รายงานการดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดี ในพื้นที่แหล่งโบราณคดีบ้านวังหาด จ.สุโขทัย

รายงานการดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดี ในพื้นที่แหล่งโบราณคดีบ้านวังหาด
ตำบลตลิ่งชัน อำเภอบ้านด่านลานหอย จังหวัดสุโขทัย
สำนักศิลปากรที่ 6 สุโขทัย โดยมีนายธีรศักดิ์ ธนูศิลป์ เป็นนักโบราณคดีผู้ดำเนินการขุดค้น พบโครงกระดูก 2 โครงในแหล่งโบราณคดีบ้านวังหาด ตำบลตลิ่งชัน อำเภอบ้านด่านลานหอย จังหวัดสุโขทัย ซึ่งขุดบริเวณที่ราบเชิงเขาใกล้อ่างเก็บน้ำแม่กองค่าย กำหนดอายุเบื้องต้นราว 2,500 ปี พบเครื่องใช้สอยในชีวิตประจำวัน อาทิ ภาชนะดินเผา เครื่องมือโลหะแบบต่างๆ รวมไปถึงเครื่องมือที่ใช้ในการทอผ้า ตลอดจนพบเครื่องประดับที่ทำจากหินกึ่งอัญมณี และ ลูกปัดแก้วสีต่างๆ อุทิศให้กับศพ ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินการขุดค้น และวิเคราะห์ตีความ โดยผู้เชี่ยวชาญในลำดับต่อไป
นายธีรศักดิ์ ธนูศิลป์ ได้ดำเนินการทางโบราณคดีภายใต้โครการโบราณคดีภาคเหนือตอนล่าง : แหล่งโบราณคดีบ้านวังหาด ตำบลตลิ่งชัน อำเภอบ้านด่านลานหอย จังหวัดสุโขทัย ซึ่งได้ดำเนินงานสำรวจและขุดค้นทางโบราณคดีแล้วเสร็จ ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินการวิเคราะห์ตีความ จึงรายงานผลการดำเนินงานเบื้องต้น
การดำเนินงานขุดค้นทางโบราณคดีในครั้งนี้ ได้เลือกพื้นที่การขุดค้นบริเวณที่ราบเชิงเขา ใกล้คลองแม่กองค่าย ติดกับอ่างเก็บน้ำห้วยแม่กองค่ายมาทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ โดยแบ่งพื้นที่การขุดค้นเป็น 7 หลุม (PITI - PIT7) เริ่มดำเนินการขุดค้นเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2559 พบหลักฐานที่สำคัญดังนี้
1. หลุมฝังศพที่ 1 พบจากการขุดค้นในหลุมขุดค้น PIT 2ที่ระดับสมมติที่ 6:70-80 cm.dt.ความลึกจากพื้นผิวดิน (Surface) ประมาณ 50-60 เซนติเมตร ยังไม่พบโครงกระดูก สันนิษฐานว่าอยู่ในผนังด้านทิศเหนือ พบภาชนะดินเผา 3 ใบ แต่สภาพไม่สมบูรณ์ พร้อมทั้งเครื่องมือโลหะ (ใบหอก)
2.หลุมฝังศพที่ 2 พบในหลุมขุดค้น PIT 3-5 ที่ระดับชั้นดินสมมติที่ 5 :80-90 cm.dt. ลึกลงไปจากพื้นผิวดิน(Surface) ประมาณ 70-80 เซนติเมตรจัดอยู่ในชั้นดินที่3 ลักษณะดินบริเวณที่พบหลักฐานเป็นดินปนทราย อัดแน่นและแข็งมาก
โครงกระดูกที่พบมีลักษณะโครงที่เปื่อยยุ่ย จนแทบไม่เหลือสภาพเดิม แต่ยังคงเหลือกระดูกยาว เช่น Humerus ,Radius , Ulna .ให้เห็นอยู่บ้าง จึงไม่สามารถศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับเพศ อายุ และสาเหตุการตายได้ แต่สามารถศึกษาทิศทางและรูปแบบการฝังได้ ว่าฝังแบบนอนหงายเหยียดยาว หันศีรษะไปทางทิศตะวันออก มีการฝังภาชนะดินเผาอุทิศวางไว้บริเวณปลายเท้าให้กับศพ พบแวดินเผา จำนวน 3 อัน ภายในภาชนะดินเผาที่วางติดกับปลายเท้าของศพ
นอกจากภาชนะดินเผา ยังพบว่ามีการฝังข้าวของอื่นๆอุทิศให้ศพด้วย พบสร้อยลูกปัดหินเรียงอยู่บริเวณส่วนคอของศพ ซึ่งมีร่องรอยกระดูกส่วน Clavicle ซ้อนกันอยู่ จึงทำให้สร้อยลูกปัดมีการพับทบกัน ซึ่งสังเกตได้จากการขุดค้น ลูกปัดมีจำนวน 23 ลูก ทำมาจากหินคาร์เนเลี่ยน 21 ลูก และหินควอตซ์ 2 ลูก ทั้งยังมีลูกปัดแก้วสีดำและสีน้ำตาล ขนาดเล็กเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.3-0.4 เซนติเมตร คั่นอยู่ในสร้อยเส้นเดียวกัน บริเวณส่วนข้อมือมีลูกปัดแก้วสีเขียวอมฟ้าจำนวนมาก และส่วนข้อเท้ามีลูกปัดแก้วสีแดงทึบจำนวนมากเช่นกัน ซึ่งสันนิษฐานว่าร้อยอยู่ที่ข้อมูลและข้อเท้าของศพ และยังมีเครื่องมือเหล็กแบบต่างๆ วางไว้บนตัวศพและด้านข้างศพเพื่อเป็นการอุทิศ
3.หลุมฝังศพที่ 3 พบในหลุมขุดค้น PIT 6-7ที่ระดับชั้นดินสมมติที่ 7: 110-120 cm.dt. ลึกลงไปจากผิวดิน (Surface) ประมาณ 1.10 เมตรจัดอยู่ในชั้นดินที่4 ลักษณะดินบริเวณที่พบหลักฐานเป็นดินปนทราย อัดแน่นและแข็งมาก
โครงกระดูกที่พบยังดำเนินการขุดค้นไม่แล้วเสร็จ ขุดแต่งเพียงส่วนกะโหลกศีรษะและพบเครื่องประดับอยู่ในตำแหน่งของหูด้านซ้าย มีการฝังศพในท่านอนหงายเหยียดยาว มีภาชนะดินเผาสภาพสมบูรณ์วางอยู่ทิศ และเป็นที่น่าสนใจว่า หลุมฝังศพนี้มีการขุดหลุมเป็นรูปสี่เหลี่ยม ก่อนนำดินเหนียวหรือดินที่มีการเตรียมไว้มาเทราดก่อนวางศพและวางภาชนะดินเผาลงไป เพราะดินที่รองศพนั้นแตกต่างจากดินที่ขุดค้นโดยรอบ และจากการวัดค่าสีดินและลักษณะของดินอย่างต่อเนื่อง จึงสรุปได้ว่าไม่ใช่ดินที่พบจากชั้นดินที่ขุดมา
บริเวณปลายเท้า 4 ใบ มีขนาดลดหลั่นกัน จากเล็กไปใหญ่ นับจากปลายเท้าออกไปตามลำดับ เนื่องจากสภาพดินค่อนข้างแข็งและสภาพพื้นที่ไม่เหมาะสมจึงทำการขุดแต่งและยกแท่นขึ้น มายังสำนักศิลปากรที่ 6 สุโขทัย เพื่อขุดค้นตามกระบวนการอย่างมัดมัดระวังเนื่องจากหลักฐานมีความเสี่ยงที่จะเสียหายได้ง่าย ซึ่งการดำเนินการจะอยู่ภายใต้การดูและและวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญต่อไป
รายงานการดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดี ในพื้นที่แหล่งโบราณคดีบ้านวังหาด (ข้อมูล พร้อมภาพประกอบ)













(จำนวนผู้เข้าชม 2521 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม
-
นโยบายเว็บไซต์ |
มาตรฐาน