การศึกษาเรือโบราณพนมสุรินทร์ อ.เมืองสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร
การศึกษาเรือโบราณ อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร
 
ประวัติการพบเรือ
 
                   เมื่อวันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๕๖ สำนักศิลปากรที่ ๑ ราชบุรี  ได้รับแจ้งจากองค์การบริหารส่วนตำบลพันท้ายนรสิงห์ ว่ามีการพบซากเรือโบราณอยู่ในบ่อเลี้ยงกุ้งของนายสุรินทร์ และนางพนม       ศรีงามดี บ้านเลขที่ ๖๕/๑ หมู่ที่ ๖ ตำบลพันท้ายนรสิงห์ อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร สาเหตุการพบเนื่องจากการปรับพื้นที่บ่อเลี้ยงกุ้งให้ลึกลงกว่าเดิม โดยบริเวณที่พบเรือโบราณเป็นพื้นที่ลุ่มริมชายฝั่งทะเล อยู่ห่างจากชายฝั่งทะเลประมาณ ๘ กิโลเมตร  
 
สภาพก่อนการขุดศึกษา
 
                   เรือโบราณที่พบจมอยู่ใต้ดินเลนในลักษณะพลิกตะแคง ส่วนที่โผล่พ้นดินแล้วเป็นกราบเรือด้านทิศตะวันตก เรือวางตัวในแนวทิศเหนือ - ใต้จากหลักฐานที่พบสันนิษฐานว่าเป็นเรือที่มีการเสริมกราบสองชั้นด้วยการเจาะรูและใช้เชือกผูกโยงยึดแผ่นไม้ไว้ด้วยกัน ไม้และเชือกมีสภาพเปื่อยยุ่ยอย่างมาก ภายในเรือพบโบราณวัตถุจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นภาชนะดินเผาขนาดใหญ่ ทั้งภาชนะดินเผาประเภทเนื้อดินที่ผลิตจากแหล่งเตาภายในประเทศ เครื่องเคลือบที่ผลิตจากแหล่งเตาในประเทศจีน และพบอินทรียวัตถุหลายประเภท เช่น ลูกมะพร้าว ลูกตาล เมล็ดข้าว เชือก ยางไม้ เมล็ดพืช เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบภาชนะดินเผาอีกหลายแบบที่ยังไม่สามารถระบุแหล่งที่มาได้          
 
การขุดศึกษาทางโบราณคดี       
 
                   สำนักศิลปากรที่ ๑ ราชบุรี ร่วมกับกลุ่มโบราณคดีใต้น้ำ สำนักโบราณคดี ดำเนินการขุดศึกษา โดยเริ่มการขุดศึกษาตั้งแต่วันที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๕๖ – ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ แต่การดำเนินงานยังคงไม่แล้วเสร็จเนื่องจากยังคงพบหลักฐานอีกหลายอย่าง รวมทั้งหลักฐานบางชิ้นยังคงอยู่ในหลุมขุดค้นด้วย
 
เทคนิคการขุดศึกษาทางโบราณคดี
 
                   เนื่องจากก่อนการดำเนินการขุดศึกษาเรือโบราณ ได้มีการนำไม้ทับกระดูกงูและเสากระโดงเรือขึ้นมาไว้บนคันดิน และมีการขุดเปิดพื้นที่เรือบางส่วนไว้แล้ว การขุดศึกษาจึงใช้เทคนิคการขุด ๒ วิธีคือ
 
๑.      วิธีการขุดลอกดินต่อจากบริเวณที่ถูกขุดไว้แล้ว เพื่อเปิดให้เห็นตัวเรือทั้งหมด โดยวาง
 
ผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าครอบพื้นที่ตัวเรือไว้
 
๒.      ขุดหลุมทดสอบ (TP.1) เป็นแนวยาวขวางตัวเรือในแนวทิศตะวันออก – ตะวันตก
 
ขนาดกว้าง ๒ เมตร เพื่อดูลักษณะของตัวเรือ โครงสร้างเรือ และโบราณวัตถุที่พบภายในเรือ
 
                   พื้นที่ในการขุดศึกษามี ๒ พื้นที่ โดยพื้นที่ที่พบเรือในตอนแรกเรียกว่า Area 1 ได้ดำเนินการขุดค้นในบริเวณนี้ เพื่อศึกษารูปแบบเรือและโบราณวัตถุที่พบ แต่พบว่ามีบางส่วนของเรือได้ต่อขยายไปใต้แนวคันดินทางด้านทิศเหนือ จึงได้เปิดขยายพื้นที่ทางด้านทิศเหนือ มีการวางผังหลุมขุดค้นครอบคลุมตัวเรือ โดยขุดลอกดินออกทีละน้อยเพื่อดูขอบเขตของเรือในแต่ละด้าน และเว้นนระยะระหว่างตัวเรือและผนังหลุมในแต่ละด้าน ด้านละประมาณ ๑ เมตร ส่วน Area 2 เป็นพื้นที่ต่อขยายอยู่ทางด้านทิศเหนือของ Area 1บริเวณนี้สันนิษฐานว่าจะพบเรือส่วนที่เหลือ ทำการวางผังครอบพื้นที่ที่สันนิษฐานว่าเป็นเรือ ขนาดพื้นที่กว้าง ๑๕ เมตร ยาง ๑๕ เมตร โดยประมาณ
 
ผลการขุดศึกษาในเบื้องต้น พบหลักฐานสำคัญ ดังนี้
 
๑. เรือโบราณ เป็นเรือไม้ขนาดใหญ่ ความยาวประมาณ ๒๕ เมตร พบที่ระดับความลึกจากผิวดินประมาณ ๒ เมตร บริเวณกลางลำเรือมีท่อนไม้ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่ สันนิษฐานว่าเป็นไม้ทับกระดูกงูที่หลุดขึ้นมา ความยาว ๑๗.๖๕ เมตร ด้านล่างมีการบากทำเป็นร่องสลับกันสำหรับต่อกงเรือ บริเวณด้านทิศใต้พบท่อนไม้ที่มีลักษณะคล้ายส่วนหัวเรือ ด้านทิศตะวันตกของเรือพบท่อนไม้กลมยาว สันนิษฐานว่าเป็นเสากระโดงเรือ ความยาว ๑๗.๓๗ เซนติเมตร กราบเรือทั้งสองด้านล้มพับไปทางทิศตะวันออก กงเรือและไม้เปลือกเรือด้านทิศตะวันออกหัก ครึ่งอาจเนื่องจากถูกดินกดทับ กราบเรือหรือเปลือกเรือพบว่ามีการเสริมกราบสองชั้นด้วยการเจาะรูแล้วใช้เชือกผูกโยงยึดแผ่นไม้เข้าด้วยกัน เรียกว่า “การหมันเรือ” ซึ่งเป็นเทคนิคการต่อเรือที่เหมือนกับเรืออาหรับโบราณ
 
๒. ภาชนะดินเผา  ภายในเรือพบชิ้นส่วนภาชนะดินเผาเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นภาชนะดินเผาขนาดใหญ่ มีทั้งเครื่องเคลือบที่ผลิตจากแหล่งเตาในประเทศจีน  ภาชนะดินเผาเนื้อดินที่ผลิตจากแหล่งเตาภายในประเทศ  และภาชนะดินเผาบางรูปแบบที่ยังไม่สามารถระบุแหล่งที่มาได้
 
- ภาชนะดินเผาประเภทเนื้อดิน (Earthenware) พบหม้อก้นกลม บริเวณไหล่ทำเป็นสัน ส่วนลำตัวถึงก้นภาชนะทำลวดลายเชือกทาบและขูดขีด หลายใบมีรอยไหม้และคราบเขม่าที่ก้นจากการใช้งาน ภาชนะดินเผาประเภทนี้เป็นภาชนะที่ผลิตในท้องถิ่นมักพบในแหล่งโบราณคดีในวัฒนธรรมทวารวดี อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๖
 
-  ภาชนะดินเผาประเภทเนื้อแกร่ง(Stoneware) พบหลายรูปแบบ ดังนี้
 
๑) พบชิ้นส่วนภาชนะแบบมีเดือยแหลมที่ก้น ลักษณะเป็นภาชนะเนื้อหนา รูปทรงยาวรี ลำตัวป่อง ส่วนก้นกลมมีเดือยแหลม ปากแคบแบบไห บางใบพบว่ามีการเจาะรู จำนวน ๑-๒ รู บริเวณใต้ขอบปากลงมา ไม่พบใบที่สมบูรณ์ ขนาดของภาชนะ เส้นผ่าศูนย์กลาง ๔๕-๕๐ เซนติเมตร ความสูง จากปลายเดือยถึงขอบปากโดยประมาณ ๗๐-๘๐ เซนติเมตร เนื้อภาชนะหนา ๑-๑.๕ เซนติเมตร เนื้อดินละเอียด ผิวเรียบ จากการศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบพบว่ามีลักษณะคล้ายกับภาชนะแบบ Amphoraซึ่งมักพบในแหล่งเรือจมในต่างประเทศ เป็นภาชนะที่ออกแบบเพื่อใช้ในการขนส่งทางทะเล
 
๒) พบชิ้นส่วนภาชนะดินเผาเคลือบสีดำ เนื้อภาชนะละเอียดสีขาว สภาพไม่สมบูรณ์ รูปทรงภาชนะคล้ายไห มีหูจับขนาดใหญ่ จำนวน ๒ หู ขอบปากตั้งสูง บริเวณไหล่ภาชนะมีการตกแต่งด้วยการทำเป็นสันและกดเป็นจุดๆ ส่วนก้นเป็นแบบมีเชิง พบจำนวน ๑ ใบ เบื้องต้นยังไม่ทราบแหล่งที่มา  
 
                   นอกจากนี้ยังพบภาชนะดินเผาที่เนื้อภาชนะคล้ายกับประเภทเนื้อแกร่ง เนื้อภาชนะบาง  พบทั้งเนื้อสีเทาและสีน้ำตาล พบจำนวนมาก ในเบื้องต้นยังไม่ทราบแหล่งที่มา  
 
- ภาชนะดินเผาประเภทเครื่องถ้วยจีนพบ  ๒ ประเภท ดังนี้
 
                   ๑) ประเภทเคลือบสีเขียว  พบเป็นไหขนาดใหญ่ เคลือบสีเขียวใส มีหูในแนวนอนจำนวน ๔-๖ หู บริเวณขอบปากและก้นไม่เคลือบ พบหลายใบ สภาพเกือบสมบูรณ์ ภาชนะรูปแบบนี้พบว่าเป็นภาชนะที่ผลิตจากกลุ่มเตากวนจง อำเภอซินหุ้ย เมืองเจียงเหมิน มณฑลกว่างตง มีอายุอยู่ในปลายสมัยราชวงศ์ถัง ราวกลางถึงปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๔(early to mid 9th century)  
 
                   ๒) ประเภทไม่เคลือบ พบภาชนะดินเผาประเภทไห ผิวภาชนะทั้งด้านนอกและด้านในมีสีน้ำตาลเข้ม คล้ายเคลือบ มีหูจำนวน ๖ หู สลับกันทั้งแนวตั้งและแนวนอน ที่สำคัญพบเชือกสีดำร้อยอยู่ที่หูภาชนะ พบจำนวน ๑ ใบ โดยภาชนะรูปแบบนี้ผลิตจากกลุ่มเตาเฟิงไค เมืองเจ้าฉิ้ง มณฑลกว่างตง มีอายุอยู่ในปลายสมัยราชวงศ์ถัง ราวกลางถึงปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๔
 
๓. โบราณวัตถุที่ทำจากหิน
 
                   - แท่นหินกลมขนาดใหญ่ เนื้อหนามาก รูปทรงภายนอกคล้ายหมวก โดยตรงกลางนูนสูงขึ้นมา ผิวเรียบ ไม่ทราบหน้าที่การใช้งาน สันนิษฐานว่าอาจเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการบดเมล็ดพืชหรือแป้ง สำหรับการบริโภคในเรือ
 
                   - แผ่นหินรูปทรงกลม สภาพไม่สมบูรณ์ พบหักเหลือเพียงครึ่งเดียว เนื้อหินหยาบ สีดำ พบอยู่ในบริเวณใกล้กับปลายของเสากระโดงต้นที่สอง
 
                   - หินบด จำนวน ๒ ชิ้น รูปทรงเป็นแท่งทรงกระบอกยาว เนื้อหินสีเทาเข้ม พบอยู่ภายในตัวเรือ และพบแท่นหินบดทรงสี่เหลี่ยม แบน อีก ๑ ชิ้น
 
๔. อินทรียวัตถุภายในภาชนะหลายใบ พบอินทรียวัตถุหลายประเภท เช่น ลูกมะพร้าว ลูกตาล เมล็ดข้าว ลูกหมาก เมล็ดกัญชง  ชัน กะลามะพร้าวเจาะรู ก้างปลา และกระดูกสัตว์ เป็นต้น
 
ข้อสันนิษฐานเบื้องต้น
 
                   จากการพบกระดูกงูขนาดใหญ่และเสากระโดง แสดงให้เห็นว่าเรือโบราณที่พบในครั้งนี้เป็นเรือขนาดใหญ่ และจากลักษณะเรือที่มีการเสริมกราบสองชั้นด้วยการใช้เชือกผูกโยงยึด เป็นเทคนิคการต่อเรือที่เหมือนกับเรืออาหรับโบราณ และโบราณวัตถุที่พบในเรือ มีทั้งภาชนะที่เป็นบรรจุภัณฑ์และภาชนะที่ใช้สอยในเรือ บางประเภทเป็นภาชนะที่ไม่เคยพบในแหล่งโบราณคดีในประเทศไทย ทั้งยังพบตัวอักษรโบราณบนภาชนะด้วย แสดงให้เห็นว่าเรือลำนี้มีความสำคัญในการศึกษาเรื่องประวัติการเดินเรือในภูมิภาคนี้จากการศึกษารูปแบบเรือและโบราณวัตถุที่พบ สันนิษฐานว่าเรือโบราณลำนี้ น่าจะมีอายุอยู่ในราว พุทธศตวรรษที่ ๑๔ - ๑๕
ตัวอย่างไฟล์แนบ PDF:

(จำนวนผู้เข้าชม 8630 ครั้ง)

Messenger