องค์ความรู้ : ลวดลายประดับอาคารพม่าในล้านนาไทย
พื้นที่บริเวณภาคเหนือของไทย ประกอบด้วยวัดวาอารามที่มีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมหลากหลาย ทั้งแบบพื้นถิ่นล้านนา แบบอิทธิพลจากภาคกลาง และแบบพม่า ซึ่งในแบบหลังนี้ได้แตกแขนงออกเป็น ๓ กลุ่มใหญ่ได้แก่ กลุ่มพม่า (ม่าน) กลุ่มมอญ และกลุ่มไทใหญ่ (เงี้ยว) โดยในที่นี้ขอเรียกรวมว่าอาคารแบบพม่า ซึ่งล้วนมีคุณค่าทั้งในด้านสุนทรีภาพและประวัติศาสตร์ เนื่องจากสร้างขึ้นในช่วงที่บ้านเมืองในอาณาจักรล้านนาประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลาย เศรษฐกิจรุ่งเรืองจากการค้าไม้สัก
          พื้นที่บริเวณภาคเหนือของไทย ประกอบด้วยวัดวาอารามที่มีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมหลากหลาย ทั้งแบบพื้นถิ่นล้านนา แบบอิทธิพลจากภาคกลาง และแบบพม่า ซึ่งในแบบหลังนี้ได้แตกแขนงออกเป็น ๓ กลุ่มใหญ่ได้แก่ กลุ่มพม่า (ม่าน) กลุ่มมอญ และกลุ่มไทใหญ่ (เงี้ยว) โดยในที่นี้ขอเรียกรวมว่าอาคารแบบพม่า ซึ่งล้วนมีคุณค่าทั้งในด้านสุนทรีภาพและประวัติศาสตร์ เนื่องจากสร้างขึ้นในช่วงที่บ้านเมืองในอาณาจักรล้านนาประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลาย เศรษฐกิจรุ่งเรืองจากการค้าไม้สัก
 
          ชาวพม่านั้นได้ชื่อว่ามีความเป็นเลิศในงานจำหลักไม้และงานปั้นรักประดับกระจก งานประดับอาคารในวัฒนธรรมพม่าจึงแสดงถึงความวิจิตรบรรจงอย่างยิ่ง ตัวอย่างเช่น งานจำหลักไม้ที่แผงโก่งคิ้วของวิหาร      วัดศรีชุม จังหวัดลำปาง แสดงลวดลายพันธุ์พฤกษาและบุคคล ซึ่งจัดว่าเป็นลวดลายที่พบมากในงานประดับอาคารของพม่า ส่วนวิหารที่วัดศาสนโชติการาม (วัดป่าฝาง) วัดไชยมงคล (จองคา) และมณฑปที่วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม จังหวัดลำปาง มีงานปั้นรักประดับกระจกที่แสดงถึงฝีมือช่างอันละเอียดประณีต แสดงลวดลายพันธุ์พฤกษา ลายสัตว์ บุคคล และลวดลายแบบประดิษฐ์
 
           บริเวณเพดานในวิหารวัดหนองคำ จังหวัดเชียงใหม่ มีการประดับด้วยงานฉลุโลหะ แสดงรูปดวงดาวและสัตว์ทั้ง ๘ ทิศ ประกอบด้วยช้าง แพะ เสือ ครุฑ พญานาค และหนู จากการสอบถามพระสงฆ์ภายในวัด สันนิษฐานว่าคงเป็นการแสดงความหมายของกลุ่มดาวทางโหราศาสตร์ของชาวไทใหญ่
 
          ลวดลายประดับอาคารมิได้มีหน้าที่เพียงแค่ส่งเสริมให้อาคารมีความสวยงามเท่านั้น แต่ยังสะท้อนแนวคิดในการ “ออกแบบ” ได้เป็น ๒ ประเด็น คือ
 
แสดงลักษณะของการเป็นพระป่าหรืออรัญวาสีของภิกษุชาวพม่ามาก่อน และยังสัมพันธ์กับตำนานกาลิงคโพธิชาดก ที่กล่าวถึงเชตวันมหาวิหาร โดยสัมพันธ์กับรูปแบบสถาปัตยกรรมของอาคารทั้งหมด กล่าวคือ การมีเสาไม้เป็นจำนวนมากเสมือนป่า เครื่องบนประดับด้วยลายพันธุ์พฤกษา เป็นส่วนที่ช่วยเสริมให้ส่วนบนของอาคารเสมือนกิ่งก้านสาขาของต้นไม้ที่ปกคลุมให้ร่มเงาแก่ผู้อาศัย[๑]
แสดงความเชื่อทางโหราศาสตร์ที่สัมพันธ์กับวันเกิดและดาวเคราะห์ประจำวันเกิด
ลวดลายประดับที่ปรากฏนั้นมิได้แสดงลักษณะอย่างพม่าเพียงอย่างเดียว แต่มีอิทธิพลอังกฤษด้วย บางแห่งพบตราสัญลักษณ์ของราชวงศ์อังกฤษ (ลายอาร์ม) ตัวพุกามหรือคิวปิด ลวดลายริบบิ้นและก้านขดแบบยุโรป แสดงให้เห็นถึงการอยู่ภายใต้ร่มธงอังกฤษผ่านการแสดงออกทางศิลปกรรม
งานประดับอาคาร จึงมิได้เป็นเพียงแค่เครื่องประดับ แต่ยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยแสดงออกถึงมุมมอง ความคิด ความเชื่อ และความศรัทธาของผู้สร้างและผู้ใช้สอย การศึกษาเรื่องดังกล่าวจึงช่วยสร้างความเข้าใจ และการตระหนักถึงคุณค่าในศิลปกรรมพม่าในล้านนาไทยยิ่งขึ้น
 
 
ภาพที่ ๑ แผงโก่งคิ้วจำหลักไม้ ประดับทางเข้าวิหารวัดศรีชุม จังหวัดลำปาง แสดงลายพันธุ์พฤกษา
 
 
ภาพที่ ๒ งานปั้นรักประดับกระจก แสดงลายพันธุ์พฤกษาและพระพุทธเจ้าประดับบริเวณเสาและเพดาน มณฑปวัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม จังหวัดลำปาง
 
 
ภาพที่ ๓ ตราสัญลักษณ์ของราชวงศ์อังกฤษ (ลายอาร์ม) มณฑปวัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม จังหวัดลำปาง
 
 
 
 
 
ภาพที่ ๔ งานปั้นรักประดับกระจก แสดงลายพันธุ์พฤกษา ที่วัดศาสนโชติการาม (วัดป่าฝาง) และวัดไชยมงคล (วัดจองคา) จังหวัดลำปาง
 
 
ภาพที่ ๕ ดาวเพดานวัดหนองคำ จังหวัดเชียงใหม่
 
 
 
ข้อมูล : นางกิริยา ชยะกุล สิทธิวัง นักวิชาการช่างศิลป์ชำนาญการ กลุ่มอนุรักษ์โบราณสถาน กองโบราณคดี กรมศิลปากร
 
 
[๑]Chotima Chaturawong,“The architecture of Burmese Buddhist monasteries in upper Burma and northern Thailand : the biography of trees,” Ph.D. Dissertation, Faculty of Graduate School, Cornell University, 2003.

(จำนวนผู้เข้าชม 5018 ครั้ง)

Messenger