (สมัยทวารวดี) และเป็นมงคลนามเรียกเจ้าเมือง จนนำไปสู่การตั้งชื่อเมืองวิเชียรบุรี (สมัยอยุธยา) เรียกสืบมาจนถึงปัจจุบัน
เรียบเรียงโดย นางสาวธนัชญา เทียนดี
นักโบราณคดีปฏิบัติการ
อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ
(จำนวนผู้เข้าชม 8735 ครั้ง)