วันคล้ายวันสวรรคตของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท
เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสวรรคตของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ซึ่งเวียนมาบรรจบครบ ๒๑๒ ปี ในวันที่ ๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๘ คนไทยทุกคนต่างล้วนสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นที่พระองค์ทรงทุ่มเทประกอบพระราชกรณียกิจด้านต่าง ๆ ด้วยพระวิริยอุตสาหะ และพระปรีชาสามารถเป็นอเนกประการในการรวบรวมบ้านเมืองให้เป็นปึกแผ่นสืบมาจนถึงทุกวันนี้
 
                   สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท (พ.ศ. ๒๓๒๕ – ๒๓๔๖) ทรงดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) พระองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระปฐมบรมกษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ (พ.ศ. ๒๓๒๕ – ๒๓๕๒) มีพระนามเดิมว่า บุญมา เป็นสมเด็จพระอนุชาธิราชร่วมพระชนกชนนีกับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ประสูติในสมัยอยุธยา ตรงกับรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน๑๑ ขึ้นค่ำ ๑ ปีกุน พ.ศ.๒๒๘๖ ต่อมาในรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวสุริยามรินทร์ ทรงรับราชการตำแหน่ง
 
นายสุดจินดา มหาดเล็กหุ้มแพร ครั้นกรุงเก่าเสียแก่พม่าแล้ว ก็เสด็จหลบหนีออกไปอาศัยอยู่ ณ เมืองชลบุรี จนทรงทราบว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (ขณะทรงดำรงตำแหน่งเป็นพระยาวชิรปราการ ผู้สำเร็จราชการเมืองกำแพงเพชร หรือที่นิยมขานพระนามกันทั่วไปว่า พระยาตาก หรือ เจ้าตาก) เสด็จไปรวบรวมกำลังตั้งอยู่เมืองจันทบุรีแล้ว นายสุดจินดาจึงตัดสินใจพาพรรคพวกตีฝ่าวงล้อมของพม่าเดินทางไปสมัครรับราชการ ด้วยเหตุที่ทรงคุ้นเคยกันมาแต่เมื่อรับราชการครั้งกรุงเก่า
 
                   ต่อมาภายหลังจากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี และมีการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกใน พ.ศ. ๒๓๑๑  แล้ว ทรงปูนบำเหน็จรางวัลแก่บรรดาแม่ทัพนายกอง          ในการนี้ โปรดเกล้าฯเลื่อนนายสุดจินดาเป็นที่พระมหามนตรี เจ้ากรมพระตำรวจ ด้วยมีความเข้มแข็งในการรบจนเป็นที่ปรากฏ และทรงได้รับบรรดาศักดิ์เลื่อนขึ้นเป็นพระยาอนุชิตราชา และพระยายมราช ตามลำดับ  ต่อมาเมื่อพระเจ้าตากสินมหาราชเสด็จขึ้นไปปราบเจ้าพระฝางเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๓ โปรดเกล้าฯให้คุมทัพบกยกกำลังไปทางตะวันออกก่อนทัพหลวง  ครั้นปราบเจ้าพระฝางแล้ว โปรดเกล้าฯ ให้พระยายมราชเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยาสุรสีห์พิษณวาธิราชครองเมืองพิษณุโลก โปรดให้บังคับบัญชาป้องกัน
พระราชอาณาจักรอยู่ทางฝ่ายเหนือนับแต่นั้นมา พระเดชานุภาพเลื่องลือมากจนได้รับพระนามว่า “พระยาเสือ” ในครั้งนั้น
 
                   ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สมเด็จพระเชษฐาธิราชเสด็จปราบดาภิเษกเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระปฐมบรมกษัตริย์ในพระบรมราชจักรีวงศ์  จึงได้ทรงสถาปนาสมเด็จพระอนุชาธิราชเป็นพระมหาอุปราช  กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๕ (ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖  ทรงเฉลิมพระนามพระอัฐิว่า สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท) ครั้งนั้นยังมีศึกสงครามอยู่ เพราะพม่าเห็นไทยตั้งตัวเป็นปึกแผ่นขึ้นอีก สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาททรงเป็นกำลังสำคัญช่วยสมเด็จพระเชษฐาธิราชในการป้องกันพระราชอาณาจักรและปราบปรามอริราชศัตรูมาตลอดมา
 
                   นอกจากพระราชกรณียกิจสำคัญในการป้องกันประเทศแล้ว พระองค์ยังเป็นกำลังหลักในการสร้างพระนครให้เป็นปึกแผ่นมั่นคงและเป็นสง่าเชิดชูพระเกียรติแห่งพระราชวงศ์ กล่าวคือ ทรงสร้างพระราชวังบวรสถานมงคล ป้อม ประตูยอด  สะพาน วังเจ้านาย บ้านรับแขกเมืองและบ้านข้าราชการหลายแห่ง ทรงสร้างโรงเรือถวายเป็นส่วนของพระบรมมหาราชวัง  รวมทั้งพระราชวังบวรสถานมงคลทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ตลอดจนทรงบำรุงพระบวรพุทธศาสนาโดยการสถาปนาพระอารามต่าง ๆ อาทิ วัดมหาธาตุวัดชนะสงคราม   วัดโบสถ์   วัดบางลำพู   วัดสมอแครง   วัดส้มเกลี้ยง   และทรงบูรณปฏิสังขรณ์พระอารามเก่า คือ วัดสำเพ็ง   วัดปทุมคงคา  วัดครุฑ  วัดสุวรรณคีรี   วัดสุวรรณดาราราม   และทรงช่วยสมทบทำหอมณเฑียรธรรมในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม  วิหารคดวัดพระเชตุพน ตลอดจนทรงสร้างอาคารต่าง ๆ ที่ใช้ในงานศพด้วยถาวรวัตถุที่วัดสุวรรณาราม
 
                   สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทประชวรพระโรคนิ่ว เมื่อครั้งเสด็จยกทัพขึ้นไปช่วยเมืองเชียงใหม่เมื่อ พ.ศ. ๒๓๔๕ พระอาการมาก ต้องพักรักษาพระองค์อยู่ที่เมืองเถิน เมื่อเสร็จราชการศึก พระโรคคลายแล้ว จึงเสด็จยกกองทัพกลับลงมาถึงกรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๔๖ ต่อมาพระโรคกำเริบขึ้น เสด็จสวรรคตเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๑๒ แรม ๔ ค่ำ ปีกุน เบญจศก ตรงกับวันที่ ๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๓๔๖ พระชนมายุ ๖๐ พรรษา สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท มีพระราชโอรสธิดา รวม ๔๓ พระองค์
 
               ทั้งนี้ กรมศิลปากร กำหนดจัดพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลถวายเนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ในวันอังคารที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ เวลา ๑๐.๐๐ น. ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

(จำนวนผู้เข้าชม 11696 ครั้ง)