...

ถนนช้างม่อย
ถนนช้างม่อย
การขยายตัวของย่านการค้าจากถนนท่าแพเชื่อมโยงสู่ถนนช้างม่อย
         ชื่อถนนที่คุ้นหูสำหรับนักท่องเที่ยว อันมีพัฒนาการจากชุมชนเล็ก ๆ เงียบสงบ นอกคูเมือง เริ่มต้นจากประตูช้างม่อย ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มีถนนช้างม่อยเก่าเส้นทางดั้งเดิมผ่านวัดหนองหล่มผ่านหมู่บ้านเชียงเรือก ที่ค่อย ๆ พัฒนาสู่ชุมชนการค้า และถนนศูนย์รวมกิจการของคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน
         เมื่อครั้ง พระราชชายา เจ้าดารารัศมี ได้ย้ายพระอัฐิของเจ้าหลวงเชียงใหม่และเชื้อพระวงศ์จากข่วงเมรุไปวัดสวนดอก และมีการใช้ทุนทรัพย์จากเจ้าอินทวโรรส นำมาสร้างตลาดขึ้นในบริเวณข่วงเมรุอันมีชื่อว่า กาดวโรรส หรือ กาดหลวง ต่อมามีแนวคิดที่จะพัฒนาให้กาดหลวงเดิมเจริญเหมือนย่านท่าแพ โดยตัดถนนช้างม่อยใหม่ ส่งผลต่อการขยายตัวของชุมชนย่านเศรษฐกิจ อาคารร้านรวงเกิดขึ้นอย่างหนาแน่นตามเส้นทางสัญจรมุ่งตรงสู่ศูนย์กลางตลาดการค้า
         ย่านช้างม่อยเต็มไปด้วยอาคารที่พัก ร้านค้า อาคารแบบยุโรป อาคารเรือนไม้และเรือนแถว โรงแรม แหล่งบันเทิง จนได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางของกิจกรรม การค้า แหล่งพบปะของวัยรุ่นในยุคนั้น บอกเล่าผ่านภาพถ่ายในอดีต เช่น โรงภาพยนตร์ศรีนครพิงค์ ตั้งอยู่บนถนนช้างม่อยต่อกับถนนราชวงศ์ และภาพขบวนแห่นางงามในงานฤดูหนาว จังหวัดเชียงใหม่ นำขบวนโดยรถเวสป้านับร้อยคัน และผู้คนที่เนืองแน่นตลอดสองข้างทาง
         ช้างม่อยในวันนี้ยังคงถ่ายทอดมนต์เสน่ห์ของเชียงใหม่ ผ่านชุมชนที่ยังคงมีชีวิต ร้านเครื่องจักสานอันกลายเป็นมุมถ่ายภาพที่ห้ามพลาด ที่พัก ร้านค้า ร้านกาแฟ ร้านของที่ระลึกงานโฮมเมด โดยคนรุ่นใหม่ซึ่งยังคงเอกลักษณ์โครงสร้างอาคารเดิมที่ยืนหยัดบอกเล่าเรื่องราวครั้งอดีตส่งต่อมาถึงปัจจุบันได้อย่างงดงาม
ผู้เรียบเรียง : นายวีระยุทธ ไตรสูงเนิน นักจดหมายเหตุชำนาญการ
ภาพ : หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ เชียงใหม่. ภาพส่วนบุคคล ชุด นายบุญเสริม สาตราภัย.
#ถนนช้างม่อย
#เอกสารจดหมายเหตุ
#หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถเชียงใหม่
#สำนักศิลปากรที่๗
#เวสป้า
เอกสารอ้างอิง
จิรันธนิน กิติกา,  “การวางผังแนวคิดเรื่องภูมิทัศน์ วัฒนธรรม ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของเครือข่ายชุมชน กรณีศึกษาพื้นที่ชุมชนช้างม่อย จังหวัดเชียงใหม่,”  วารสารหน้าจั่ว ว่าด้วยประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรมและสถาปัตยกรรมไทย ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๑ (มิถุนายน ๒๕๖๓) : ๑๕๒ - ๑๔๘.
ชูสิทธิ์ ชูชาติ. (๒๕๓๘).  กาดงัว (ตลาดวัว) : มิติหนึ่งของการสะท้อนความเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของสังคมชาวนาในภาคเหนือของประเทศไทย. [ม.ป.ท. : ม.ป.พ.]
สรัสวดี อ๋องสกุล. (๒๕๔๓). ชุมชนโบราณในแอ่งเชียงใหม่ – ลําพูน. กรุงเทพฯ : บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง.
อนุ เนินหาด, พ.ต.ท. (๒๕๔๖). สังคมเมืองเชียงใหม่ เล่ม ๕. เชียงใหม่: นพบุรีการพิมพ์.







(จำนวนผู้เข้าชม 3255 ครั้ง)


Messenger