แผ่นจุณเจิม แห่งเมืองโบราณดงคอน อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท
แผ่นจุณเจิมนี้ พบจากเมืองโบราณดงคอน อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท ปัจจุบัน จัดแสดงอยู่ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชัยนาทมุนี จังหวัดชัยนาท
แผ่นจุณเจิมนี้สร้างจากหิน โดยใช้เครื่องมือสลักลงบนแผ่นหินเป็นลวดลายนูนต่ำ มีขนาดที่วัดได้ ณ ปัจจุบัน กว้าง ๑๑.๕ เซนติเมตร ยาว ๑๕.๘ เซนติเมตร ชำรุดหักเหลือเพียงส่วนเบ้าหลุมตื้นๆ ตรงกลางและลวดลายสลักนูนต่ำบางส่วน ผิวหน้าของแผ่นจุณเจิมมีการกะเทาะหายไป หลงเหลือลวดลายหม้อน้ำ (กลศ) ลวดลายสังข์ และลวดลายส่วนด้ามของแส้จามรี (จามร) ที่เป็นเครื่องสูงอย่างหนึ่ง สันนิษฐานว่าแต่เดิมอาจมีลักษณะเป็นแผ่นสี่เหลี่ยม
มีนักวิชาการหลายท่าน สันนิษฐานว่าแผ่นจุณเจิมนี้อาจทำขึ้นเพื่อเป็นแผ่นหินรองรับหม้อน้ำ (ปูรณฆฏะ) เพื่อใช้สรงน้ำเทพและเทพี ในพิธีราชสูยะ หรือพิธีราชาภิเษกของกษัตริย์ทวารวดี หรืออาจเป็นไปได้ว่าแผ่นจุณเจิมนี้เบ้าตรงกลางอาจมีไว้สำหรับใส่เครื่องหอม ซึ่งอาจใช้สำหรับพราหมณ์ในการทำพิธีกรรมทางศาสนา
แผ่นจุณเจิมนี้มีการค้นพบในพื้นที่ต่างๆ บนดินแดนไทย ได้แก่ แผ่นจุณเจิมที่พบที่พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม ปัจจุบันจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร แผ่นจุณเจิมที่พบที่เมืองนครปฐมโบราณ จังหวัดนครปฐม แผ่นจุณเจิมที่พบที่อนุเสาวรีย์กลางแจ้ง วัดพระประโทณเจดีย์ จังหวัดนครปฐม และแผ่นจุณเจิมที่พบที่ บ้านหนองจิก อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี
แผ่นจุณเจิม ที่พบจากเมืองโบราณดงคอน อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาทนี้ กำหนดอายุสมัยอยู่ในวัฒนธรรมทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๖ หรือประมาณ ๑,๐๐๐ – ๑,๔๐๐ ปีมาแล้ว แม้จะชำรุดไม่สมบูรณ์ แต่ก็เป็นหลักฐานทางโบราณคดี ที่แสดงให้เห็นถึงพิธีกรรมและความเชื่อของผู้คนในวัฒนธรรมทวารวดี ที่อาศัยอยู่ในบริเวณเมืองโบราณดงคอน ในอดีตเมื่อพันกว่าปีมาแล้ว
--------------------------------------------------------
ที่มาของข้อมูล :
Facebook Page พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติชัยนาทมุนี
(จำนวนผู้เข้าชม 592 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม
-
นโยบายเว็บไซต์ |
มาตรฐาน