รายการแสดง“เหมันต์สุขสันต์ หฤหรรษ์สังคีต” โครงการดนตรีสำหรับประชาชน ปีที่ 68 ทุกวันอาทิตย์ เริ่ม 26 มกราคม 2568
กรมศิลปากร โดยสำนักการสังคีต ขอเชิญชมการแสดงโครงการดนตรีสำหรับประชาชน ปีที่ 68 “เหมันต์สุขสันต์ หฤหรรษ์สังคีต” ทุกวันอาทิตย์ ระหว่างเดือนมกราคม ถึงเดือนมีนาคม 2568 เวลา 17.30 – 19.30 น. ณ สังคีตศาลา บริเวณพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร บัตรเข้าชมการแสดงคนละ 20 บาท
โครงการดนตรีสำหรับประชาชน เป็นการแสดงประจำปีของสำนักการสังคีต กรมศิลปากร นำเสนอความบันเทิงและความรู้สู่ประชาชน มาเป็นเวลาถึง 68 ปี เพื่อเผยแพร่และอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม สำหรับปีนี้ กำหนดจัดการแสดงทุกวันอาทิตย์ รวม 7 ครั้ง เริ่มตั้งแต่วันที่ 26 มกราคม 2568 ถึงวันที่ 16 มีนาคม 2568 เวลา 17.30 – 19.30 น. มีรายการแสดงที่หลากหลายสลับสับเปลี่ยนกันไป ทั้งการแสดงโขน ละคร ระบำ รำ ฟ้อน การบรรเลงดนตรีไทย และดนตรีสากล โดยศิลปินของสำนักการสังคีต ดังนี้
วันที่ 26 มกราคม 2568 การแสดงชุดพิเศษต้อนรับเทศกาลตรุษจีน ประกอบด้วย รำอวยพรเปิดสังคีตศาลา ปีที่ 68 การแสดงชุดมะเส็งหรรษา เริงร่าเภรี ปีใหม่ไทยจีน การแสดงละคร เรื่องเอียฮู ผู้กตัญญู และละคร เรื่องสามก๊ก ตอน จูล่งฝ่าทัพรับอาเต๊า
รำอวยพรเปิดสังคีตศาลา ปีที่ 68
การแสดงชุดนี้ เป็นการรำอวยพรเนื่องในพิธีเปิดโครงการดนตรีสำหรับประชาชน ปีที่ 68 โดยสร้างสรรค์ขึ้นใหม่ทั้งบทประพันธ์และกระบวนท่ารำ สำหรับความหมายของการแสดงนั้น แสดงออกถึงความมีไมตรีจิตและอัญเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์โปรดช่วยคุ้มครองให้ทุกท่านประสบแต่ความสุขความเจริญ อีกทั้งดำเนินงานให้ประสบความสำเร็จ สมหวังในสิ่งที่พึงประสงค์ทุกประการ
การแสดงชุด มะเส็งหรรษา เริงร่าเภรี ปีใหม่ไทยจีน
การแสดงชุด มะเส็งหรรษา เริงร่าเภรี ปีใหม่ไทยจีน เป็นการแสดงสร้างสรรค์ที่มีความสวยงาม ตื่นตาตื่นใจชุดหนึ่ง จากแนวความคิดของนายปกรณ์ พรพิสุทธิ์ นาฏศิลปิน (ด้านอำนวยการแสดง) เพื่อเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีน ประจำปี 2568 พร้อมทั้งต้อนรับศักราชใหม่ปีมะเส็ง ด้วยการมอบความสุข ความบันเทิง โดยนำกลองจีน ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีที่มีความสำคัญในวัฒนธรรมจีน เป็นสัญลักษณ์ในการส่งมอบความโชคดี
ละคร เรื่องเอียฮู ผู้กตัญญู
เรื่อง “เอียฮู เกษตรกรผู้กตัญญู” เป็นนิทานสุภาษิตจีนพุทธนิกายเรื่องหนึ่ง ที่รู้จักกันแพร่หลายมาแต่ครั้งพุทธกาล เรื่องมีอยู่ว่า ณ เมืองซัวไซไถ่หงวน มีชายเกษตรกรผู้หนึ่งแซ่เอีย ชื่อว่า “ฮู” เอียฮูเป็นผู้มักใหญ่ใฝ่สูง แต่มีความเกียจคร้านเป็นสันดาน เมื่อเอียฮวงผู้บิดาถึงแก่กรรมแล้ว เอียฮูก็อยู่กับนางเอียสี หญิงมารดา ซึ่งเป็นง่อยตามลำพัง เอียฮูไม่ยอมทำไร่ทำนา คงใฝ่ฝันแต่ที่จะเป็นใหญ่เป็นโตในราชสำนัก ใช้จ่ายทรัพย์สมบัติอันบิดาสะสมไว้จนหมดสิ้น ปล่อยไร่นารกร้างว่างเปล่าหาทำประโยชน์อันใดไม่ แม้นางเอียสีจักได้พยายามว่ากล่าวตักเตือนอย่างไร เอียฮูก็มิได้เชื่อฟัง กลับด่าว่ากระทบกระเทียบเปรียบเปรย ว่านางเอียสีเองต่างหาก เป็นผู้ถ่วงชีวิตครอบครัว และถ่วงความเจริญของตน แล้วในที่สุด “เอียฮู” ก็ตัดสินใจออกจากบ้าน เพื่อไปแสวงหาสิ่งที่ตนปรารถนาและเห็นว่ายิ่งใหญ่ นั่นคือ “วิชาอายุ วัฒนะ” เอียฮูทิ้งไร่ทิ้งนา ทิ้งแม้กระทั่ง “นางเอียสี” มารดาง่อยของตนซึ่งไม่สามารถช่วยตัวเองได้
ละคร เรื่องสามก๊ก ตอนจูล่งฝ่าทัพรับอาเต๊า
ละคร เรื่องสามก๊ก ตอนจูล่งฝ่าทัพรับอาเต๊า เป็นความคิดริเริ่มของอาจารย์เสรี หวังในธรรม ศิลปินแห่งชาติ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านสังคีตศิลป์ กรมศิลปากร ซึ่งนำการบรรเลงและขับร้องในเรื่องสามก๊ก ชุดตับจูล่ง มาทำเป็นรูปแบบของการแสดง อันมีเนื้อเรื่องกล่าวถึงทัพของเล่าปี่มีอันต้องแตกพ่ายแก่ทัพของโจโฉ ทำให้ทั้งครอบครัวและไพร่พลของเล่าปี่แตกกระสานซ่านเซ็น นางบีฮูหยินมเหสีของเล่าปี่ได้นำอาเต๊าราชบุตรซึ่งเกิดจากมเหสีองค์ใหญ่พาหนีข้าศึกมาได้ ทั้งที่ตัวนางเองก็ถูกอาวุธที่ขาแทบจะเอาชีวิตไม่รอด แต่ด้วยความห่วงราชบุตรซึ่งเป็นสายเลือดของเล่าปี่ จึงพยายามแหวกวงล้อมข้าศึกมาซ่อนตัวอยู่ หวังให้ฟ้าดินช่วยปกป้องอาเต๊า ให้รอดพ้นจากอันตราย จูล่งทหารเอกคนหนึ่งของเล่าปี่ขี่ม้าตามมาช่วยจนพบกับนางบีฮูหยิน นางจึงฝากให้ช่วยพาอาเต๊าหนีไปให้พ้นภัย โดยวางอาเต๊าไว้ต่อหน้าจูล่งแล้วโดดบ่อน้ำไปทันที จูล่งเสียใจมาก แต่ด้วยความห่วงอาเต๊า ราชบุตรจึงรีบกลบดินถมบ่อ แล้วนำอาเต๊าซึ่งยังเป็นเด็กใส่ในเกราะกลางอกฝ่าวงล้อมกองทัพไพร่พลไปได้โดยปลอดภัย
วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2568 การบรรเลงดนตรีไทย “ชุดร้อยเรียงเสียงดนตรี”
การบรรเลงดนตรีไทย “ชุดร้อยเรียงเสียงดนตรี”
การบรรเลงดนตรีไทย “ชุดร้อยเรียงเสียงดนตรี”
การบรรเลงดนตรีไทย “ร้อยเรียงเสียงดนตรี” เป็นการนำเสนอให้เห็นถึงวงดนตรีไทยประเภทต่าง ๆ อาทิ วงปี่พาทย์ไม้แข็ง วงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ วงมโหรีเครื่องแปด วงเครื่องสายปี่ชวา วงเครื่องสายผสมขิม รวมถึงบทเพลงที่ได้มีการสร้างสรรค์ขึ้นใหม่ เพื่อเป็นการอนุรักษ์ เผยแพร่ และเป็นการสร้างอรรถรสให้แก่ผู้ชมอย่างหลากหลาย
วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2568 การแสดงวิพิธทัศนา ประกอบด้วย การบรรเลงดนตรีไทย ระบำสวัสดิรักษา ระบำอัศวลีลา การแสดงชุดจับม้ามังกร (แนวตลก) และการแสดงละคร เรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนหึงนางลาวทอง – ลักพานางวันทอง ซึ่งเป็นการแสดงที่สร้างสรรค์ขึ้นใหม่ ดำเนินเรื่องตามบทพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ เพื่อเฉลิมพระเกียรติกรมพระราชวังบวรสถานมงคลที่ทรงมีคุณูปการต่อศิลปวัฒนธรรมของชาติ
ระบำสวัสดิรักษา
การแสดงชุดนี้ แสดงให้เห็นถึงความองอาจสง่างามของนักรบไทย และอธิบายเครื่องแต่งกายภูษาทรง ในการออกศึกให้เข้ากับวันต่าง ๆ เพื่อความเป็นสิริมงคลของผู้สวมใส่
ระบำอัศวลีลา
การแสดงชุดนี้ อยู่ในการแสดงละคร เรื่องรถเสน กรมศิลปากรปรับปรุงขึ้นใหม่ เป็นการแสดงให้เห็นถึงลีลาท่าทางของม้าที่มีความสวยงาม น่ารักและคึกคักชุดหนึ่ง ประดิษฐ์ท่ารำโดยท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี ศิลปินแห่งชาติ
การแสดงละคร เรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนหึงนางลาวทอง - ลักพานางวันทอง
การแสดงละคร เรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนหึงนางลาวทอง – ลักพานางวันทอง ครั้งนี้ ดำเนินเรื่องตามบทพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ ตามรูปแบบการแสดงละครนอกของหลวง โดยเนื้อเรื่องกล่าวถึง นางวันทองเฝ้ารอขุนแผนซึ่งไปทำศึกสงครามที่เมืองเชียงใหม่ แต่ต้องพบกับความผิดหวังเมื่อขุนแผนกลับมาพร้อมกับนางลาวทองภรรยาใหม่ นางวันทองจึงเกิดความหึงหวงและทะเลาะกันกับนาง ลาวทองจนขุนแผนต้องพานางลาวทองกลับไปอยู่ที่กาญจนบุรี วันหนึ่งขุนแผนคิดถึงนางวันทองและต้องการ แก้แค้นขุนช้างที่ออกอุบายต่าง ๆ จนนางวันทองต้องจำใจเป็นภรรยา จึงออกเดินทางมายังบ้านขุนช้างที่สุพรรณบุรีเพื่อลักพานางวันทองหนีไปอยู่กับตน
ละครนอก เรื่องพระอภัยมณี ตอนสุดสาครจับม้ามังกร (แนวตลก)
กล่าวถึงสุดสาครบุตรชายพระอภัยมณีกับนางเงือก เกิดที่ชายหาดเกาะแก้วพิสดารพระฤษีเป็นผู้เลี้ยงดู ครั้นอายุ 10 เดือน มีความเฉลียวฉลาด มีกำลังมาก แต่ชอบซุกซนหนีเที่ยวไปเล่นน้ำ วันหนึ่งได้พบม้ามังกร จึงเข้าจับแต่จับไม่ได้ กลับมาเล่าให้พระฤษีฟัง พระฤษีรู้ว่าเป็นม้าคู่บุญบารมีสุดสาครจึงเสกหวายและบอกมนตร์ ให้สุดสาครไปตามจับมาในที่สุด
วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2568 การบรรเลง – ขับร้องวงดุริยางค์สากล “ลิเกออร์เคสตรา”
เป็นการขับร้องเพลงลูกทุ่งและเพลงลูกกรุง และบรรเลงด้วยวงออร์เคสตรา โดยมีการนำเสนอวิธีการดำเนินเรื่องในลักษณะของการแสดงลิเก เพื่อเป็นการสร้างความสนุกสนานและความตื่นเต้นให้แก่ผู้ที่รับชม
วันที่ 2 มีนาคม 2568 การบรรเลงดนตรีไทย และการแสดงโขน เรื่องรามเกียรติ์ ชุด ร่มโพธิสมภารมารซื่อ
คำบรรยายโขน เรื่องรามเกียรติ์ ชุดร่มโพธิสมภารมารชื่อ
กล่าวถึงทศกัณฐ์เกิดฝันร้าย จึงตรัสถามพิเภกอนุชาผู้เป็นโหราให้ทำนาย พิเภกตรวจดูว่าเป็นลางร้าย จึงทูลให้คืนนางสีดาแก่พระราม ทศกัณฐ์ได้ฟังก็กริ้วโกรธประกาศตัดความพี่เป็นน้อง แล้วไล่ตีทำร้ายหมายจะฆ่าพิเภกแต่ไม่สำเร็จ จึงขับไล่ออกจากกรุงลงกา พิเภกก็เดินทางไปสวามิภักดิ์อยู่กับพระราม เมื่อทศกัณฐ์รู้ข่าวจึงยกกองทัพเพื่อตามไปฆ่าพิเภกด้วยหอกกบิลพัสดุ์ แต่เมื่อพุ่งหอกไปกลับไปถูกพระลักษมณ์ซึ่งคอยคุ้มกันพิเภกสลบลง พิเภกทูลพระรามให้ใช้ทหารรีบไปนำสรรพยามาแก้ไข พระลักษมณ์จึงรอดชีวิตพื้นขึ้นมา
วันที่ 9 มีนาคม 2568 การบรรเลงดนตรีไทย การแสดงระบำนาฏดุริยะแห่งภูพระบาท รำฉุยฉายนางวิฬาร์แสนรู้ การแสดงสร้างสรรค์ ชุดสกุณกินรีศรีสำอาง และละครนอก เรื่องแก้วหน้าม้า ตอนถวายลูก
ระบำนาฏดุริยะแห่งภูพระบาท
เนื่องด้วยอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทได้รับประกาศให้เป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม จากองค์การเพื่อการศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก (UNESCO) ดังนั้นสำนักการสังคีต กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม จึงได้สร้างสรรค์ระบำนาฏดุริยะแห่งภูพระบาท เพื่อให้เห็นทั้งความสำคัญของสถานที่ ความสวยงามของธรรมชาติ อันปรากฏอยู่ในจังหวัดอุดรธานี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จนมีผู้คิดเรื่องราวเป็นตำนานความรักของนางอุษากับท้าวบารส โดยนำไปผูกโยงกับภูพระบาทที่มีเพิงหินโดดเด่นแห่งอารยธรรมเป็นเอกลักษณ์ เปรียบเสมือนหอนางอุษา แล้วเล่าสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน
รำฉุยฉายนางวิฬาร์แสนรู้
การแสดงชุดนี้เป็นการแสดงสร้างสรรค์ประเภทรำเดี่ยวเพื่ออวดฝีมือของตัวละคร “นางวิฬาร์” หรือนางแมว ซึ่งมีปรากฏอยู่ในละครนอก เรื่องไชยเชษฐ์ โดยนางวิฬาร์นั้นมีหน้าที่ดูแล ปกป้อง และคอยช่วยเหลือนางสุวิญชามเหสีที่ถูกกลั่นแกล้งใส่ความว่าเป็นกาลกิณีคอลดลูกออกมาเป็นท่อนไม้ จึงทำให้พระไชยเชษฐ์สวามีขับไล่ออกจากเมือง จากเรื่องราวดังกล่าวจึงเป็นแรงบันดาลใจให้นางสาววันทนีย์ ม่วงบุญ ผู้ชำนาญการด้านศิลปะการแสดง ประพันธ์บทขับร้อง เพื่อให้ทราบเรื่องราวบุคลิกลักษณะของตัวนางวิฬาร์ นางพรทิพย์ ทองคำ นาฏศิลปินอาวุโส ประดิษฐ์ท่ารำและถ่ายทอดให้นางสสิธร เพิ่มสิน นาฏศิลปินชำนาญงาน เป็นผู้แสดงในครั้งนี้ โดยมีนายไชยยะ ทางมีศรี ศิลปินแห่งชาติ บรรจุเพลง บรรเลงและขับร้อง โดยดุริยางคศิลปิน คีตศิลปิน สำนักการสังคีต กรมศิลปากร
ระบำสกุณกินรีศรีสำอาง
ระบำสกุณกินรีศรีสำอาง เป็นการแสดงสร้างสรรค์ที่สวยงามน่าชมชุดใหม่ของสำนักการสังคีต กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากนางกินรีทั้ง 7 อมนุษย์เพศหญิงที่ท่อนบนเป็นมนุษย์ ท่อนล่างเป็นนก อาศัยอยู่ที่เขาไกรลาสในป่าหิมพานต์ ซึ่งปรากฏในไตรภูมิกถาวรรณคดีทางพระพุทธศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดของไทย ดังนั้นจึงนำมาต่อยอดสู่การแสดง ทั้งกระบวนท่ารำที่อ่อนช้อยสนุกสนาน และเครื่องแต่งกาย ให้สอดคล้องกับบทเพลงที่สร้างขึ้นใหม่
ละครนอก เรื่องแก้วหน้าม้า ตอนถวายลูก
แก้วหน้าม้า เป็นนิทานชาวบ้านที่นิยมนำมาทำเป็นละครเล่นกันแพร่หลายมาแต่โบราณ ซึ่งกรมศิลปากรปรับปรุงใหม่นิยมแสดงแบบละครนอกและจัดแสดงเป็นครั้งแรก ณ สังคีตศาลา ในบริเวณพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เมื่อปี พ.ศ. 2505 อันมีเนื้อเรื่องย่อ กล่าวถึงพระปิ่นทองพานางสร้อยสุวรรณและนางจันทรสองธิดาพญายักษ์กลับเมือง และเมื่อได้เข้าเฝ้าพระบิดา พระมารดา นางแก้วหน้าม้ารู้ว่า พระปิ่นทองพาสองนางมาด้วย จึงอุ้มลูกมาเฝ้าได้ยั่วเย้า พร้อมกับอวดตัวว่าเป็นเมียเอกของพระปิ่นทอง สองนางรู้ดีว่านางแก้วหน้าม้าเป็นใครตลอดจนความนัยทั้งสิ้น แต่จำต้องนิ่งเสียไม่กล้าพูดสิ่งใดได้ เพราะเกรงกลัวนางแก้วหน้าม้า พระปิ่นทองไม่ยอมรับนางแก้วหน้าม้า ทำให้นางแก้วหน้าม้าต้องแกล้งพระปิ่นทอง ด้วยการทำเป็นทิ้งลูกไว้แล้วแล้วเลี่ยงออกไป
วันที่ 16 มีนาคม 2568 การบรรเลงดนตรีสากล ฟ้อนลาวคำหอม ออกฟ้อนแพน ละคร เรื่องพระลอ ตอนตามไก่ และละคร เรื่องสุวรรณหงส์ ตอนกุมภณฑ์ถวายม้า
ฟ้อนลาวคำหอม ออกฟ้อนแพน
ฟ้อนลาวคำหอม เป็นการแสดงที่มีความสวยงามน่าชมชุดหนึ่ง โดยในครั้งนี้จัดแสดงตามบทประพันธ์ของจ่าเผ่นผยองยิ่ง (โคม) และต่อด้วยฟ้อนแพน อันเป็นศิลปะการฟ้อนแบบไทยพื้นเมืองภาคเหนือ ผู้แสดงฟ้อนรำตามท่วงทำนองเพลงที่บรรเลงด้วยเครื่องดนตรีจะเข้ในเพลงลาวแพน
ละคร เรื่องพระลอ ตอนตามไก่
เป็นการแสดงตอนหนึ่งในละครเรื่องพระลอ บทพระนิพนธ์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ กล่าวถึง ปู่เจ้าสมิงพรายได้ใช้ผีลงสิงไก่แก้ว เพื่อให้ไปล่อพระลอ กษัตริย์แห่งเมืองแมนสรวงให้เดินทางไปพบพระเพื่อนพระแพง สองพระธิดาผู้เลอโฉมของเมืองสรอง โดยการแสดงชุดนี้ แสดงให้เห็นลีลาการเยื้องย่างกรีดกราย หลบ หนีไล่ ของไก่แก้วกับพระลอด้วยท่วงทีงดงามตามแบบฉบับของนาฏศิลป์ไทย
ละคร เรื่องสุวรรณหงส์ ตอนภุมภณฑ์ถวายม้า
ละคร เรื่องสุวรรณหงส์ ตอนกุมภณฑ์ถวายม้า บทพระนิพนธ์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 โดยกรมศิลปากรนำมาปรับปรุงเป็นละครนอกแบบหลวง การแสดงตอนนี้มีเนื้อหาที่สนุกสนาน ท่ารำมี ความอ่อนช้อยงดงามได้อรรถรสของการชมละครอย่างครบถ้วน
ขอเชิญผู้สนใจชมการแสดงรายการ “เหมันต์สุขสันต์ หฤหรรษ์สังคีต” ณ สังคีตศาลา บริเวณพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ค่าเข้าชมการแสดงคนละ 20 บาท นำส่งเป็นเงินรายได้แผ่นดิน เพื่อร่วมกันอนุรักษ์สืบสานศิลปวัฒนธรรมด้านนาฏดุริยางคศิลป์ของชาติ ให้คงอยู่และแพร่หลายอย่างกว้างขวางต่อไป
(จำนวนผู้เข้าชม 215 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม
-
นโยบายเว็บไซต์ |
มาตรฐาน