๑๐๐ เรื่องกรมศิลปากร : นักโบราณคดีทำงานอะไร? สนใจไปดูนักโบราณคดีทำงานขุดค้นในแหล่งโบราณคดีได้หรือไม่?
นักโบราณคดีทำงานอะไร? สนใจไปดูนักโบราณคดีทำงานขุดค้นในแหล่งโบราณคดีได้หรือไม่?
ตอบ นักโบราณคดีทำงานศึกษาค้นคว้าเรื่องราวในอดีตของมนุษย์ โดยการค้นหาหลักฐานทางโบราณคดี เช่น โครงกระดูกมนุษย์ เครื่องมือหิน ภาชนะดินเผา ภาพเขียนสี ฯลฯ ด้วยวิธีการสำรวจและขุดค้นทางโบราณคดี ซึ่งเป็นวิธีการเฉพาะในการทำงานของนักโบราณคดี แล้วนำมาวิเคราะห์ ตีความ เพื่อให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับมนุษย์ วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมในอดีต
งานหลักของนักโบราณคดี คือ
๑. สำรวจและขุดค้นเพื่อหาหลักฐานทางโบราณคดี เช่น ร่องรอยการอยู่อาศัยของมนุษย์ โครงกระดูก เศษภาชนะดินเผา ฯลฯ
๒. นำหลักฐานทางโบราณคดีมาศึกษาวิเคราะห์ และตีความ โดยประมวลความรู้จากหลากหลายสาขาทั้งวิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ศิลปะ มานุษวิทยา ฯลฯ เพื่อให้ทราบถึงเรื่องราวในอดีตของมนุษย์
๓. เผยแพร่ข้อมูลความรู้ทางวิชาการด้านโบราณคดี ทั้งการเขียนเป็นรายงานการสำรวจ ขุดค้น บทความทางวิชาการ จัดแสดงเป็นนิทรรศการหรือจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ ฯลฯ
ผู้สนใจสามารถขอเข้าชมการทำงานของนักโบราณคดีได้ทุกขั้นตอน โดยเฉพาะการทำงานในหลุมขุดค้น ซึ่งบางครั้งจะมีการจัดกิจกรรมให้เยาวชนในพื้นที่ใกล้เคียงได้เรียนรู้การทำงานของนักโบราณคดี โดยให้ทดลองฝึกฝนในพื้นที่จริงร่วมกับนักโบราณคดี
ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ติดต่อสอบถามล่วงหน้าที่สำนักโบราณคดี โทร.๐ ๒๒๘๒ ๔๘๐๑.๐ ๒๒๘๒ ๔๘๔๖ ส่วนภูมิภาค ติดต่อสำนักศิลปากรในพื้นที่รับผิดชอบ
การขุดค้นทางโบราณคดี
๑. วางผังหลุมขุดค้น โดยตีตารางกำหนดพิกัด เลือกพิกัดที่จะทำการขุดค้น เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับผู้ที่ขุดค้นครั้งต่อไป
๒. ลงมือขุดค้นทีละชั้น โดยอาจกำหนดตามชั้นสมมุติ เช่น ขุดชั้นละ ๑๐ เซนติเมตร หรือขุดตามชั้นดินวัฒนธรรม (ชั้นดินที่มีร่องรอยการอยู่อาศัยของมนุษย์) ทีละชั้นจนสิ้นสุดที่ชั้นดินธรรมชาติ (ชั้นดินที่ไม่มีร่องรอยการอยู่อาศัยของมนุษย์)
๓. เมื่อพบหลักฐานทางโบราณคดี เช่น เศษภาชนะดินเผา แกลบข้าว ฯลฯ หรือ ร่องรอยการอยู่อาศัยของมนุษย์ ได้แก่ หลุมเสาบ้าน ฯลฯ ก็จะทำการบันทึกโดยวาดผังตำแหน่งและลักษณะที่พบ พร้อมถ่ายภาพจากนั้นเก็บขึ้นมาเพื่อศึกษาโดยละเอียด
๔. เก็บข้อมูลร่องรอยชั้นดินบริเวณผนังหลุม ซึ่งทำให้สามารถกำหนดชั้นดินวัฒนธรรมได้ชัดเจน
๕. กลบหลุม
๖. นำหลักฐานโบราณคดีที่ได้ มาศึกษาวิเคราะห์โดยละเอียด เมื่อศึกษาเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะต้องนำส่งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เพื่อเก็บรักษาในคลังวัตถุ หรือนำออกจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
๗. เขียนรายงานการสำรวจและขุดค้น เพื่อเป็นหลักฐานและข้อมูลสำหรับผู้ที่จะทำการศึกษาต่อไป
(จำนวนผู้เข้าชม 2829 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม
-
นโยบายเว็บไซต์ |
มาตรฐาน