“สุดาวรรณ” เผยกรมศิลป์ เนรมิต ละครตำนานรักภูพระบาท "อุสา - บารส" ยกทัพโขน ชุดศึกกุมภกรรณ ตอน “สุครีพถอนต้นรัง”
“สุดาวรรณ” เผยกรมศิลป์ เนรมิต ละครตำนานรักภูพระบาท "อุสา - บารส"
ยกทัพโขน ชุดศึกกุมภกรรณ ตอน “สุครีพถอนต้นรัง”
เฉลิมฉลองมรดกโลก “ภูพระบาท” รับใบประกาศรับรองเป็นทางการ
ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั่วโลก เยือนอุดรธานีเมือง 2 มรดกโลก
           นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เปิดเผยว่า อยากเชิญชวนคนไทยร่วมพิธีฉลองมรดกโลกภูพระบาท ในโอกาสที่ได้รับประกาศรับรองการขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมอย่างเป็นทางการจากองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 ณ อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จังหวัดอุดรธานี ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมศิลปากร บูรณาการร่วมกับกรมการศาสนา จังหวัดอุดรธานี จัดพิธีฉลองมรดกโลกภูพระบาท โดยจะมีการติดตั้งตราสัญลักษณ์มรดกโลกและใบประกาศรับรองการขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกโลกจากยูเนสโกอย่างเป็นทางการ พร้อมทั้งติดตั้งป้ายรณรงค์ส่งเสริมการท่องเที่ยวมรดกโลกภูพระบาทภายในพื้นที่โบราณสถานอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท
           “นอกจากนี้ กรมการศาสนาจัดพิธีเจริญพระพุทธมนต์ เนื่องในโอกาสฉลองมรดกโลกภูพระบาท ณ โบราณสถานหอนางอุสา ซึ่งมีพระราชภาวนาวชิรากร (อินทร์ถวาย สนตุสสโก) แสดงธรรมเทศนาและเจริญจิตสมาธิภาวนา และจัดการแสดงนาฏศิลป์และดนตรี อาทิ การแสดงศิลปะพื้นบ้านจากชุมชนไทพวนอำเภอบ้านผือ รวมทั้งสำนักการสังคีต กรมศิลปากร จัดแสดงละครตำนานภูพระบาท เรื่องอุสา บารส (ตำนานรักภูพระบาท) และการแสดงโขน เรื่องรามเกียรติ์ ชุดศึกกุมภกรรณ ตอนสุครีพถอนต้นรัง นำแสดงโดย ศิลปินสำนักการสังคีต กำกับการแสดงโดย ปกรณ์ พรพิสุทธิ์ อำนวยการแสดงโดย ศิริพงษ์ ทวีทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักการสังคีต จึงขอเชิญชวนประชาชนเดินทางไปรับชมการแสดงนาฏศิลป์และดนตรีในครั้งนี้ ณ อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท” นางสาวสุดาวรรณ กล่าว
             รมว.วธ. กล่าวอีกว่า การแสดงนาฏศิลป์และดนตรี กรมศิลปากร โดยสำนักการสังคีต ได้ฝึกซ้อมจัดเตรียมการแสดงเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะละครตำนานภูพระบาท เรื่องอุสา บารส (ตำนานรักภูพระบาท) เป็นเรื่องราวโศกนาฏกรรมความรักของนางอุสาและท้าวบารส ซึ่งถูกกีดกันจากเจ้าเมืองพานและถูกกลั่นแกล้งจากเหล่าชายาของท้าวบารสจนนางอุสาป่วยหนักและสิ้นใจ ด้วยความรักที่มีต่อนาง ท้าวบารสจึงตรอมใจตายตามนางอุสาไป จากชื่อตัวละครในนิทาน ตำนานที่บอกเล่าสืบต่อกันมานี้เอง ได้ถูกผูกโยงเข้ากับโบราณสถานบนภูพระบาทจนเกิดเป็นชื่อเรียกโบราณสถานต่าง ๆ เช่นทุกวันนี้ 

             นอกจากนี้ ยังมีการแสดงโขน เรื่องรามเกียรติ์ ชุดศึกกุมภกรรณ ตอนสุครีพถอนต้นรัง เนื้อเรื่องกล่าวถึงพระรามให้สุครีพ เป็นนายทัพคุมพลวานรออกรบกับกุมภกรรณ โดยกุมภกรรณได้ทำอุบายลวงให้สุครีพไปถอนต้นรังใหญ่ในทวีปอุดร สุครีพถอนต้นรังใหญ่มาได้แต่ต้องสิ้นกำลัง เมื่อเข้ารบกันจึงถูกกุมภกรรณจับตัวไว้ได้ แต่หนุมานและองคตมาช่วยแก้ไข ทั้งสามพญาวานรได้เข้ารุมทำร้ายกุมภกรรณจนได้รับบาดเจ็บต้องหนีกลับเข้ากรุงลงกา“




             จังหวัดอุดรธานีถือว่าเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพในการส่งเสริมการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม เนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีแหล่งมรดกโลก 2 แห่งในจังหวัดเดียว คือ ในปี 2535 แหล่งโบราณคดีบ้านเชียงได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก และในปี 2567 อุทยานประวัติภูพระบาท ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก” รมว.วธ. กล่าว 
             นางสาวสุดาวรรณ กล่าวว่า วธ. จึงมีเป้าหมายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจวัฒนธรรมให้เป็นหนึ่งในปัจจัยหลักในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพื่อการพัฒนาชุมชน สังคมและประเทศชาติอย่างยั่งยืน ซึ่งในส่วนของการบูรณะและพัฒนาโบราณสถานจะดำเนินการเสริมสร้างระบบนิเวศและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจวัฒนธรรม ยกระดับการบริการของพิพิธภัณฑ์ โบราณสถาน อุทยานประวัติศาสตร์ ส่งเสริมและสร้างสรรค์ทุนทางวัฒนธรรมให้เป็นทุนทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ส่งเสริมเศรษฐกิจของชาติให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยจะพยายามผลักดันให้เกิดแหล่งมรดกโลกแห่งใหม่อย่างต่อเนื่อง และมีแหล่งมรดกโลกให้ครบทุกภูมิภาคของประเทศไทย รวมทั้งเร่งดำเนินการขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศและระดับโลก 
 

(จำนวนผู้เข้าชม 12 ครั้ง)