น้ำพระราชหฤทัยห่วงใยอาทรบุคลากรและงานจดหมายเหตุ
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงสนพระราชหฤทัยงานด้านจดหมายเหตุมาตั้งแต่ครั้งยังทรงศึกษา ณ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในสาขาวิชาเอกประวัติศาสตร์ และทรงให้ความสำคัญกับเอกสารจดหมายเหตุในฐานะเป็นเอกสารชั้นต้นที่สะท้อนถึงภารกิจของหน่วยงานเจ้าของเอกสาร ซึ่งสามารถนำไปอ้างอิงวิเคราะห์เชิงประวัติศาสตร์ได้ในทุกสาขาวิชา
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีสายพระเนตรที่กว้างไกล พระองค์มีพระราชปรารภถึงความจำเป็นที่ควรจัดให้มีหลักสูตรการศึกษาวิชาการจดหมายเหตุในระดับอุดมศึกษา เพื่อพัฒนาวิชาชีพจดหมายเหตุในประเทศไทยให้เจริญก้าวหน้า เป็นที่ยอมรับและเชื่อถือจากนานาอารยประเทศ อีกทั้งเพื่อปลูกฝังให้ประเทศไทยได้รู้จักงานจดหมายเหตุ เข้าใจถึงคุณค่าและมีความหวงแหนเอกสารประเภทต่างๆ ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์และมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ ในชั้นแรกหอจดหมายเหตุแห่งชาติได้มอบหมายให้นักวิชาการที่มีความรู้และประสบการณ์ในงานจดหมายเหตุ ร่วมกันจัดทำเอกสารเรื่อง “วิชาการพื้นฐานการบริหารและจัดการจดหมายเหตุ” เพื่อเป็นเอกสารทางวิชาการสำหรับผู้ปฏิบัติงานจดหมายเหตุและผู้สนใจทั่วไป และได้นำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย พร้อมทั้งจัดทำคู่มือเทคนิควิธีเกี่ยวกับกระบวนงานจดหมายเหตุ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องออกเผยแพร่อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ หอจดหมายเหตุแห่งชาติยังจัดหลักสูตรการฝึกอบรมความรู้ด้านกระบวนงานจดหมายเหตุ ทั้งระยะสั้นและระยะยาวตามความประสงค์ของผู้ขอรับการฝึกอบรม ทั้งที่เป็นหน่วยงาน ผู้ฝึกประสบการณ์วิชาชีพ และผู้สนใจทั่วไปด้วย
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงสนพระราชหฤทัยและทรงให้ความสำคัญในขั้นตอนการซ่อมอนุรักษ์เอกสารจดหมายเหตุมากเป็นพิเศษ เพราะทรงเข้าพระราชหฤทัยในธรรมชาติของเอกสารจดหมายเหตุซึ่งเป็นของเก่า และมีอยู่เพียงชุดเดียวหรือมีเพียงจำนวนจำกัด แต่ต้องเก็บรักษาให้คงอยู่ตลอดไป จึงโปรดให้ผู้มีหน้าที่ดูแลหอพระสมุดส่วนพระองค์ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน มาเรียนวิธีซ่อมอนุรักษ์เอกสาร และหนังสือส่วนพระองค์อย่างง่ายๆ เพื่อนำความรู้ไปใช้ที่หอพระสมุดดังกล่าว ทรงแนะนำให้บรรณารักษ์หอสมุดโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า มาเรียนวิธีซ่อมอนุรักษ์เอกสารที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ รวมทั้งทรงนำนักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้ามาศึกษาดูงานที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติและหอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงไว้วางพระราชหฤทัยให้หอจดหมายเหตุแห่งชาติดำเนินการอนุรักษ์และซ่อมสงวนรักษาแผนที่โบราณในหอพระสมุดส่วนพระองค์ และพระราชทานความเห็นในการซ่อมเอกสารของหอจดหมายเหตุแห่งชาติว่า “หนังสือซ่อมแล้วทำให้เอกสารอ่านยาก เพราะกระดาษสาใช้เสริมความแข็งแรงของเอกสารเป็นกระดาษสาที่ผลิตในประเทศ กระดาษสามีความหนากว่ากระดาษสาของญี่ปุ่น แต่กระดาษสาของญี่ปุ่นมีราคาสูง”หอจดหมายเหตุแห่งชาติจึงได้ประสานกับบริษัทผู้ผลิตกระดาษสาให้พัฒนาปรับปรุงการผลิตกระดาษสาให้บางลงมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ อีกทั้งให้มีสีหลากหลาย เพื่อให้พนักงานซ่อมเอกสารสามารถเลือกสีที่ใกล้เคียงกับสีของกระดาษของเอกสารที่จะซ่อมได้อย่างเหมาะสม ซึ่งจะช่วยให้เอกสารที่ซ่อมแล้วอ่านได้ง่ายขึ้น และนำตัวอย่างกระดาษสาไทยไปให้หน่วยงานที่ผลิตกระดาษสาสำหรับการซ่อมอนุรักษ์ของญี่ปุ่นวิเคราะห์ ซึ่งทางหน่วยงานของญี่ปุ่นชื่นชมบริษัทผลิตกระดาษสาของไทยที่ผลิตกระดาษสาได้บางมาก แม้จะยังไม่เหนียวเท่ากระดาษสาของญี่ปุ่น เพราะกระดาษสาของญี่ปุ่นมีเยื่อกระดาษมากและยาวกว่ากระดาษสาของไทย ซึ่งอาจเนื่องมาจากดินที่ปลูกต้นปอสาที่ใช้ผลิต
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระมหากรุณาเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดนิทรรศการของหอจดหมายเหตุแห่งชาติไม่น้อยกว่า ๑๑ ครั้ง ซึ่งทุกครั้งจะทรงตรัสถามถึงความเป็นอยู่ สุขภาพพลานามัยของเจ้าหน้าที่ของหอจดหมายเหตุแห่งชาติด้วยความห่วงใย และมีพระเมตตาให้คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล จัดทำโครงการตรวจและรักษาสุขภาพเจ้าหน้าที่ของหอจดหมายเหตุแห่งชาติ เมื่อพุทธศักราช ๒๕๓๐ นอกจากนี้ ในการเสด็จพระราชดำเนินมาแต่ละครั้งได้มีพระราชดำริพร้อมคำแนะนำในการปฏิบัติงานเพื่อพัฒนางานจดหมายเหตุอยู่เสมอ
หอจดหมายเหตุแห่งชาติได้สนองพระราชดำริในด้านนี้ โดยได้จัดทำโครงการอ่านภาพเก่า โครงการประกวดภาพเก่า โครงการอวดภาพเก่า โครงการรวบรวมและรับบริจาคภาพจากบุคคลสำคัญ รวมทั้งการรับมอบภาพจากการประกวดภาพถ่ายของหน่วยงานต่างๆ
นอกจากเสด็จพระราชดำเนินเปิดนิทรรศการของหอจดหมายเหตุแห่งชาติแล้ว สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ และทรงประกอบพิธีเปิดหอจดหมายเหตุแห่งชาติในส่วนภูมิภาค เช่น ทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์หอจดหมายเหตุนายรัฐมนตรี พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ นครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ ๙ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๒๙ ทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ เชียงใหม่ เมื่อวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๓๖ ทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิม พระเกียรติฯ ตรัง เมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๓๖ ทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ สงขลา เมื่อวันที่ ๑๘ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๓๖ ทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ ยะลา เมื่อวันที่ ๒๒ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๓๖ และทรงประกอบพิธีเปิดหอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๓
ในการเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะทรงกำหนดให้มีการศึกษาดูงานด้านจดหมายเหตุในหมายกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินในแต่ละครั้งด้วยเสมอ ซึ่งเป็นการขยายองค์ความรู้ด้านจดหมายเหตุในพระองค์ และพระราชทานพระราชดำริในการพัฒนางานจดหมายเหตุในประเทศไทย อาทิ ทรงเสนอให้จัดทำโครงการรวบรวมศึกษาเอกสารที่เกี่ยวกับประเทศไทยในต่างประเทศ หอจดหมายเหตุแห่งชาติได้สนองแนวพระราชดำริในเรื่องนี้ ซึ่งในปัจจุบัน หอจดหมายเหตุแห่งชาติมีเอกสารที่เกี่ยวกับประเทศไทยจากประเทศต่างๆ อาทิ ประเทศออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา อังกฤษ โปรตุเกส ฝรั่งเศส เดนมาร์ก เบลเยี่ยม ไว้ให้บริการค้นคว้า
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงสนับสนุนและพระราชทานคำแนะนำในการปฏิบัติงานด้านจดหมายเหตุเสมอมา ซึ่งบรรดาข้าราชการและบุคลากรผู้ปฏิบัติงานทุกคนของหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และซาบซึ้งในน้ำพระราชหฤทัยที่พระองค์ทรงห่วงใยอาทรบุคลากรและงานจดหมายเหตุ บุคลากรของ หอจดหมายเหตุแห่งชาติทุกคนจึงร่วมใจกันมุ่งมั่นพัฒนาการบริหารจัดการงานจดหมายเหตุ การปฏิบัติงาน รวมทั้งให้การบริการเอกสารจดหมายเหตุให้ผู้มาใช้บริการได้รับความพึงพอใจและได้รับประโยชน์สูงสุด เพื่อสนองพระมหากรุณาธิคุณอย่างเต็มกำลังความสามารถตลอดไป
หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สงขลา
หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สงขลา เกิดขึ้นจากกรมศิลปากรขยายงานหอจดหมายเหตุแห่งชาติออกไปสู่ส่วนภูมิภาคทั้ง ๑๒ เขตการศึกษา การจัดตั้งหอจดหมายเหตุแห่งชาติในเขตการศึกษาที่ ๓ ซึ่งประกอบด้วย จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา กรมศิลปากรพิจารณาว่าควรจัดตั้งขึ้นที่จังหวัดสงขลา และได้รับความร่วมมือจากนายกเทศมนตรีเทศบาลนครหาดใหญ่ (นายเคร่ง สุวรรณวงศ์) อนุญาตให้ใช้ที่ดินในบริเวณสวนสาธารณะเทศบาลนครหาดใหญ่ จำนวน ๓ ไร่ เพื่อก่อสร้างอาคารหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ในการนี้ กรมศิลปากรได้รับพระมหากรุณาจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้ใช้ชื่ออาคารนี้ว่า “หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สงขลา” เมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๓๖ ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์อาคารแห่งนี้เมื่อวันที่ ๑๘ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๓๖
หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สงขลาปฏิบัติงานตามภารกิจหลักในการรับมอบ ติดตาม เเสวงหา และประเมินคุณค่าเพื่อการจัดเก็บ พัฒนา อนุรักษ์ เผยเเพร่เเละให้บริการเอกสารจดหมายเหตุประเภทต่าง ๆ บันทึกเหตุการณ์สำคัญของชาติ ภารกิจดังกล่าว หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ สงขลา ได้น้อมนำพระราชดำรัสของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มาใช้ปฏิบัติงาน ดังกระแสพระราชดำรัสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานเกี่ยวกับการศึกษาค้นคว้าข้อมูลจากภาพถ่ายเก่าและจัดทำคำบรรยายภาพที่เก็บรักษาเป็นหลักฐานด้านจดหมายเหตุในพิธีเปิดนิทรรศการ เรื่อง “สังคมไทยในสมัยรัชกาลที่ ๕” เมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๒๑ ความว่า
“การจัดนิทรรศการอย่างนี้เป็นผลดีแน่ ภาพจดหมายเหตุจะสามารถเล่าเรื่องต่างๆ ได้เอง โดยไม่ต้องอาศัยคำบรรยายมากนัก ขอแสดงความคิดเห็นบางประการ (เข้าใจว่าเจ้าหน้าที่ คงกำลังกระทำอยู่บ้างแล้ว)ถ้าทำได้ควรจะคอยสอดส่องหาภาพต่างๆ ในอดีตทั้งใกล้และไกลมาเก็บไว้อีก พยายามขอจากคนที่มีภาพ ถ้าเจ้าของไม่มอบให้เป็นสมบัติของหอจดหมายเหตุแห่งชาติก็พยายามขอยืมมาก๊อบปี้เอาไว้ ค่อยๆ ศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับภาพให้ดีที่สุด โดยค้นจากเอกสารและสอบถามจากผู้รู้เรื่องหลายๆ ท่าน สอบทานกัน”
ที่มาข้อมูล : หนังสือสิปปธัช : พระผู้เป็นธงชัยแห่งสรรพศิลป์ (จัดพิมพ์เนื่องในโอกาส ๑๐๔ ปี แห่งการสถาปนากรมศิลปากร)
(จำนวนผู้เข้าชม 3473 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม
-
นโยบายเว็บไซต์ |
มาตรฐาน