องค์ความรู้ : เกร็ดประวัติศาสตร์จากการยุทธหัตถี
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุพรรณบุรี ได้ดำเนินการจัดโครงการเนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย ประจำปี ๒๕๖๓ : กิจกรรมการบรรยายพิเศษ เรื่อง “เกร็ดประวัติศาสตร์จากการยุทธหัตถี” ณ ห้องประชุม พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุพรรณบุรี เมื่อวันที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๓ ซึ่งช่วงเวลาการจัดกิจกรรมกำหนดให้ตรงกับงานอนุสรณ์ดอนเจดีย์ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมฟังการเสวนาได้รับความรู้ ความเข้าใจในเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ โบราณคดี ขนบธรรมเนียม ประเพณี อันจะก่อให้เกิดความภูมิใจแก่ท้องถิ่นและชาติบ้านเมือง ได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์ ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ เป็นผู้บรรยายและให้ความรู้ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
ในประวัติศาสตร์ไทยมีการรบบนหลังช้างหลายครั้ง เช่น สมัยสุโขทัย พ่อขุนรามคำแหงรบกับขุนสามชน เจ้าเมืองฉอด ต่อมาสมัยอยุธยา เจ้าอ้ายพระยารบกับเจ้ายี่พระยาที่สะพานป่าถ่าน พระสุริโยทัยรบกับพระเจ้าแปร และพระนเรศวรมหาราชรบกับพระมหาอุปราชา อาจกล่าวได้ว่าการรบกันบนหลังช้างเป็นเหตุการณ์ที่ผู้คนล้วนจดจำ มีหลักฐานการบันทึกทั้งในจารึกและพงศาวดาร รวมทั้งเอกสารคำให้การซึ่งเป็นการบันทึกจากคำบอกเล่าของชาวบ้าน เหตุการณ์ยุทธหัตถีครั้งสำคัญที่สุดคือสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชรบกับพระเจ้าแปร เพราะไม่เพียงถูกบันทึกไว้ในพงศาวดารสมัยอยุธยาเท่านั้น แต่ยังคงสืบทอดมาในสมัยรัตนโกสินทร์ด้วย เช่น การเขียนวรรณกรรมเฉลิมพระเกียรติ เรื่อง ลิลิตตะเลงพ่าย โดยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส แสดงให้เห็นว่า ยุทธหัตถีเป็นสัญลักษณ์การกู้เอกราชของกองทัพไทย
หลักฐานเกี่ยวกับการยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชที่พบค่อนข้างหลากหลายและถูกเขียนขึ้นในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน จึงมีเนื้อหารายละเอียดแตกต่างกันไปด้วย Barend Jam Terwiel สนใจเรื่องราวการทำยุทธหัตถี จึงได้ทำการศึกษาได้เขียนบทความเรื่อง “What happened at Nong Sarai?” มีเนื้อหาเกี่ยวกับการทำยุทธหัตถีที่ค่อนข้างละเอียด โดยเปรียบเทียบหลักฐานพื้นถิ่นกับหลักฐานตะวันตกเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ Terwielสรุปว่าหลักฐานของ ไทย พม่า และตะวันตก เล่าเรื่องการทำยุทธหัตถีแตกต่างกันไปถึงสิบแบบ ซึ่งเรื่องยุทธหัตถีที่คนไทยส่วนใหญ่ยึดถือในปัจจุบันเป็นเรื่องที่ชำระขึ้นสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์
หลักฐานไทย
- พระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)
- พระราชพงศาวดารฉบับสมเด็จพระพนรัตน์
- พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา
- พระนิพนธ์ไทยรบพม่า
- พระราชประวัติสมเด็จพระนเรศวร
- พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐฯ
หลักฐานไทยแทบทุกฉบับกล่าวถึงช้างพระเนศวรเสียทีช้างพระมหาอุปราชาในการทำยุทธหัตถี Terwiel ตั้งข้อสังเกตและพบว่า พม่ามีธรรมเนียมให้ประเทศราชส่งช้างไปให้ ๓๐ ช้างทุกปี และช้างเหล่านั้นต้องผ่านการคัดกรองอย่างดี อยุธยาเป็นหนึ่งในประเทศราชที่ต้องส่งช้างดี ๆ ไปให้พม่า ทำให้เกิดข้อจำกัดในการเลือกช้างออกศึก ในขณะที่พม่าไม่เพียงแต่จะได้รับช้างจากอยุธยาเท่านั้น แต่ยังได้จากประเทศราชอื่น ๆ อีกมาก ทำให้พระมหาอุปราชาสามารถเลือกช้างที่มีคุณลักษณะอันโดดเด่นและเพียบพร้อมในการออกศึก และมีโอกาสชนะช้างพระนเรศวรได้มากกว่า
เมื่อพิจารณาพงศาวดารไทยแต่ละฉบับแล้วจะพบว่า พงศาวดารหลักคือพระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) เล่าถึงการเจอกับพระมหาอุปราชา พระนเรศวรตกอยู่ในวงล้อมพม่า และท้าทายพระมหาอุปราชาให้ทำยุทธหัตถีกัน พระราชพงศาวดารฉบับนี้เป็นต้นทางไปสู่พระราชพงศาวดารฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ และเป็นต้นแบบต่อให้พงศาวดารฉบับอื่น ๆ เช่น พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ และเป็นต้นเค้าหนังสือไทยรบพม่าของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในขณะที่พงศาวดารอยุธยาฉบับหลวงประเสริฐฯ กล่าวถึงยุทธหัตถีเพียงเล็กน้อย อาจเป็นเพราะพงศาวดารฉบับนี้เขียนโดยโหร ซึ่งผู้เขียนสนใจฤกษ์นาทีมากกว่ารายละเอียดเรื่องราว โดยเล่าถึงการฝ่าฤกษ์ของพระนเรศวร แต่เป็นการฝ่าฤกษ์เพียงเล็กน้อยทำให้พระนเรศวรถูกพระแสงปืนเพียงเล็กน้อยเช่นกัน
หลักฐานประเภทคำให้การ เป็นการบอกเล่าของเชลยศึกเมื่อพ.ศ. ๒๓๑๐ ซึ่งห่างจากเหตุการณ์ยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชมากกว่า ๑๐๐ ปี เรื่องราวที่ถูกเล่ามีตั้งแต่ต้นกรุงศรีอยุธยาไปจนถึงครั้งเสียกรุง ซึ่งในเรื่องเหล่านี้มีเรื่องของพระนเรศวรแทรกอยู่ด้วย เรื่องราวนี้ถูกบันทึกครั้งแรกเป็นภาษามอญ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ โปรดให้แปลเป็นภาษาไทย โดยใช้ชื่อว่า คำให้การขุนหลวงหาวัด ด้วยเข้าใจว่าผู้ให้การคือพระเจ้าอุทุมพร นับเป็นฉบับที่มีเรื่องราวของพระนเรศวรอันเป็นความพิสดาร ทั้งเรื่องการชนไก่ เรื่องพระสุพรรณกัลยาและเรื่องการชนช้าง ซึ่งรัชกาลที่ ๔ ได้นำเอามาเขียนปนกับพระราชพงศาวดารจนเกิดเนื้อหารายละเอียดแบบใหม่ หลังจากนั้นพม่าได้แปลเอกสารจากภาษามอญเป็นภาษาพม่า เมื่อสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้รับจึงแปลจากภาษาพม่าเป็นภาษาไทย โดยเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นคำให้การชาวกรุงเก่า เพราะคิดว่าคนให้การไม่ได้มีเพียงพระเจ้าอุทุมพรเท่านั้น แต่น่าจะเป็นเชลยคนอื่น ๆ ด้วย
คำให้การทั้งสองเรื่องมีรายละเอียดบางส่วนที่ไม่ถูกกล่าวถึงในพงศาวดารไทย คือ เรื่องพระนเรศวรถูกพาไปพม่าและได้เป็นสหายกับพระมหาอุปราชา ครั้งหนึ่งทั้งสองพระองค์ตีไก่กัน ไก่ของพระนเรศวรได้รับชัยชนะ พระมหาอุปราชาจึงเดินมาบอกกับพระนเรศวรว่าไก่เชลยเก่งพร้อมเขย่าไหล่พระนเรศวร เป็นเหตุให้พระนเรศวรโกรธและหนีออกจากหงสาวดี เมื่อพระมหาอุปราชายกทัพไล่ตามพระนเรศวรทัน จึงเกิดการทำยุทธหัตถีขึ้น ซึ่งช้างของพระนเรศวรตัวเล็กกว่า ไม่สามารถทานกำลังได้ จึงถอยไปยันจอมปลวก จากคำให้การเล่าว่าการชนช้างครั้งนี้เป็นการแก้แค้นเมื่อครั้งชนไก่แล้วถูกเขย่าไหล่ ถึงแม้เรื่องราวจากคำให้การจะแตกต่างออกไปอย่างไร แต่ปรากฏภาพจิตรกรรมฝาผนังในตอนช้างพระนเรศวรยันตอพุทรา (ตามเอกสารคือจอมปลวก) ที่วัดสุวรรณดาราราม พระนครศรีอยุธยา และถูกนำไปใช้ต่อในหนังสือเรียน แสดงให้เห็นว่ามีการยอมรับเรื่องราวที่ได้จากคำให้การเช่นกัน
หลักฐานพม่า
พงศาวดารชื่อ U Kala Mahayazawindawgyi (ยาสะวิน) เป็นพงศาวดารที่ชำระหลังพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐฯ เล็กน้อย กล่าวถึงกองทัพของพระมหาอุปราชาลงมาตั้งที่ชานพระนครกรุงศรีอยุธยา (ในขณะที่พงศาวดารหลวงประเสริฐฯ กล่าวถึงการรบที่หนองสาหร่าย สันนิษฐานว่าปัจจุบันอยู่ในเขตสุพรรณบุรี) กองทัพของพระมหาอุปราชายืนเรียงกันเป็นหน้ากระดาน ข้าง ๆ ช้างของพระมหาอุปราชาเป็นช้างของเจ้าเมืองชามะโรที่กำลังตกมันรุนแรงจนต้องใช้ผ้าหน้าราหูปิดตาไว้ไม่ให้ตื่น และอีกข้างหนึ่งเป็นช้างของนัดจินหน่อง ลูกเจ้าเมืองตองอู
เมื่อพระนเรศวรนำช้างออกมาจากในเมืองโดยมีทหารแม่นปืนห้อมล้อม พระองค์เห็นช้างของพระมหาอุปราชาจึงไสช้างเข้าไปหา แต่ชามะโรผู้เป็นราชองครักษ์เข้าป้องกันพระมหาอุปราชาและเปิดผ้าปิดหน้าช้างเพื่อจะไสช้างไปขวางช้างพระนเรศวร แต่ช้างของชามะโรตกมันจนควบคุมไม่ได้ ทำให้หันไปชนช้างของมหาอุปราชาจนช้างบาดเจ็บ ระหว่างนั้นองครักษ์ของพระนเรศวรสาดกระสุนปืนป้องกันพม่าเข้าใกล้ช้างพระนเรศวร กระสุนปืนลูกหนึ่งถูกพระมหาอุปราชาสิ้นพระชนม์บนคอช้าง กลางช้างจึงเข้ามาประคองพระศพและไปหลบใต้ต้นไม้ นายทัพคนอื่น ๆ เข้าไปกันช้างพระนเรศวร พระองค์จึงถอยทัพกลับเข้าเมือง
เมื่อพระมหาอุปราชาสิ้นพระชนม์ กองทัพพม่าหยุดรบและเหล่านายทัพประชุมกัน จึงได้ข้อสรุปว่ายกเลิกการรบและเดินทางกลับ เพื่อนำพระศพของพระมหาอุปราชากลับไปพระราชทานเพลิงที่หงสาวดี
หลักฐานต่างชาติ
- Jasque de Coutre (ค.ศ. ๑๕๙๕ / พ.ศ. ๒๑๓๘ หรือหลังจากยุทธหัตถี ๓ ปี)
- กล่าวถึง สมเด็จพระนเรศวรถูกปืนที่แขน
- กล่าวถึง พระมหาอุปราชาถูกหอกเสียบกระเดือกและสิ้นพระชนม์ที่เมืองทวาย แต่มีข้อสังเกตคือ ทวายไม่น่าเป็นเส้นทางถอยทัพ
- กล่าวถึง งานพระราชทานเพลิงศพพระคชาธาร เป็นงานใหญ่มากของอยุธยาและมีการจัดงานหลายวัน อีกทั้งสมเด็จพระนเรศวรเสียพระทัยมาก แสดงให้เห็นว่าเป็นช้างที่พระเจ้าแผ่นดินรักมาก อาจกระทำความความชอบอันใหญ่หลวงหรือเป็นช้างสำคัญที่มีบทบาทในการยุทธหัตถี (มีข้อน่าสังเกตว่า นอกจากการจัดงานพระราชทานเพลิงศพพระคชาธารอย่างมีเกียรติแล้ว ของ้าวของพระนเรศวรยังถูกเก็บไว้ในหอศาสตราคม ครั้นถึงสมัยพระเพทราชาต้องปราบกบฏ พระองค์ให้ไปเชิญของ้าวพระนเรศวรมาและถือไว้เพื่อเป็นขวัญกำลังใจ แสดงให้เห็นว่าทั้งช้างและของ้าวมีความสำคัญค่อนข้างมาก อาจเป็นหลักฐานที่สะท้อนให้เห็นว่ามีการทำยุทธหัตถีเกิดขึ้นจริงในสมัยสมเด็จพระนเรศวร)
- Jeremias van Vliet (ค.ศ. ๑๖๓๓ / พ.ศ. ๒๑๗๖ หรือหลังจากยุทธหัตถี ๔๑ ปี)
- Jeremias van Vliet หรือวันวลิต เป็นนายสถานีการค้าของดัตช์ สมัยพระเจ้าปราสาททอง เขียนหนังสือในลักษณะพงศาวดาร โดยได้ข้อมูลจจากการถามพระและชาวบ้าน กล่าวถึงช้างของพระนเรศวรที่ตัวเล็กกว่าช้างของพระมหาอุปราชา เมื่อยามศึกสงคราม ช้างของพระนเรศวรถอยจนพระองค์ต้องปลอบประโลม มีใจความตอนหนึ่งว่า “...คิดดูเถิดว่าตอนนี้เจ้ามีอำนาจเหนือเจ้าชีวิต ๒ พระองค์...” แสดงให้เห็นว่ามีการชนช้างทั้งพระนเรศวรและพระเอกาทศรถ หลังจากปลอบช้างแล้ว พระนเรศวรได้พรมน้ำมนตร์ปลุกเสกใส่ตะพองช้างสามครั้งและกันแสงหลั่งพระสุชลลงบนงวงช้าง ทำให้ช้างของพระองค์เริ่มฮึกเหิม
- กล่าวถึงสถานที่ยุทธหัตถีที่หนองสาหร่าย ตรงกับพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐฯ
- Jesuit Nicholas Pimenta
- เป็นบันทึกร่วมสมัยพระนเรศวรโดยชาวโปรตุเกส กล่าวถึงการยุทธหัตถีในครั้งนั้นว่ามีฝ่ายแม่นปืนชาวโปรตุเกสไปด้วย ๒ คน พระนเรศวรรับสั่งว่าถ้าพระองค์เพลี่ยงพล้ำให้ฝ่ายแม่นปืนยิง เมื่อกระทำยุทธหัตถี ช้างของพระนเรศวรเพลี่ยงพล้ำจึงตะโกนสั่งให้ชาวโปรตุเกสยิง เป็นเหตุให้พระมหาอุปราชาถูกกระสุนปืนจนสิ้นพระชนม์
- Antonio Bocano (ค.ศ. ๑๖๑๓ / พ.ศ. ๒๑๕๖-๒๑๖๐)
- กล่าวถึง การท้าทายกระทำยุทธหัตถี
- กล่าวถึง ฝ่ายแม่นปืนยิงพระมหาอุปราชา
- Portuguese source (Published ค.ศ. ๑๖๐๓ / พ.ศ. ๒๑๔๖) แปลโดย A Macqregor
- กล่าวถึง การทำยุทธหัตถี
- Persian account (ค.ศ. ๑๖๘๕ / พ.ศ. ๒๒๒๘)
- กล่าวถึง การทำยุทธหัตถี สมเด็จพระนเรศวรซ่อนปืนไว้ใต้สัปคับ เมื่อพระอง์เหลี่ยงพล้ำจึงใช้ปืนยิง
หลักฐานที่กล่าวมาข้างต้น ทั้งเอกสารหลักฐานของไทย พม่า และตะวันตก ล้วนให้ภาพการทำยุทธหัตถีที่หลากหลาย ทำให้เกิดความเชื่อที่แตกต่าง อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เข้ามามีส่วนแทรกซ้อนในการทำยุทธหัตถีคืออาวุธปืนไฟ ถูกนำเข้ามาอย่างช้าที่สุดคือสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ โดยชาวโปรตุเกสที่เข้ามาเป็นทหารอาสา บางส่วนทำหน้าที่เป็นทหารรักษาพระองค์ บางส่วนเป็นพลแม่นปืนที่ลอบสังหารผู้นำฝ่ายตรงข้าม
หลักฐานในสมัยพระนเรศวรกล่าวถึงการใช้ปืนค่อนข้างมาก มีทั้งที่กล่าวว่าพระมหาอุปราชาถูกปืนยิง พระนเรศวรถูกปืนยิง และท้ายช้างพระนเรศวรถูกปืนยิง แสดงให้เห็นว่าในช่วงเวลานั้นมีการใช้อาวุธปืนกันและผู้ที่อยู่บนหลังช้างมักเป็นเป้าที่ถูกยิงได้ง่าย หลังสิ้นยุคสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชไม่มีการทำยุทธหัตถีอีกเลย นายทัพเลิกขี่ช้างนำทัพ เนื่องจากพลแม่นปืนเข้ามามีบทบาทในการรบมากขึ้น ดังนั้นปืนจึงเป็นสิ่งที่เข้ามาสร้างความแตกต่างและยุติธรรมเนียมการสู้รบบนหลังช้างไปตลอดกาล
ภาพ : โครงการเนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย ประจำปี ๒๕๖๓ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุพรรณบุรี
(จำนวนผู้เข้าชม 28424 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม
-
นโยบายเว็บไซต์ |
มาตรฐาน