คนทั่วๆ ไปอาจมีความคิดว่าโบราณคดีเป็นงานน่าสนใจ เพราะมีโอกาสจะเกิด “โชคดี” เนื่องจาก “บังเอิญ” ขุดพบโบราณวัตถุประเภท “แปลกๆ” ซึ่ง “มีอายุเก่าแก่มาก” และ “ไม่เคยพบที่ไหนมาก่อน” ส่วนหลักฐานทางโบราณคดีที่นักโบราณคดีหามาได้นั้น หากมองผ่านๆ แล้วก็คล้ายกับว่านักโบราณคดีนำมาแปลความหมายโดยการใช้เพียงจินตนาการและการสันนิษฐานเท่านั้น
 
          การทำงานของนักโบราณคดีในอดีต มักปรากฏในลักษณะงานที่มีบางส่วนเกี่ยวข้องกับการค้นหาและค้นพบโบราณวัตถุที่ทรงคุณค่า งานที่ทำในพื้นที่กันดารที่นักโบราณคดีนั้นๆ ไม่ค่อยคุ้นเคย จึงทำให้ดูเสมือนว่า งานโบราณคดีมักผสมผสานไปด้วยการเผชิญความยากลำบากและเสี่ยงอันตราย ลักษณะเช่นนี้ และวิธีการทำงานที่ประกอบด้วยการสืบค้นสอบสวนไปทีละขั้นตอน จากเงื่อนงำที่ได้มาทีละน้อยเป็นลำดับ เหมือนกับงานของนักสืบ ซึ่งนักประพันธ์และนักสร้างภาพยนตร์ได้มีการนำเรื่องของนักโบราณคดีมาเสนอในงานของตนจนเป็นที่รู้จักกันดี และทำให้เกิดภาพลักษณ์ว่านักโบราณคดีพึงจะมีบทบาทเช่นนั้น อาทิ นวนิยายเรื่อง “ฆาตกรรมในเมโสโปเตเมีย” (Murder in Mesopotamia) ของแอกาธา คริสตี้ (Agatha Christie) และภาพยนตร์ชุด “อินเดียนา โจนส์” ของสตีเวน สปีลเบิร์ก (Steven Spielberg) ที่มีนักโบราณคดีเป็นตัวเอกของเรื่อง และมักมีเนื้อเรื่องเกี่ยวข้องกับการล่าโบราณวัตถุทรงค่า
 
          แต่ตามความเป็นจริงแล้ว งานโบราณคดีเป็นงานวิเคราะห์เชิงวิทยาศาสตร์ที่ต้องทำตามระเบียบวิธีการวิจัยอย่างเคร่งครัด ทั้งในขณะทำงานสำรวจหรือขุดค้นในภาคสนาม และในการทำงานวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการเฉพาะที่สำนักงาน มิได้เป็นวิชาที่ต้องอาศัย “โชค” และ “ความบังเอิญ” แต่ต้องอาศัย “วิธีการคิด” ที่มีเหตุผลอย่างรอบคอบ และมีหลักวิชาการเป็นกรอบชี้นำความคิดและวิธีการค้นคว้า ส่วนการแปลความหมายหลักฐานเพื่อให้เกิดความเข้าใจว่า โบราณวัตถุชิ้นต่างๆ มีอายุเท่าไรและมีความหมายอย่างไรเกี่ยวกับประวัติของมนุษยชาตินั้น จัดได้ว่าเป็นงานที่ยากลำบากที่สุดในกระบวนการศึกษาทางโบราณคดี
 
          แม้ว่างานโบราณคดีในนวนิยายและภาพยนตร์จะแตกต่างจากความเป็นจริงอย่างมาก แต่ก็สะท้อนให้เห็นข้อเท็จจริงประการสำคัญประการหนึ่ง คือ โบราณคดีนั้นเป็นงาน “ค้นหา” ที่น่าตื่นเต้น ส่วนสิ่งที่นักโบราณคดีค้นหานั้นมิใช่ “สิ่งของและเรื่องราวที่น่าตื่นเต้น หากแต่เป็น “ความรู้” เกี่ยวกับตัวของเราเองในฐานะที่เป็นมนุษย์ และความรู้เกี่ยวกับอดีตของมนุษยชาติ
 
          โบราณคดีคืออะไร
 
          โบราณคดี คือ ศาสตร์ของการใช้หลักวิชาการและวิธีการทั้งทางวิทยาศาสตร์และศิลปะมาผสมผสานกัน ใช้ศึกษา ค้นคว้าเพื่อให้เกิดความรู้และความเข้าใจในเรื่องเกี่ยวกับตัวของมนุษย์ในอดีต รวมทั้งสังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมของมนุษย์เมื่อครั้งอดีต หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งได้ว่า โบราณคดี คือ การศึกษาให้เข้าใจเรื่องราวในทุดด้านของมนุษย์ในอดีต รวมทั้งสิ่งแวดล้อมทุกประเภทที่สัมพันธ์กับมนุษย์ในอดีต สิ่งแวดล้อมทุกประเภทตามที่กล่าวนั้น หมายถึง สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ ได้แก่ ดิน หิน ป่าไม้ ภูเขา ถ้ำ แหล่งน้ำ และสิ่งแวดล้อมทางวัฒนธรรม เช่น ชุมชน สังคม ไร่ นา สวน เป็นต้น ที่สัมพันธ์กับชุมชนในสมัยอดีตแห่งที่นักโบราณคดีคนหนึ่งกำลังเน้นศึกษา
 
          นักโบราณคดีศึกษาอะไร
 
          นักโบราณคดีศึกษาเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ ดังนี้
 
          ๑. คนสมัยโบราณ
 
          ๒. สิ่งที่คนสมัยโบราณสร้าง ซึ่งเรียกโดยรวมว่า “วัฒนธรรม” และแบ่งย่อยได้เป็น ๒ ประเภท คือ วัฒนธรรมที่ปรากฏเป็นรูปลักษณ์ (Tangible Culture) ได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย รวมทั้งสิ่งก่อสร้างเพื่อกิจกรรมด้านต่างๆ ยารักษาโรค เครื่องมือใช้สอย และวัฒนธรรมที่ไม่ปรากฏเป็นรูปลักษณ์ (Intangible Culture) เช่น ศาสนา ความ เชื่อ ประเพณี ดนตรี เป็นต้น
 
          ๓. ระบบสิ่งแวดล้อมสมัยโบราณ ทั้งที่เกิดตามธรรมชาติ ได้แก่ ป่าไม้ แม่น้ำ แร่ธาตุ ดิน และเกิดโดยคนสร้างขึ้น เช่น หมู่บ้าน ไร่ นา สวน คูเมือง คลอง ในการศึกษาและวิจัยทางโบราณคดีนั้น นักโบราณคดีมักพยายามหาความรู้ว่าในสมัยโบราณนั้นที่แหล่งโบราณคดีที่กำลังศึกษา เกิดเหตุการณ์หรือปรากฏการณ์ทั้งทางธรรมชาติ และทางวัฒนธรรมอะไรบ้าง เกิดขึ้นที่ใด เกิดขึ้นได้อย่างไร เกิดขึ้นในลักษณะอย่างไร เหตุใดจึงเกิดขึ้น มีเหตุการณ์หรือปรากฏการณ์ใดบ้างที่เกิดขึ้นตามมาหลังจากการเกิดเหตุการณ์หรือปรากฏการณ์นั้น
 
 ที่มาของข้อมูล : หนังสือโบราณคดีสำหรับเยาวชน จัดพิมพ์โดยสำนักโบราณคดี กรมศิลปากร

(จำนวนผู้เข้าชม 47555 ครั้ง)

Messenger