องค์ความรู้ : วัดศรีชุม เมืองสุโขทัย
วัดศรีชุม เมืองสุโขทัย ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองตรงมุมทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เป็นกลุ่มโบราณสถานที่มีคูน้ำล้อมรอบทั้งสี่ด้าน มีพื้นที่นี้กว้างประมาณ ๑๐๐ เมตร และยาวประมาณ ๑๕๐ เมตร
วัดศรีชุม เมืองสุโขทัย ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองตรงมุมทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เป็นกลุ่มโบราณสถานที่มีคูน้ำล้อมรอบทั้งสี่ด้าน มีพื้นที่นี้กว้างประมาณ ๑๐๐ เมตร และยาวประมาณ ๑๕๐ เมตร ประกอบไปด้วยสิ่งก่อสร้างดังนี้
          ๑. อาคารที่ประดิษฐานพระพุทธรูปประทับนั่งขนาดใหญ่เต็มพื้นที่ภายในอาคารหรือเรียกว่ามณฑป มีขนาดหน้าตักกว้างประมาณ ๑๑.๓๐ เมตร  เชื่อกันว่าชื่อพระพุทธรูปเรียกตามที่ปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ ๑ กล่าวว่า “เบื้องตีนนอนเมืองสุโขทัยนี้ มีตลาดปสาน มีพระอจนะ มีปราสาทมีป่าหมากพร้าว มีป่าหมากลาง”  ชื่อพระอจนะสัญนิษฐานว่ามีความหมายว่า ผู้ไม่หวั่นไหว สร้างเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย  องค์ที่เห็นในปัจจุบันนี้ได้บูรณะปฏิสังขรณ์ใหม่ราวปี พ.ศ. ๒๔๙๖ - ๒๔๙๙ มณฑปนี้ตรงประตูทางเข้าเจาะเป็นช่องสูง ผนังด้านซ้ายมีทางเดินเข้าไปภายในผนังและขึ้นไปได้จนถึงหลังคา บนเพดานผนังทางเข้านี้ มีรอยพระพุทธบาท, ภาพสลักอยู่บนหินชนวนจำนวน ๖๔ แผ่น โดยทุกภาพมีอักษรไทยสมัยสุโขทัยโบราณบรรยาย บางภาพมีลักษณะทางศิลปกรรมคล้ายกับศิลปะลังกาและในช่องผนังของมณฑปได้ค้นพบศิลาจารึกหลักที่  ๒ เรียกว่า จารึกวัดศรีชุม ที่เล่าเรื่องราวของการก่อตั้งราชวงศ์สุโขทัย รูปแบบมณฑปนี้นักวิชาการสันนิษฐานน่าจะได้รับอิทธิพลทางรูปแบบศิลปะมาจากศิลปะพุกามในพม่า
          ๒. ฐานวิหาร ๖ ห้อง ขนาดกว้าง ๑๒.๕๐ เมตร ยาว ๒๒ เมตร มีผนังก่อด้วยอิฐเจาะช่องเป็นรูปกากบาท ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกหรือด้านหน้าของมณฑป สันนิษฐานว่าเป็นสิ่งก่อสร้างที่สร้างขึ้นภายหลังมณฑปเนื่องจากด้านหลังของอาคารไม่มีทางเชื่อมต่อไปยังมณฑป
          ๓. วิหารอยู่ทางทิศเหนือของมณฑป ก่อด้วยอิฐขนาดกว้าง ๙.๕๐ เมตร ยาว ๑๔ เมตร
          ๔. มณฑปขนาดเล็กก่อด้วยอิฐ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปกว้าง ยาว ด้านละ ๙.๕๐ เมตร อยู่ทางด้านหลังวิหารเล็กหรือทางทิศเหนือของมณฑปใหญ่
          ๕. ฐานเจดีย์รายจำนวน ๙ องค์ ตั้งอยู่ด้านข้างวิหารใหญ่ และมณฑปใหญ่ด้านทิศเหนือ
          ๖. พระอุโบสถอยู่ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของมณฑปใหญ่และอยู่นอกคูน้ำที่ล้อมรอบกลุ่มโบราณสถานขนาดใหญ่
          ๗. คูน้ำล้อมรอบวัด มีขนาดกว้างโดยประมาณ ๖ เมตร ล้อมรอบพื้นที่ที่ตั้งโบราณสถานเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่มีขนาดพื้นที่กว้าง ๑๐๐ เมตร และยาว ๑๕๐ เมตร
 
          ชื่อวัดศรีชุมสัญนิษฐานว่า มาจากคำว่า ศรี มาจากคำเรียกพื้นเมืองเดิมของไทยว่า สะหลี ซึ่งหมายถึงต้นโพธิ์  ดังนั้นชื่อศรีชุม จึงหมายถึง ดงของต้นโพธิ์  แต่ในหนังสือพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาที่เขียนในสมัยอยุธยาตอนปลาย ไม่เข้าใจความหมายนี้แล้ว จึงเรียกสถานที่นี้ว่า ฤๅษีชุม ว่าเป็นสถานที่ที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช มาประชุมทัพกันอยู่ที่นั้น ก่อนที่จะยกทัพไปปราบเมืองสวรรคโลก  อันเป็นต้นตอของตำนานเรื่อง พระพุทธรูปพูดได้ ที่เล่าขานกันต่อมา
 
เรื่อง/ภาพ : อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย

(จำนวนผู้เข้าชม 8777 ครั้ง)

Messenger