องค์ความรู้ : “พระสรณังกร” อดีตพระพุทธเจ้าที่ปรากฏในเมืองกำแพงเพชร
ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร ได้จัดแสดงพระพุทธรูปปางสมาธิองค์หนึ่ง ที่ได้จากวัดพระแก้ว วัดสำคัญกลางเมืองกำแพงเพชร โดยเป็นพระพุทธรูปสำริดขนาดเล็ก ศิลปะอยุธยา กำหนดอายุได้ราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑
ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร ได้จัดแสดงพระพุทธรูปปางสมาธิองค์หนึ่ง ที่ได้จากวัดพระแก้ว วัดสำคัญกลางเมืองกำแพงเพชร โดยเป็นพระพุทธรูปสำริดขนาดเล็ก ศิลปะอยุธยา กำหนดอายุได้ราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑ มีลักษณะสำคัญได้แก่ พระพักตร์ค่อนข้างกลม พระขนงโก่ง พระเนตรเรียวเหลือบลงต่ำ พระนาสิกโด่งเป็นสัน พระโอษฐ์ค่อนข้างบาง พระกรรณยาว พระเศียรมีขมวดพระเกศาค่อนข้างเล็ก พระอุษณีษะเป็นต่อมนูนขนาดใหญ่ พระรัศมีรูปกรวยทรงสูง ครองจีวรห่มเฉียงเปิดพระอังสาขวา ชายสังฆาฏิขนาดค่อนข้างใหญ่พาดอยู่บนพระอังสาซ้ายยาวจรดถึงพระนาภีปลายแตกเป็นลายเขี้ยวตะขาบ พระหัตถ์ทั้งสองวางประสานกันอยู่เหนือพระเพลา ประทับนั่งขัดสมาธิราบบนฐานอาสนะสามขา หรือฐานสิงห์ ฐานด้านหน้ามีจารึกอักษรขอม ภาษาบาลี จำนวน ๑ บรรทัด ความว่า สรณงฺกโร นาม ภควา (อ่านว่า สะระณังกะโร นามะ ภะคะวา) แปลว่า ภควา (พระพุทธรูป) องค์นี้ พระนามว่า พระสรณังกร
นายเทิม มีเต็ม ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาตะวันออก ผู้แปลจารึกนี้ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า สรณงฺกโร คือ นามของอดีตพระพุทธเจ้าในจำนวน ๒๘ พระองค์ ซึ่งปรากฏอยู่ในอาฏานาติยปริตร ส่วนคำว่า ภควา ได้แปลความหมายว่า พระพุทธรูปนี้ ซึ่งการสร้างพระพุทธรูปในสมัยโบราณ ผู้สร้างบางท่านมีเจตนาที่สร้างถวายเป็นรูปแทนองค์พระพุทธเจ้าทั้งในปัจจุบันและอดีต สำหรับพระพุทธรูปองค์นี้ได้สร้างถวายแด่อดีตพระพุทธเจ้าที่มีนามว่า พระสรณังกร
(จำนวนผู้เข้าชม 1119 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม
-
นโยบายเว็บไซต์ |
มาตรฐาน