กรมศิลปากรจัดสัมมนาทางวิชาการ “วิชชาแห่งบูรพา: พระศรีอารยเมตไตรย-พระโพธิสัตว์ไมเตรยะ”
วันนี้ (วันจันทร์ที่ ๙ มีนาคม ๒๕๖๓) เวลา ๐๙.๔๕ น. นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง “วิชชาแห่งบูรพา:พระศรีอารยเมตไตรย-พระโพธิสัตว์ไมเตรยะ”ณ ห้องประชุมใหญ่ สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรุงเทพฯ โดยมีนายอรุณศักดิ์ กิ่งมณี รองอธิบดีกรมศิลปากร กล่าวรายงาน และมีผู้สนใจเข้าร่วมฟังการสัมมนากว่า ๒๐๐ คน ทั้งนี้ ได้มีการติดตั้งเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย และแจกหน้ากากอนามัยให้แก่ผู้เข้าร่วมฟังการสัมมนาและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเพื่อสวมใส่ป้องกันการติดเชื้อไวรัส COVID-19
          วันนี้ (วันจันทร์ที่ ๙ มีนาคม ๒๕๖๓) เวลา ๐๙.๔๕ น. นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง “วิชชาแห่งบูรพา:พระศรีอารยเมตไตรย-พระโพธิสัตว์ไมเตรยะ”ณ ห้องประชุมใหญ่ สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรุงเทพฯ โดยมีนายอรุณศักดิ์ กิ่งมณี รองอธิบดีกรมศิลปากร กล่าวรายงาน และมีผู้สนใจเข้าร่วมฟังการสัมมนากว่า ๒๐๐ คน ทั้งนี้ ได้มีการติดตั้งเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย และแจกหน้ากากอนามัยให้แก่ผู้เข้าร่วมฟังการสัมมนาและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเพื่อสวมใส่ป้องกันการติดเชื้อไวรัส COVID-19
 
          อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า การจัดสัมมนาทางวิชาการในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลทางวิชาการของซีกโลกตะวันออก เป็นเรื่องเกี่ยวเนื่องกับคติความเชื่อในพระพุทธศาสนา พระศรีอารยเมตไตรยพระอนาคตพุทธ ตามคติพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท หรือพระโพธิสัตว์ไมเตรยะ พระโพธิสัตว์ตามคติพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ซึ่งแม้ว่าพระพุทธศาสนาจะมีกำเนิดจากประเทศอินเดีย แต่จากแหล่งโบราณคดีต่าง ๆ ในประเทศไทยได้มีการพบหลักฐานประติมากรรม รูปเคารพพระศรีอารยเมตไตรย-พระโพธิสัตว์ไมเตรยะไม่น้อย การสัมมนาในวันนี้ นอกจากจะเป็นการเผยแพร่ข้อมูลวิชาการในเรื่อง ประติมานวิเคราะห์ และศิลปะของพระศรีอารยเมตไตรย-พระโพธิสัตว์ไมเตรยะแล้ว ยังเป็นการทบทวนความรู้ในเรื่องราวของคติความเชื่อในพระพุทธศาสนาทั้งฝ่ายเถรวาทและฝ่ายมหายานให้แพร่หลายในวงกว้างไม่เฉพาะเพียงแวดวงวิชาการเท่านั้น
 
          ประติมากรรมพระศรีอารยเมตไตรย หรือ พระโพธิสัตว์ ไมเตรยะ แสดงถึงอิทธิพลทางศาสนาที่สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตของผู้คนในชุมชน ซึ่งเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ศิลปะสำคัญที่พบอยู่เป็นจำนวนมาก อันจะบอกเล่าเรื่องราว และแสดงให้เห็นถึงการถ่ายทอดทางศาสนา และศิลปวัฒนธรรมระหว่างดินแดนต่าง ๆ ในภูมิภาคตะวันออก ทั้งในดินแดนประเทศไทยเอง และประเทศที่เป็นแหล่งอารยธรรมสำคัญของโลกตะวันออก เช่น อินเดีย จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ซึ่งกรมศิลปากรได้เชิญนักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ เกี่ยวกับโบราณวัตถุและประติมานวิเคราะห์ของพระศรีอารยเมตไตรย หรือ พระโพธิสัตว์ ไมเตรยะ มาร่วมบรรยาย และแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการ โดยเฉพาะข้อมูลที่เกี่ยวข้องหรือแสดงถึงคติ แนวคิด การติดต่อสัมพันธ์ รับและแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมกันมาอย่างยาวนานแต่โบราณ โดยช่วงเช้าเป็นการบรรยาย เรื่อง “พระศรีอาริยเมตไตรย อนาคตพุทธ” โดย ดร. นันทนา ชุติวงศ์ ช่วงบ่าย เป็นการเสวนาทางวิชาการเรื่อง “พระศรีอารยเมตไตรย-พระโพธิสัตว์ไมเตรยะ:จากต่างแดนสู่สุวรรณภูมิ” โดย ดร. อมรา ศรีสุชาติ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านโบราณคดี กรมศิลปากร ผศ. ดร. ชานป์วิชช์  ทัดแก้ว คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายเดชา  สุดสวาท ผู้อำนวยการกลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๔ ลพบุรี ดำเนินการเสวนา โดย นางสาวศุภวรรณ  นงนุช ภัณฑารักษ์ชำนาญการ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
 
          กรมศิลปากรหวังว่า การสัมมนาในครั้งนี้จะทำให้ผู้เข้าร่วมการสัมมนาเกิดความรู้ความเข้าใจในประวัติศาสตร์ศิลปะที่เกี่ยวข้องกับพระศรีอารยเมตไตรย-พระโพธิสัตว์ไมเตรยะ ซึ่งจะนำไปสู่การเห็นคุณค่าและความสำคัญของมรดกทางศิลปวัฒนธรรมและช่วยกันอนุรักษ์ให้คงอยู่สืบไป

(จำนวนผู้เข้าชม 1290 ครั้ง)

Messenger