ประวัติความเป็นมา
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติราชบุรี จัดตั้งเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2529 โดยกรมศิลปากรได้ขออนุมัติใช้อาคารศาลากลางจังหวัดราชบุรีหลังเดิม ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2465 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ใช้เป็นสถานที่จัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติตามโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติประจำเมืองของกรมศิลปากร
ต่อมาในปี พ.ศ. 2539 กรมศิลปากรได้ขอใช้อาคารกองบัญชาการรัฐบาลมณฑลราชบุรี ซึ่งสร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. 2416 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 เพื่อใช้เป็นจวนที่พักของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในสมัยต้นรัชกาลที่ 5 และต่อมาได้ใช้เป็นกองบัญชาการรัฐบาลมณฑลราชบุรีในคราวแรกของการตั้งมณฑลราชบุรี เพื่อปรับปรุงให้เป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติราชบุรี โดยปัจจุบันใช้เป็นอาคารสำนักงานและพื้นที่ส่วนจัดแสดงนิทรรศการพิเศษและจัดกิจกรรมต่างๆ
บทบาทหน้าที่
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติราชบุรีจัดตั้งขึ้นเพื่อต้องการให้เป็นศูนย์การศึกษา อนุรักษ์และเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจด้านศิลปวัฒนธรรมของชาติที่จะสนองความต้องการของประชาชนและชุมชนในพื้นที่ของจังหวัดราชบุรีและจังหวัดใกล้เคียง
(จำนวนผู้เข้าชม 467 ครั้ง)
วิสัยทัศน์
เป็นสถาบันเพื่อการเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมของชาติ และเป็นต้นแบบของการอนุรักษ์ สร้างสรรค์ ถ่ายทอดและเผยแพร่มรดกทางศิลปวัฒนธรรมในระดับสากล ภายใต้การบูรณาการความร่วมมือจากท้องถิ่นและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
พันธกิจ
๑. สำรวจ แสวงหาและรวบรวมทรัพย์สินทางวัฒนธรรมของชาติที่เป็นโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุทั้งแบบประเพณี ร่วมสมัยและสมัยใหม่ รวมถึงวัตถุทางชาติพันธุ์ ทั้งที่เป็นทรัพย์แผ่นดินและที่เป็นหลักฐานแสดงถึงเอกลักษณ์ทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ ในเขตพื้นที่รับผิดชอบมาเก็บรักษา ควบคุมดูแลรักษา สมบัติทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ เพื่ออนุรักษ์ไว้เป็นมรดกของชาติสืบไป
๒. ศึกษาค้นคว้าวิเคราะห์ และวิจัยเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์และสิ่งแวดล้อมจากหลักฐานที่เป็นโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และวัตถุทางชาติพันธุ์ ผนวกกับการสืบค้นจากเอกสารและตำนานหรือแหล่งข้อมูลอื่นและสำหรับเป็นเอกสารอ้างอิงระดับชาติและนานาชาติต่อไป
๓. ประสานสนับสนุนในการสงวนรักษาทรัพย์สินทางวัฒนธรรมของชาติ ตามหลักการอนุรักษ์โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและวัตถุทางชาติพันธุ์ ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์กับสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
๔. เผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ งานพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติและความรู้ที่ได้จากการศึกษา ค้นคว้าวิจัย ต่อสาธารณชน ด้วยสื่อเทคโนโลยีและนวัตกรรมรูปแบบต่างๆ
๕. ตรวจพิสูจน์ กำหนดอายุสมัยโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและวัตถุทางชาติพันธุ์ที่อยู่ในเขตพื้นที่รับผิดชอบ
๖. สำรวจเก็บข้อมูล ประสานส่วนกลางเพื่อดำเนินการขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุที่อยู่ในความครอบครองของวัดและเอกชนในเขตพื้นที่รับผิดชอบ
๗. การควบคุม สถานประกอบการค้า การนำเข้าและการส่งออกสิ่งเทียมโบราณวัตถุและศิลปวัตถุในเขตพื้นที่รับผิดชอบ
๘. วางแผนและพัฒนาพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในเขตพื้นที่รับผิดชอบให้มีประสิทธิภาพและเป็นไปตามมาตรฐานของชาติและนานาชาติ
(จำนวนผู้เข้าชม 436 ครั้ง)