ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธีส่งมอบการซ่อมทำเรือพระราชพิธี ให้กรมศิลปากร

วันที่ 5 เมษายน 2567 เวลา 11.00 น. พลเรือเอก อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธีส่งมอบการซ่อมทำเรือพระที่นั่งและเรือรูปสัตว์ ให้แก่กรมศิลปากร โดยมีนายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เป็นผู้รับมอบ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ


นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า กองทัพเรือและกรมศิลปากรได้หล่อหลอมดวงใจเป็นหนึ่งเดียวกันเพื่อถวายพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอันเป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทยทุกคน เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 การพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร โดยดำเนินการซ่อมเรือพระราชพิธีให้มีความสวยงาม สมพระเกียรติ แบ่งเป็น 2 ขั้นตอนคือ กองทัพเรือซ่อมบำรุงโครงสร้าง กรมศิลปากรดูแลงานศิลปกรรมประดับตกแต่งเรือ ขณะนี้กองทัพเรือได้ดำเนินการซ่อมบำรุงโครงสร้างเสร็จแล้ว จึงทำการส่งมอบให้กรมศิลปากรเพื่อดำเนินการประดับตกแต่งตัวเรือ ซึ่งเรือพระราชพิธีแต่ละลำมีความวิจิตรบรรจงจากการลงรักปิดทอง ประดับกระจกเกรียบกระจกสี เป็นงานที่อาศัยทักษะชั้นสูงและวิทยาศาสตร์ผสมผสานกัน การดำเนินงานของกรมศิลปากรจะเน้นรูปแบบศิลปะที่คงความเป็นของแท้ดั้งเดิม โดยมอบหมาย 2 หน่วยงานหลัก ได้แก่ สำนักช่างสิบหมู่ จะนำช่างแกะ ช่างเขียน ช่างประณีตศิลป์ เข้าทำงาน ส่วนสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจะนำนักวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์มาดูการเตรียมผิวรองรับการประดับตกแต่ง เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนเมษายน 2567 คาดว่าจะเสร็จสิ้นภายใน 30 มิถุนายน 2567 เชื่อว่าความงดงามของกระบวนเรือพระราชพิธีจะตราตรึงชาวไทยและชาวต่างชาติทั่วโลก นอกจากนี้ ระหว่างการดำเนินการซ่อมเรือพระราชพิธี สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติจะบันทึกเหตุการณ์ขั้นตอนการดำเนินการครั้งประวัติศาสตร์นี้ด้วย
อู่ทหารเรือธนบุรี กรมอู่ทหารเรือ ได้ดำเนินการ สำรวจ และซ่อมทำเรือพระที่นั่งและเรือรูปสัตว์ ตั้งแต่ธันวาคม 2566 ด้วยวิธีศิลปะภูมิปัญญาประมงพื้นบ้าน การตอกหมันเรือ ซึ่งนำด้ายดิบมาตอกเข้าไปบริเวณร่องระหว่างไม้กระดานเรือให้แน่นเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำซึมเข้าเรือ จากนั้นจึงชันยาเรือผสมกับน้ำมันยางยาแนวในร่องและทาทั่วทั้งบริเวณนอกลำเรือเพื่อป้องกันเพรียงกินไม้ที่จะทำให้เรือผุเร็ว ซึ่งได้ดำเนินการแล้วเสร็จ จึงทำการส่งมอบให้กรมศิลปากร เพื่อดำเนินการประดับตกแต่งตัวเรือ ประกอบด้วย เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เรือพระที่นั่งเอนกชาติภุชงค์ และเรือรูปสัตว์ ประกอบด้วย เรือเอกชัยเหินหาว เรือเอกชัยหลาวทอง เรือกระบี่ปราบเมืองมาร เรือกระบี่ราญรอนราพณ์ เรือพาลีล้างทวีป เรือสุครีพครองเมือง เรือครุฑเหินเห็จ เรือครุฑเตร็จไตรจักร เรืออสุรวายุภักษ์ เรืออสุรปักษี




(จำนวนผู้เข้าชม 603 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม
-
นโยบายเว็บไซต์ |
มาตรฐาน