กิจกรรมเนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๖๗ ของกรมศิลปากร



นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า
กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ตระหนักถึงความสำคัญของภาษาไทยซึ่งเป็นมรดกวัฒนธรรมที่สำคัญยิ่งของชาติ จึงน้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพล‌อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงสนพระราชหฤทัยและทรงห่วงใยการใช้ภาษาไทยของคนไทย จึงดำเนินโครงการเนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติอย่างสืบเนื่องตั้งแต่พุทธศักราช ๒๕๔๗ เป็นต้นมาเป็นเวลากว่า ๒ ทศวรรษ โดยพุทธศักราช ๒๕๖๗ นี้ กรมศิลปากรมอบให้สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ดำเนินโครงการเนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ โดยจัดกิจกรรม ๓ กิจกรรม ได้แก่ การประกวดเพลง “เพชรในเพลง” การจัดพิมพ์หนังสือหายาก และการเสวนาทางวิชาการด้านภาษาและวรรณคดีไทย

การประกวดเพลง “เพชรในเพลง”
            การประกวดเพลง “เพชรในเพลง” เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๖๗ จัดขึ้นเพื่อยกย่องบุคคลในวงการเพลงที่มีผลงานดีเด่นด้านภาษาไทย ได้แก่ นักประพันธ์เพลงที่มีความสามารถผสมผสานความรู้ทางภาษา วรรณศิลป์ คีตศิลป์ และจินตนาการได้อย่างเหมาะสม และนักร้องที่ขับร้องเพลงได้ชัดเจนและถูกต้องตามหลักภาษาไทย มีศิลปะการใช้เสียง และถ่ายทอดจังหวะอารมณ์ในการขับร้องได้อย่างยอดเยี่ยม ทั้งยังเชิดชูเกียรติบุคคล องค์กร หรือโครงการที่มีผลงานดีเด่นด้านการส่งเสริมภาษาไทยและมีคุณูปการต่อวงการเพลง โดยผลการประกวดเพลง “เพชรในเพลง” เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๖๗ มีทั้งสิ้น ๑๔ รางวัล ดังนี้

รางวัลการประพันธ์เพลงดีเด่นด้านภาษาไทย จำนวน ๔ รางวัล
๑.รางวัลชนะเลิศ ผู้ประพันธ์คำร้องเพลงไทยสากล
ได้แก่ นายปัณฑพล  ประสารราชกิจ และนายธิติวัฒน์  รองทอง
จากเพลงลั่นทม



๒.รางวัลรองชนะเลิศ ผู้ประพันธ์คำร้องเพลงไทยสากล
ได้แก่ นายกฤตศิลป์  ฉลองขวัญ
จากเพลงดอกไม้จากดวงดาว


๓.รางวัลชนะเลิศ ผู้ประพันธ์คำร้องเพลงไทยลูกทุ่ง
ได้แก่ นายจิรภัทร  แจ่มทุ่ง
จากเพลงยามท้อขอมีเธอ

๔.รางวัลรองชนะเลิศ ผู้ประพันธ์คำร้องเพลงไทยลูกทุ่ง
ได้แก่ นายสลา  คุณวุฒิ
จากเพลงอยากซื้อบ้านนอกให้แม่


รางวัลการขับร้องเพลงดีเด่นด้านภาษาไทย จำนวน ๘ รางวัล
๑.รางวัลชนะเลิศ ผู้ขับร้องเพลงไทยสากลชาย
ได้แก่ นายภาสกรณ์  รุ่งเรืองเดชาภัทร์ (สปาย)
จากเพลงคอย


๒.รางวัลรองชนะเลิศ ผู้ขับร้องเพลงไทยสากลชาย
ได้แก่ นายธานินทร์  อินทรแจ้ง (ธานินทร์  อินทรเทพ) 
จากเพลงเดือนประดับใจ


๓.รางวัลชนะเลิศ ผู้ขับร้องเพลงไทยสากลหญิง
ได้แก่ นางสาวสรวีย์  ธนพูนหิรัญ (ผิงผิง) 
จากเพลงดอกไม้จากดวงดาว


๔.รางวัลรองชนะเลิศ ผู้ขับร้องเพลงไทยสากลหญิง
ได้แก่ นางสาวปราชญา  ศิริพงษ์สุนทร
จากเพลงมรดกธรรม มรดกโลก


๕.รางวัลชนะเลิศ ผู้ขับร้องเพลงไทยลูกทุ่งชาย
ได้แก่ นายอนันต์  อาศัยไพรพนา (นัน อนันต์) 
จากเพลงยามท้อขอมีเธอ


๖.รางวัลรองชนะเลิศ ผู้ขับร้องเพลงไทยลูกทุ่งชาย
ได้แก่ นายเสมา  สมบูรณ์ (ไชยา  มิตรชัย)
จากเพลงรอยยิ้มก่อนจากลา


๗.รางวัลชนะเลิศ ผู้ขับร้องเพลงไทยลูกทุ่งหญิง
ได้แก่ นางสาวสุทธิยา  รอดภัย (ใบเฟิร์น สุทธิยา)
จากเพลงกราบหลวงพ่อใหญ่อ่างทอง


๘.รางวัลรองชนะเลิศ ผู้ขับร้องเพลงไทยลูกทุ่งหญิง
ได้แก่ นางสาวกาญจนา  มาศิริ
จากเพลงสารภาพรัก


รางวัลเชิดชูเกียรติพิเศษ จำนวน ๒ รางวัล
๑.รางวัลเชิดชูเกียรติ ครูเพลงผู้ใช้ภาษาวรรณศิลป์ดีเด่น
ได้แก่ นายชัยรัตน์  วงศ์เกียรติ์ขจร

๒.รางวัลเชิดชูเกียรติ นักแปลเพลง : คมความ งามคำไทย ในบทเพลง
ได้แก่นายธานี  พูนสุวรรณ


ทั้งนี้ กรมศิลปากรจะจัดพิธีมอบรางวัลเพชรในเพลงในงานวันภาษาไทยแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๖๗ ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรมกำหนดจัดขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๖๗ เวลา ๑๒.๓๐ – ๑๖.๐๐ น. ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

การจัดพิมพ์หนังสือหายาก

             เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติของทุกปี กรมศิลปากร มอบให้สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ พิจารณาคัดสรรหนังสือเก่าซึ่งมีคุณค่าทางวิชาการแขนงต่าง ๆ ซึ่งหาฉบับได้ยากในปัจจุบัน นำมาจัดพิมพ์เผยแพร่เพื่ออำนวยประโยชน์ในการศึกษาค้นคว้าทางวิชาการ ตลอดจนเพิ่มโอกาสให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ด้านภาษา วรรณคดี กวีนิพนธ์ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และจารีตประเพณีที่มีอยู่ในหนังสือเก่าอันทรงคุณค่า
             ในพุทธศักราช ๒๕๖๗ นี้ กรมศิลปากร โดยสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ ได้จัดพิมพ์หนังสือหายากเรื่อง “อุไภยพจน์ คำกลอนพิศาลการันต์ และ ฉันทวิภาค” ซึ่งมีเนื้อหาประกอบด้วยหนังสือแบบเรียนภาษาไทยในสมัยรัชกาลที่ ๕ จำนวน ๓ เรื่อง ได้แก่ เรื่อง “อุไภยพจน์” เป็นแบบเรียนที่แต่งเป็นคำกลอน อธิบายเกี่ยวกับ “คำคู่” คือคำที่ออกเสียงเหมือนกันหรือใกล้เคียงกันแต่มีความหมายต่างกัน เรื่อง “คำกลอนพิศาลการันต์” นำเนื้อหาจากแบบเรียนหลวงเรื่องพิศาลการันต์มาแต่งเป็นคำกลอนเพื่อช่วยให้นักเรียนจดจำคำศัพท์ที่มีตัวสะกดการันต์ได้สะดวกขึ้น และหนังสือ “ฉันทวิภาค” เป็นแบบเรียนอธิบายการแต่งคำประพันธ์
            หนังสือแบบเรียนภาษาไทยทั้ง ๓ เรื่อง เป็นผลงานการประพันธ์ของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย  อาจารยางกูร) ผู้ได้รับยกย่องเป็น “บุคคลสำคัญของโลก” และเป็น “ศาลฎีกาในเรื่องหนังสือไทย” การจัดพิมพ์หนังสือหายากเรื่อง “อุไภยพจน์ คำกลอนพิศาลการันต์ และ ฉันทวิภาค” ในปีนี้ จึงนับเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับผู้สนใจศึกษาพัฒนาการของภาษาและอักขรวิธีไทย
การสัมมนาทางวิชาการด้านภาษาและวรรณคดีไทย
            กิจกรรมสำคัญอีกกิจกรรมหนึ่งที่กรมศิลปากร มอบให้สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ จัดขึ้นเนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี คือ การสัมมนาทางวิชาการด้านภาษาและวรรณคดีไทย ซึ่งในพุทธศักราช ๒๕๖๗ นี้ กำหนดสัมมนาในหัวข้อ “วรรณคดีสมัยอยุธยาตอนปลายที่กรมศิลปากรตรวจสอบใหม่” ในวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๖๗ โดยรายละเอียดการจัดกิจกรรมจะประชาสัมพันธ์ให้ทราบต่อไป

(จำนวนผู้เข้าชม 283 ครั้ง)

Messenger