ขวานหินขัด (Polished Stone Axes)
แบบศิลปะ/อายุสมัย สมัยก่อนประวัติศาสตร์ อายุราว ๓,๕๐๐ – ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว
วัสดุ หินทราย
ประวัติ พบที่บ้านเพี้ยสุข ตำบลราม อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์
ขวานหินขัดไม่มีบ่า สำหรับใช้งานในลักษณะสับตัด เป็นเครื่องมือที่พบมากในแหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ สมัยสังคมเกษตรกรรมระยะแรก
Style/Origin Prehistoric period, 1,500 – 500 B.C.)
Material Sandstone
Provenance Ban Peasuk, Ram sub-district, Mueang district,
Surin Province
Polished Stone Axes were used for chopping and cutting, and were mostly found in the early peasant communities of the Prehistoric period (1,500 – 500 B.C.)
ขวานหินขัดหรือ ขวานฟ้าคือ เครื่องมือเครื่องใช้ของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ผลิตขึ้นเมื่อประมาณ ๔,๕๐๐ – ๓,๕๐๐ ปีมาแล้ว มีลักษณะเป็นก้อนหินที่มีการกะเทาะขัดแต่งให้เกิดความคม
วิธีสังเกตว่าเป็นขวานหินหรือก้อนหินธรรมชาติ
๑. รูปทรง เครื่องมือหินจะมีการขัดแต่งด้านใดด้านหนึ่งให้เกิดเป็นสันคม
๒. จำนวนรอยกะเทาะ สำหรับเครื่องมือหินกะเทาะ จะแยกจากหินธรรมชาติค่อนข้างยาก เพราะร่องรอยที่เกิดจากการกะเทาะนั้นอาจคล้ายกับการแตกโดยธรรมชาติ แต่สามารถสังเกตจากทิศทางของแรงอันเกิดจากการกะเทาะ ซึ่งจะมีแนวกะเทาะแตกไปในทิศทางเดียวกัน
๓. พื้นผิว สำหรับเครื่องมือหินขัด สังเกตได้ง่ายจากพื้นผิวที่มีลักษณะมันวาว เรียบลื่น เนื่องจากมีการขัดฝนเพื่อลบรอยขรุขระ
ขั้นตอนการทำขวานหินขัด
๑. ใช้ค้อนที่ทำจากหินมากะเทาะหินให้เป็นรูปทรงตามที่ต้องการ
๒. ขัดผิวขวานหินให้มัน โดยใช้ทรายหรือผงเศษหินโรยบนหิน จากนั้นใช้หินทราย ไม้ กระดูกหรือหนังสัตว์ช่วยขัด
ความเชื่อเกี่ยวกับขวานหินขัด
ความเชื่อเรื่องขวานฟ้าถูกนำไปเชื่อมโยงกับเรื่อง เมขลากับรามสูร ซึ่งเป็นเกร็ดตอนหนึ่งจากรามเกียรติ์ มีเนื้อเรื่องดังนี้
“นางฟ้าองค์หนึ่งนามว่า เมขลา มีหน้าที่คอยพิทักษ์รักษามหาสมุทร นางมีดวงแก้ววิเศษดวงหนึ่งซึ่งได้รับการประทานมาจากพระนารายณ์ทำให้มีอิทธิฤทธิ์ เมื่อเหาะไปแห่งหนใดเมขลาก็ถือดวงแก้ววิเศษนี้ติดตัวไปด้วยเสมอ เมื่อเจ้ายักษ์รามสูรเห็นแสงแวววาวของดวงแก้ววิเศษก็นึกอยากได้รีบเหาะติดตามหมายจะชิงมาเป็นของตน เมขลาถือดวงแก้วล่อหลอกเหาะหนี ฝ่ายรามสูรก็ควงขวานเพชรไล่ติดตามอย่างไม่ลดละ พอเข้าใกล้รามสูรจึงขว้างขวานในมือใส่ แต่แสงประกายของดวงแก้วทำให้รามสูรตาฟ้าฟาง ขวานจึงพลาดเป้าแล่นแฉลบไปตามหมู่เมฆ บางครั้งก็ลงมาถึงพื้นดินเกิดเสียงสะเทือนเลื่อนลั่น”
เหตุการณ์ในเรื่องเมขลารามสูรนี้ ก็คือตำนานที่มาของปรากฏการณ์ธรรมชาติ
อันได้แก่ ฟ้าแลบ ฟ้าร้อง และฟ้าผ่านั่นเอง คนสมัยโบราณเชื่อกันว่า เมื่อฟ้าผ่า ณ จุดใด ขวานรามสูรหรืออีกนัยหนึ่งคือ ขวานที่เทวดาขว้างมาจากฟ้าก็จะตก ณ จุดนั้น จึงเรียกว่า ขวานฟ้า
ตัวอย่างการประกอบขวานหินขัดเข้ากับด้ามของชนเผ่าโวลา
๑. ใช้ขวานหินแต่งไม้เพื่อทำเป็นด้ามขวาน
๒. นำขวานหินมาทดลองสวมเข้ากับด้ามไม้ และใช้ตอกมัดขวานหินกับด้ามให้แน่น
๓. นำขวานหินประกอบเข้ากับด้ามไม้
ตัวอย่างการใช้งานขวานหินขัดของชนเผ่าโวลา (Wola) ในปาปัวนิวกินี
๑. ใช้ถากไม้ทำด้ามหอก
๒. ใช้ตัดไม้
๓. ใช้แล่เนื้อ
ขวานหินขัดในวันนี้
ถึงแม้ขวานฟ้าหรือขวานหินขัดจะเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ของคนในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ แต่คนในสมัยปัจจุบันโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่นับถือในเรื่องเหนือธรรมชาติจะมีความเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของขวานฟ้า ดังตัวอย่างต่อไปนี้
๑. นักมวยคาดเชือกในสมัยโบราณ ถือกันว่าขวานฟ้าเป็นเครื่องรางของขลัง มักจะใส่ไว้ในซองมือระหว่างพันหมัดด้วยด้ายดิบก่อนการชกมวย
๒. ใช้เป็นเครื่องมือรักษาโรค กดที่บวม และบดเป็นยา ในบ่อนไก่บางแห่งยังใช้ขวานฟ้าบด เพื่อใช้รักษาตาไก่ที่แตกเป็นแผล
๓. หากวางขวานฟ้าไว้ในยุ้งข้าว ข้าวจะไม่พร่อง หรือวางไว้ที่ลานตากข้าวเปลือก ไก่ป่าจะไม่เข้ามาจิกกิน
๔. ใช้ป้องกันคุณไสย ทำน้ำมนต์ ล้างอาถรรพ์ ใช้ไล่ผีโดยเอาขวานฟ้าซุกไว้ใต้ที่นอนคนที่ถูกผีเข้าสิง
๕. หากเก็บไว้ในบ้านสามารถป้องกันฟ้าผ่าได้
๖. นำขวานฟ้าใส่ไว้ในโอ่งน้ำจะทำให้น้ำเย็นและนำความร่มเย็นมาสู่ครอบครัว
ที่มาและภาพประกอบ
พัชรี สาริกบุตร. เทคโนโลยีสมัยโบราณ: เครื่องมือหิน งานโลหะ เครื่องปั้นดินเผา แก้ว และลูกปัดแก้ว.
กรุงเทพฯ:ภาควิชาโบราณคดี, คณะโบราณคดี, มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๒๓
ศิลปากร, กรม. นำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์. กรุงเทพฯ : บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง
จำกัด (มหาชน), ๒๕๕๐
http://intarch.ac.uk/journal/issue14
http://kids.britannica.com/elementary/art-88824/Thousands-of-years-ago-Stone-Age-humans-used-sticks-and
http://www.astroeducation.com/content/context/ramasura-mekhala-myths-of-thunder-lightning/
https://www.gotoknow.org/posts/466960
(จำนวนผู้เข้าชม 59440 ครั้ง)