กรมศิลป์ร่วมอาสาสมัครขุดค้นทางโบราณคดีวัดจักรวรรดิราชาวาส ศึกษาประวัติศาสตร์ย่านสัมพันธวงศ์
นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า กรมศิลปากร โดยกองโบราณคดี ได้ดำเนิน “โครงการศึกษาโบราณคดีวัดจักรวรรดิราชาวาส วรมหาวิหาร และพัฒนาการชุมชนประวัติศาสตร์ย่านสัมพันธวงศ์” โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณและความร่วมมือในการดำเนินงานจาก “มูลนิธิสุทธิรัตน์ อยู่วิทยา”
อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า การดำเนินงานในระยะแรก จะเป็นการขุดค้นทางโบราณคดีภายในพื้นที่โบราณสถานหรือเขตพุทธาวาสของวัดจักรวรรดิราชาวาส ระหว่างวันที่ 19 มีนาคม – 12 เมษายน 2567 ซึ่งทางวัดจักรวรรดิได้ขอให้กรมศิลปากรเข้ามาดำเนินงานโบราณคดี เพื่อนำข้อมูลหลักฐานทางโบราณคดีไปใช้ในการออกแบบบูรณะโบราณสถานและการปรับปรุงภูมิทัศน์ภายในพื้นที่โบราณสถานวัดจักรวรรดิราชาวาส เพื่อรักษาศาสนสมบัติและมรดกวัฒนธรรมให้ยั่งยืน โดยรูปแบบการดำเนินงานทางโบราณคดีของโครงการ จะเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนและการแบ่งปันองค์ความรู้สู่สังคมในวงกว้าง เปิดโอกาสให้อาสาสมัคร ซึ่งเป็นประชาชนทั่วไป ได้เข้ามาร่วมสำรวจและขุดค้นทางโบราณคดี ส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยให้นักโบราณคดีรุ่นใหม่ได้เข้ามาฝึกฝนและเรียนรู้ประสบการณ์จริงในการทำงานภาคสนามทางโบราณคดี ส่วนการสำรวจชุมชนประวัติศาสตร์ย่านสัมพันธวงศ์ มุ่งเน้นศึกษาความหลากหลายทางวัฒนธรรม ที่สะท้อนอัตลักษณ์ของชุมชนประวัติศาสตร์เมืองบางกอก โดยเฉพาะชุมชนชาวจีนโพ้นทะเลย่านสำเพ็ง เยาวราช และตลาดน้อย เพื่อเป็นทุนทางวัฒนธรรมและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและคุณภาพของสังคมในย่านประวัติศาสตร์อย่างยั่งยืน
วัดจักรวรรดิราชาวาส วรมหาวิหาร หรือวัดสามปลื้ม เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรมหาวิหาร มีประวัติว่าสร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงสถาปนาให้เป็นพระอารามหลวง เป็นวัดที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ควบคู่กับชุมชนบางกอกและสำเพ็งมายาวนาน มีปูชนียวัตถุสถานที่มีความสำคัญเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์หลายประการ เช่น วิหารพระนาก พระอุโบสถ พระวิหารกลาง พระปรางค์และมณฑปประดิษฐานรอยพระพุทธบาท รวมถึงรูปเหมือนพระพุฒาจารย์มา หรือท่านเจ้ามา และรูปเหมือนเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เป็นต้น
(จำนวนผู้เข้าชม 289 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม
-
นโยบายเว็บไซต์ |
มาตรฐาน