อลังการสถาปัตยกรรมตามพระราชดำริ
          สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เอกอัครราชูปถัมภกมรดกวัฒนธรรมไทย ทรงตระหนักในความสำคัญของงานสถาปัตยกรรมไทย เมื่อพุทธศักราช ๒๕๒๕ พระองค์มีพระราชดำริให้สร้างพิพิธภัณฑ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อจัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุที่มีค่าจากวัดพระศรีรัตนศาสดาราม       และเป็นแหล่งค้นคว้าอ้างอิงเกี่ยวกับการสร้างและการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง ความว่า
 
                   ...จุดประสงค์ของการสร้างพิพิธภัณฑ์นี้ มิใช่เป็นสถานที่สำหรับตั้งแสดงของมีค่าเท่านั้น   แต่ต้องการให้เป็นแหล่งค้นคว้าอ้างอิง เป็นตำราเกี่ยวกับวิวัฒนาการของการสร้างวัด โดยใช้    แบบจำลอง (Model) ภาพสเก็ตซ์ และภาพถ่ายสมัยเก่าแสดงให้เห็นเทคนิคของการสร้าง และ       วัสดุที่ใช้ในแต่ละยุคแต่ละสมัยแสดงการเปลี่ยนแปลงของวิธีการช่าง และการก่อสร้างในคราว ปฏิสังขรณ์ครั้งสำคัญ ๆ ...การจัดพิพิธภัณฑ์นี้...ต้องการให้จัดให้ดีถูกต้องตามหลัก เป็นที่สั่ง         สอนวิชาการด้านสถาปัตยกรรม จิตรกรรม ประติมากรรมไทยแก่ผู้สนใจได้...
 
          พระมหากรุณาธิคุณที่ทรงริเริ่มให้นำองค์ความรู้ในเชิงช่างชั้นสูงของไทย และโบราณวัตถุที่เป็นส่วนประกอบสถาปัตยกรรมที่ได้จากการบูรณะมาเป็นสื่อการเรียนรู้เกี่ยวกับสถาปัตยกรรมไทย นับว่าเป็นคุณประโยชน์อย่างยิ่ง พระราชดำรัสและพระราชวินิจฉัยเกี่ยวกับงานด้านสถาปัตยกรรมเปรียบเสมือนเครื่องชี้นำให้สำนักสถาปัตยกรรมดำเนินงานตามภารกิจในการอนุรักษ์ และสร้างสรรค์งานด้านสถาปัตยกรรม มัณฑนศิลป์ และวิศวกรรม ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม การเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดโครงการ เป็นพระมหากรุณาธิคุณที่สร้างความปลาบปลื้มใจแก่ผู้ปฏิบัติงานอย่างหาที่สุดมิได้ สำนักสถาปัตยกรรมได้น้อมนำแนวพระราชดำริมาเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานเพื่อสนองวัตถุประสงค์ที่สำคัญในด้านต่าง ๆ ดังนี้
 
           ๑.      การสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมร่วมสมัยเพื่อการอนุรักษ์และเผยแพร่มรดกวัฒนธรรมของชาติ
 
           ๒.      การอนุรักษ์และสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมไทยเพื่อธำรงรักษาโบราณราชประเพณี และสืบทอดพระพุทธศาสนา
 
           ๓.      การใช้สถาปัตยกรรมเป็นสื่อประชาสัมพันธ์เอกลักษณ์ไทย                                                                                                      
 
๑. การสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมร่วมสมัยเพื่อการอนุรักษ์และเผยแพร่มรดกวัฒนธรรมของชาติ
 
                   กรมศิลปากรสนองแนวพระราชดำริในการจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติประจำเมือง         เพื่อการอนุรักษ์และเรียนรู้มรดกศิลปวัฒนธรรมที่สะท้อนเรื่องราวและเอกลักษณ์ของท้องถิ่น จัดทำโครงการปรับปรุงและยกระดับมาตรฐานของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สำนักสถาปัตยกรรมได้รับมอบหมายให้ออกแบบอาคารใหม่ ปรับปรุงอาคารของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในส่วนภูมิภาคบางแห่ง และออกแบบการจัดแสดงตามแนวพระราชดำริ “...ในการจัดแสดง...จะต้องให้คนดูเข้าใจง่าย โดยไม่คิดว่าทุกคนต้องรู้ดีอยู่แล้ว...” รวมทั้งออกแบบอาคารคลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ให้เป็น“...คลังพิพิธภัณฑ์ขนาดใหญ่เพื่อจัดของให้เป็นระบบและใช้เป็นสถานที่ศึกษาเปรียบเทียบโบราณวัตถุได้ คลังพิพิธภัณฑ์ต้องเก็บรักษาโบราณวัตถุจำนวนมาก” และเป็น “...ศูนย์การศึกษา (Study Collection)…” ที่มีประโยชน์ใช้สอยเพื่อการศึกษาตามแนวพระราชดำริอย่างแท้จริง
 
                   อาคารคลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ  เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ   สยามบรมราชกุมารี  ในโอกาสฉลองพระชนมายุ ๕ รอบ ๒ เมษายน ๒๕๕๘ มีแนวความคิดในการออกแบบ ให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านการจัดเก็บโบราณวัตถุและศิลปวัตถุที่ถูกต้องตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กที่มั่นคงแข็งแรง สูง ๓ ชั้น ยกพื้นสูง มีระบบรักษาความปลอดภัยที่ทันสมัย มีพื้นที่กว้างขวาง แบ่งเป็นสำนักงาน ห้องคลังขนาดใหญ่ สามารถรองรับโบราณวัตถุที่จะเพิ่มขึ้นใน ๒๐ ปีข้างหน้าได้ และส่วนบริการที่ให้ผู้เข้าชมเป็นหมู่คณะ อาคารคลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ  จะจัดสร้างใกล้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนภิเษก อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี
 
 
๒. การอนุรักษ์และสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมไทยเพื่อธำรงรักษาโบราณราชประเพณี และสืบทอดพระพุทธศาสนา
 
สำนักสถาปัตยกรรมได้รับมอบหมายให้ดำเนินการอนุรักษ์และสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมไทย ซึ่งมีแบบแผนการสร้างตามคติโบราณที่สืบทอดองค์ความรู้ทางสถาปัตยกรรมไทยชั้นสูง และบูรณการศิลปกรรม   หลายแขนง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดนิทรรศการพิเศษเนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย พุมธศักราช ๒๕๓๙ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร สำนักสถาปัตยกรรม จึงได้กำหนดแนวความคิดในการบูรณะและออกแบบสร้างสรรค์ โครงการที่สำคัญหลายโครงการ ดังนี้
 
                   ๒.๑ งานออกแบบพระเมรุและอาคารประกอบในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี
 
                   เมื่อพุทธศักราช ๒๕๕๔ สำนักสถาปัตยกรรมดำเนินการออกแบบพระเมรุและอาคารประกอบในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ซึ่งมีแนวความคิดในการออกแบบพระเมรุเพื่อประกอบพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพพระบรมวงศ์ชั้นสูง   มีองค์ประกอบตามคติการสร้างสิ่งก่อสร้างตามโบราณราชประเพณี และเป็นไปตามพระอิสริยยศ พระเมรุ เป็นอาคารทรงปราสาทยอดมณฑป หลังคาจัตุรมุขซ้อน ๒ ชั้น ตั้งอยู่บนฐานชาลาใหญ่ ความสูงจากฐานชาลาถึงยอดฉัตร สูง ๓๕.๕๙ เมตร เครื่องยอดมีชั้นเชิงกลอน ๕ ชั้น แต่ละชั้นมีซุ้มบันแถลงซ้อน ๒ ชั้น มุมหลังคามีนาคปัก ส่วนบนเป็นองค์ระฆังรับบัลลังก์ เหนือบัลลังก์เป็นชุดบัวกลุ่ม ๕ ชั้น ปลียอดมีเม็ดน้ำค้าง เหนือสุดปักสัปตปฎลเศวตฉัตร หน้าบันทั้งสี่ประดับอักษรพระนาม “พร” โครงสีของพระเมรุโดยรวมเป็นสีทองและสีชมพู ตามสีวันพระราชสมภพ คือวันอังคาร มุขหน้าด้านทิศตะวันตกเป็นทางเสด็จพระราชดำเนิน มุขหน้าด้านทิศเหนือมีสะพานเกรินสำหรับอัญเชิญพระโกศขึ้นประดิษฐานเหนือพระจิตกาธานภายในพระเมรุ บริเวณฐานชาลาทุกด้านมีบันไดขึ้นลง รายล้อมด้วยรั้วราชวัติ ฉัตร โคม และเทวดาอัญเชิญฉัตรประกอบพระอิสริยยศ ภูมิทัศน์รอบพระเมรุจำลองป่าหิมพานต์ มีเขามอ ไม้ดัด และสัตว์หิมพานต์นานาชนิด
 
 
 
๒.๒ โครงการบูรณปฏิสังขรณ์เขตพุทธาวาสและพื้นที่ริมคลองมหานาค วัดบรมนิวาสราชวรวิหารกรุงเทพมหานคร 
 
สำนักสถาปัตยกรรมดำเนินโครงการอนุรักษ์และสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมไทย เพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนาอย่างต่อเนื่อง ในพุทธศักราช ๒๕๕๗ มีโครงการบูรณปฏิสังขรณ์วัดบรมนิวาสราชวรวิหาร พระอารามที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาขึ้นเพื่อให้เป็นวัดของคณะสงฆ์ฝ่ายอรัญวาสี มีแนวความคิดในการฟื้นฟูพระอารามที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาขึ้นเพื่อให้เป็นวัดของคณะสงฆ์ฝ่ายอรัญวาสี ให้คืนสู่สภาพเมื่อแรกสร้างในพุทธศักราช ๒๓๗๗ เพื่อให้เห็นลักษณะของรูปแบบสถาปัตยกรรมตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ถ่ายทอดปรัชญาทางพระพุทธศาสนาอันลึกซึ้ง ความรู้ใหม่ทางวิทยาศาสตร์ สังคม และการปกครองสู่งานสถาปัตยกรรมได้อย่างกลมกลืน มีการบูรณปฏิสังขรณ์ เขตพุทธาวาส เช่น พระอุโบสถ พระเจดีย์ หอระฆัง และพื้นที่ริมคลองมหานาค เช่นศาลาท่าน้ำ ทางเดินโบราณและโพธิมัลลกะ
 
                    เนื่องจากในอดีตการเดินทางมายังวัดบรมนิวาสใช้เส้นทางสัญจรทางน้ำ บริเวณริมน้ำใกล้ต้นโพธิ์เคยมีศาลาตรีมุขและศาลาท่าน้ำ ได้ศึกษาหลักฐานเดิม แผนที่เก่าและขุดตรวจสอบทางโบราณคดี พบฐานเดิมของสิ่งก่อสร้างและทางเดินเชื่อมจากศาลาท่าน้ำไปยังเขตพุทธาวาสจึงได้จัดสร้างศาลาโถงเป็นสถาปัตยกรรมไทยแบบตรีมุข และบูรณะทางเดินโบราณโดยทำผังตามแนวเดิมรวมทั้งปรับระดับและนำหินเดิมกลับมาปูใหม่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาในพิธีสมโภชวัดบรมนิวาสราชวรวิหาร ในโอกาสครบ ๑๘๐ ปีแห่งการสถาปนาวัดบรมนิวาสราชวรวิหาร เมื่อวันศุกร์ที่ ๑๙ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗
 
 
๓. การใช้สถาปัตยกรรมไทยเป็นสื่อประชาสัมพันธ์เอกลักษณ์ไทย
 
                   สำนักสถาปัตยกรรมได้ดำเนินการออกแบบศาลาไทยเพื่อเป็นสื่อประชาสัมพันธ์เอกลักษณ์ไทย เป็นอาคารที่มีขนาดไม่ใหญ่แต่แสดงเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมไทยอย่างเด่นชัด รูปแบบศาลาไทยมีหลายลักษณะ มีรูปทรงแบบจั่ว แบบตรีมุข และแบบจตุรมุข เมื่อสร้างไว้กลางแจ้งตามสถานที่สาธารณะ จะโดดเด่นด้วยลักษณะรูปทรง องค์ประกอบ และรายละเอียดที่งดงามประณีต ตั้งแต่ชั้นฐาน ตัวเรือน และเครื่องบน แสดงถึงความคิดและความเชี่ยวชาญเชิงช่างที่สร้างสมและสืบทอดกันมาหลายร้อยปี นอกจากเป็นสัญลักษณ์อันสง่างามให้ชื่นชมแล้วยังต้อนรับผู้คนให้เข้ามาใช้สอยเพื่อการพักผ่อน สะท้อนอัธยาศัยของคนไทยที่ต้อนรับผู้มาเยือน  อย่างมีไมตรี
 
                   การสร้างศาลาไทยในต่างประเทศมีมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้สร้างศาลาไทยเป็นแห่งแรก ณ เมืองย่างกุ้ง ประเทศเมียนมาร์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งโปรดให้สร้างศาลาไทย เพื่อพระราชทานให้เมืองบาด ฮอมบวร์กนำไปตั้งครอบบ่อน้ำพุ “คิงจุฬาลงกรณ์” ณ เมืองบาด ฮอมบวร์ก สาธารณรัฐเยอรมนี ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มีความร่วมมือระหว่างประเทศในการสร้างศาลาไทยเพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี และเพื่อเฉลิมฉลองวาระสำคัญต่าง ๆ หลายแห่ง ทั้งในทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกา 
 
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานในพิธีเปิดและทอดพระเนตรศาลาไทยในต่างประเทศ และพระราชทานแนวพระราชดำริให้กระทรวงวัฒนธรรมจัดสร้างศาลาไทยในต่างประเทศ ศาลาไทยที่สำนักสถาปัตยกรรมออกแบบมีลักษณะเฉพาะที่ผสมผสานศิลปะ ของประเทศที่ตั้งของศาลาไทยด้วย จึงมีเอกลักษณ์ที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและประเทศนั้น ๆ และเป็นสัญลักษณ์ไทยในต่างแดนที่สง่างาม ดังศาลาไทยที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้  
 
                    ๑. ศาลาไทยเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ณ เมืองโลซานน์ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
 
                    เมื่อพุทธศักราช ๒๕๕๐ รัฐบาลไทยและเทศบาลเมืองโลซานน์ ร่วมมือกันจัดสร้างศาลาไทย เพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี พุทธศักราช ๒๕๔๙ และฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศไทยและประเทศสวิตเซอร์แลนด์ครบ ๗๕ ปี ตั้งอยู่ที่สวนสาธารณะเดอน็องตูสำนักสถาปัตยกรรมมีแนวความคิดในออกแบบศาลาไทยเพื่อถวายพระเกียรติยศพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นศาลาทรงจตุรมุข มีเครื่องยอดทรงมณฑปซึ่งแสดงฐานานุศักดิ์ทางสถาปัตยกรรมไทยชั้นสูงสุด
 
                    ศาลาไทยที่สร้างนี้มีมุขแบบมุขทะลุขื่อหรือมุขชะโงกทั้งสี่ด้าน หลังคาซ้อนชั้น มุงกระเบื้องหางมน เครื่องยอดทรงมณฑปปิดทองประดับกระจก ศาลากว้าง ๕.๓๐ เมตร ยาว ๕.๓๐ เมตร มุขทั้งสี่ด้านมีความกว้าง ๓.๐๐ เมตร ตั้งอยู่บนฐานปัทม์หินอ่อน มีบันไดและพนักพลสิงห์กรุหินอ่อน เสาแปดเหลี่ยมเขียนลายรดน้ำ บัวหัวเสาและคันทวยไม้แกะสลักปิดทองประดับกระจก มีซุ้มหน้านางไม้แกะสลักปิดทองประดับกระจก ราวกันตกลูกฟักไม้ลายแก้วชิงดวง ประดับเสาหัวเม็ดทรงมัณฑ์ ชั้นหลังคาหน้าจั่ว หลังคาชั้นซ้อนและหลังคาปีกนกประดับด้วยเครื่องลำยองชนิดช่อฟ้า ใบระกาและหางหงส์ไม้ปิดทองประดับกระจก หลังคาชั้นกันสาดประดับด้วยนาคปักไม้ปิดทอง หน้าบันแต่ละด้านแกะสลักลาย คือ หน้าบันด้านหน้าประดิษฐานลวดลายพระปรมาภิไธยภ.ป.ร.ด้านซ้ายประดิษฐานพระนามาภิไธย อ.ป.ร. หน้าบันด้านขวาประดับด้วยพระนามาภิไธย ส.ว. ประจำสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หน้าบันด้านหลังประดับตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ  ฝ้าไขราและฝ้าเพดานไม้ทาสีแดงลายฉลุปิดทอง ดาวเพดาน ค้างคาวมุมและคิ้วไม้ปิดทองประดับกระจก
 
 
                   ๒.  ศาลาไทย ณ กรุงลิสบอน สาธารณรัฐโปรตุเกส
 
                   ศาลาไทยเนื่องในงานเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตไทย – โปรตุเกส ครบรอบ ๕๐๐ ปีสร้างในสวนสาธารณะเบเล็ง เป็นศาลาทรงจตุรมุข มีแนวความคิดในการออกแบบตามลักษณะสถาปัตยกรรม  สมัยอยุธยา เพื่อย้อนระลึกถึงการสถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างไทยและโปรตุเกสที่เริ่มในสมัยอยุธยา โปรตุเกสเป็นชาวตะวันตกชาติแรกที่เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรี ศาลาโถงมีหลังคาซ้อนลดชั้น ประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบันประดับสัญลักษณ์ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย – โปรตุเกส ครบรอบ ๕๐๐ ปี ล้อมด้วยลายดอกพุดตาน ปิดทองลงยาสี ซุ้มคูหาและราวกันตกมีลักษณะพิเศษที่ผสมผสานสถาปัตยกรรมไทยและสถาปัตยกรรมแบบ Manueline ของโปรตุเกสในช่วงต้นศตวรรษที่ ๑๖ เสาแปดเหลี่ยมลายพุ่มข้าวบิณฑ์ก้านแย่ง คันทวย    แบบคดกริช คานไม้ปิดทองลายรดน้ำ ฝ้าเพดานมีดาวเพดานปิดทองประดับกระจก พื้นปูด้วยหินแกรนิต 
 
 
 ที่มาข้อมูล : หนังสือสิปปธัช : พระผู้เป็นธงชัยแห่งสรรพศิลป์ (จัดพิมพ์เนื่องในโอกาส ๑๐๔ ปี แห่งการสถาปนากรมศิลปากร)

(จำนวนผู้เข้าชม 5577 ครั้ง)

Messenger