...

พิพิธ(สาระ)ภัณฑ์ ตอน ครุฑที่เมืองคูบัว

         พิพิธ(สาระ)ภัณฑ์ ตอน ครุฑที่เมืองคูบัว

         ครุฑ (garuda) หมายถึง อมนุษย์หรือพญานกในเทพนิยาย มีลักษณะผสมระหว่างมนุษย์กับนก เป็นพาหนะของพระวิษณุ และใช้เป็นตราแผ่นดิน และเครื่องหมายทางราชการ

         ตามคัมภีร์ฤคเวท กล่าวถึงกำเนิดครุฑว่า ครุฑเป็นโอรสองค์ที่สองของพระกัศยปะกับนางวินตา โดยนางวินตาขอพรให้โอรสสองคนที่มีความเก่งกล้าและมีอำนาจมากกว่านาคทั้งหลายซึ่งเป็นโอรสของนางกัทรุชายาอีกนางหนึ่ง พระกัศยปะจึงประทานพรเป็นไข่สองฟอง นางวินตาใจร้อนฟักไข่ใบแรกก่อนเวลา โอรสองค์แรกจึงมีร่างกายเพียงครึ่งองค์ส่วนบน นามว่า “อรุณ” อรุณโกรธมารดามากจึงสาปให้เป็นทาสรับใช้นางกัทรุจนกว่าไข่อีกฟองจะฟักออกมาช่วยให้พ้นความเป็นทาส เมื่อถึงเวลาไข่อีกฟองก็ฟักมาเป็นโอรสที่มีส่วนศีรษะ จะงอยปาก ปีกและเล็บเหมือนนกอินทรีย์ และมีร่างกายเหมือนมนุษย์ หน้าขาว ปีกสีแดง ลำตัวทอง 

นามว่า “ครุฑ“ 

         ต่อมานางวินตาแพ้พนันตกเป็นทาสของนางกัทรุ ครุฑจึงเดินทางไปขโมยน้ำอมฤต เพื่อไถ่ตัวมารดาจากความเป็นทาส และต้องรบกับพระอินทร์ พระวิษณุประทับใจในความแข็งแรงและกตัญญูของครุฑ จึงประทานพรแก่ครุฑ ครุฑขอพรว่า ขอให้อยู่สูงกว่าพระองค์ ขอเป็นผู้ไม่มีเวลาตาย ไม่มีเวลาเจ็บแม้ไม่ได้กินน้ำอมฤต และกินนาคได้พระวิษณุประธานพรตามที่ครุฑขอด้วยการให้ครุฑเป็นพาหนะและให้อยู่ที่เสาธงของพระองค์ จึงได้นามว่า “วิษณุวาหนะ” แปลว่า พาหนะของพระวิษณุ

         ในพุทธศาสนาครุฑมีลักษณะเป็นอมนุษย์ มีจำนวนมากและหลายประเภท      ตามคติไตรภูมิพบครุฑอาศัยอยู่บนต้นงิ้วที่เชิงเขาพระสุเมรุชั้น ๒ จึงพบการประดับครุฑแบกที่ฐานของเจดีย์ซึ่งเป็นการจำลองเขาพระสุเมรุ 

         พบหลักฐานของครุฑในประเทศไทยตั้งแต่สมัยทวารวดี พุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๖ ในรูปแบบตราประทับดินเผาและประติมากรรมประดับโบราณสถาน เช่น ตราประทับดินเผารูปครุฑ พบที่เมืองจันเสน จังหวัดนครสวรรค์ ประติมากรรมรูปครุฑดินเผา พบที่เมืองโบราณคูบัว จังหวัดราชบุรี ประติมากรรมรูปครุฑที่พบในเมืองโบราณคูบัวมีลักษณะใบหน้าเป็นมนุษย์มากกว่านก ไม่มีจะงอยปากแหลม โดยรวมมีลักษณะใบหน้ากลม ผมหยักศกเกล้าเป็นมวย มีเครื่องประดับรัดที่ยอดมวยทรงกรวยแหลม คิ้วต่อเป็นรูปปีกกา ตาโปน จมูกโด่ง ปากหนาและยิ้มเล็กน้อย ลำตัวอ้วนพุงพลุ้ย สวมเครื่องประดับ ได้แก่ ต่างหูรูปวงกลมแบน สร้อยคอลูกประคำ และกำไลต้นแขน มีปีกและกรงเล็บเหมือนนก นอกจากนี้ยังพบครุฑจำหลักจากหิน ที่วัดมหาธาตุวรวิหาร ราชบุรี มีลักษณะใบหน้าและร่างกายเป็นมนุษย์ มือทั้งสองข้างถือดอกบัวข้างละ ๑ ดอก 

         ครุฑในศิลปะอินเดีย มีลักษณะเป็นมนุษย์ มีปีก ไม่มีจะงอยปาก หรือมีลักษณะเป็นครึ่งคนครึ่งนก มีนาคพันที่คอเป็นสัญลักษณ์ 

สมัยพระเวท พระวิษณุเคยเป็นผู้ช่วยพระสูรยะ (พระอาทิตย์) ในการโคจรเพื่อส่องแสงให้จักรวาล จึงมีความสัมพันธ์กับพระอาทิตย์ พระองค์ทรงครุฑซึ่งเป็นนกแห่งแสงอาทิตย์ ครุฑจึงกลายเป็นพาหนะของพระวิษณุ

ในศิลปะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครุฑมีลักษณะเป็นนกมากกว่าศิลปะอินเดีย โดยมีจะงอยปากแหลม มีปีก และกรงเล็บ แต่ครุฑที่พบในสมัยทวารวดี มีลักษณะศีรษะและลำตัวเป็นมนุษย์ ไม่มีจะงอยปาก มีปีกและกรงเล็บ ซึ่งมีรูปแบบใกล้เคียงกับศิลปะอินเดียต้นแบบ แต่ครุฑสมัยต่อมามีลักษณะเหมือนนกมากกว่ามนุษย์ 

 

ตัวอย่างไฟล์แนบ PDF:

(จำนวนผู้เข้าชม 77 ครั้ง)


Messenger