...

ประติมากรรมปูนปั้นช้างทรงเครื่อง
อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย ขอเผยแพร่ องค์ความรู้ประจำเดือนมกราคม ๒๕๖๗ เรื่อง "ประติมากรรมปูนปั้นช้างทรงเครื่อง วัดช้างล้อมศรีสัชนาลัย"
        ประติมากรรมปูนปั้นช้างเป็นคติการใช้ช้างประดับศาสนสถาน ซึ่งน่าจะมีความสำคัญเกี่ยวข้องกับความเชื่อทางศาสนา เพราะช้างเป็นสัตว์ที่มีความเกี่ยวพันกับคติความเชื่อทางศาสนามาตั้งแต่สมัยโบราณ และยังเป็นสัตว์ที่มีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับพุทธประวัติเป็นอันมาก เจดีย์ฐานช้างล้อมนั้นมีต้นแบบจากเจดีย์หรือสถูปในศิลปะลังกาที่เข้ามาพร้อมกับพุทธศาสนาลังกาวงศ์ ซึ่งเจริญรุ่งเรืองอยู่ในแคว้นสุโขทัยพร้อมทั้งศิลปะลังกาที่มีอิทธิพลต่อรูปแบบทางศิลปะสถาปัตยกรรมของสุโขทัยอย่างเห็นได้ชัด
        ช้างทรงเครื่อง หรือช้างที่ประดับลวดลายปูนปั้น เป็นประติมากรรมปูนปั้นรูปช้างที่ยืน ๔ ขาเต็มตัวขนาดใกล้เคียงกับช้างจริง ที่ประดับอยู่ที่มุมทั้งสี่เชือกบริเวณรอบฐานของเจดีย์วัดช้างล้อม ศรีสัชนาลัย โดยมีลักษณะพิเศษ คือ มีขนาดใหญ่กว่าช้างตัวอื่น ๆ ซึ่งมีการตกแต่งลวดลายปูนปั้นประดับที่ต้นคอ ต้นขาหน้า ต้นขาหลัง รัดอก และรัดที่งาช้าง การนำเครื่องประดับมาใช้กับช้างปูนปั้นน่าจะคล้ายคลึงกับช้างที่ปราสาทนครวัดของเขมร
        วัดช้างล้อมมีช้างประจำมุมเจดีย์ทั้งสี่ทิศ โดยมีลักษณะยืนเฉียงหันหน้าไปตามทิศทั้ง ๔  มีลักษณะพิเศษกว่าช้างปูนปั้นธรรมดาที่ไม่มีลวดลายปูนปั้น ซึ่งเป็นช้างที่ทำด้วยศิลาแลง ลักษณะการก่อลำตัวโค้งเป็นรูปครึ่งวงกลม โดยใช้ศิลาแลงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดเล็กก่อเอาด้านหนาชนกัน ซึ่งคล้ายคลึงกับการก่อ เตาสังคโลก และอาจจะได้รับอิทธิพลจากพุกามแล้วพอกลำตัวช้างด้วยปูนปั้นทับซ้อนกันหลายชั้น เช่น ช้างประจำทิศใต้ บริเวณก้นช้างมีการวาดหางแล้วพอกปูนปิดของเดิมแล้วขีดหางทับอีกชั้นหนึ่ง อาจเป็นการสร้างทับซ้อนหรือเพียงการซ่อมแซม อีกทั้งอาจเป็นเทคนิคการทำอย่างใดอย่างหนึ่งของช่างในสมัยนั้น
        ดังนั้น แถวช้างปูนปั้นที่วัดช้างล้อมน่าจะได้รับอิทธิพลทางด้านรูปแบบการทำช้างปูนปั้นรอบฐานเจดีย์มาจากมหาสถูปในลังกา ส่วนลักษณะแบบช้างยืนเต็มตัวนี้อาจจะได้รับอิทธิพลทางด้านรูปแบบจากนครวัด หรือสถูปในประเทศอินเดีย โดยช่างท้องถิ่นได้คิดดัดแปลงเอาเทคนิคการก่อเตาทุเรียง เมืองศรีสัชนาลัยมาใช้ก่อลำตัวช้างปูนปั้นอีกด้วย ลักษณะการปั้นปูนแต่งเป็นตัวช้างนั้นทำคล้ายคลึงกันทั้งสามเมือง คือ เมืองสุโขทัย เมืองศรีสัชนาลัย และเมืองกำแพงเพชร หรือแม้แต่ในแถบล้านนา
เอกสารอ้างอิง
กรมศิลปากร. “การศึกษาวิจัยเรื่อง วัดช้างล้อม” ในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย. ม.ป.ท. ๒๕๓๐.
สุรพล ดำริห์กุล. เจดีย์ช้างล้อมกับประวัติศาสตร์บ้านเมืองและพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๓๕.
ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปกรรมโบราณในอาณาจักรสุโขทัย. นนทบุรี : เรือนแก้วการพิมพ์, ๒๕๖๑.

(จำนวนผู้เข้าชม 415 ครั้ง)


Messenger