เหรียญเงินลายธรรมจักรและจารึก
เหรียญเงินลายธรรมจักรและจารึก
สมัยทวารวดี พุทธศตวรรษที่ ๑๒
พบที่ตำบลพระประโทน จังหวัดนครปฐม จ่าสิบเอกอำนวย ดีไชย ประจำกองบัญชาการทหารสูงสุด ให้เมื่อ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๓
ปัจจุบันจัดแสดง ณ ห้องทวารวดี อาคารมหาสุรสิงหนาท พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
__________________________________
เหรียญเงินแผ่นกลม มีลายทั้งสองด้าน ด้านหนึ่งเป็นลายธรรมจักร อีกด้านหนึ่งมีข้อความอักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต ความว่า “ศฺรีสุจริต วิกฺรานฺต” แปลว่า “วีรบุรุษผู้สุจริต”
จักร สื่อถึง “กงล้อ” (wheel) ที่หมุนเคลื่อนที่ไปข้างหน้า ดังกงล้อรถศึกของพระเจ้าจักรพรรรดิกล่าวคือ กษัตริย์ผู้ทรงอานุภาพซึ่งทำสงครามขยายอำนาจเหนือกษัตริย์ดินแดนอื่น และตามคติของผู้มีสถานะเป็นจักรพรรดิจะต้องครอบครอง “จักรรัตนะ” หรือจักรแก้ว ๑ ใน แก้ว ๗ สิ่งของพระจักรพรรดิ ดังนั้นทั้งศาสนาพุทธและพราหมณ์จึงปรากฏรูปจักรกับบุคคลที่แสดงถึงอำนาจหรือผู้เป็นใหญ่ กรณีศาสนาพราหมณ์มีตัวอย่างชัดเจนคือ พระวิษณุทรงจักรเป็นอาวุธ ส่วนในพุทธศาสนาคือ ธรรมจักร หรือ กงล้อแห่งพระธรรม โดยพระพุทธเจ้าทรงมีฐานะเป็นธรรมจักรพรรดิ หรือ ผู้ที่หมุนกงล้อแห่งธรรม ด้วยการประกาศเผยแผ่หลักธรรม โดยหลักธรรมแรกของพระองค์คือ “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมโปรดปัญจวัคคีย์ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี ในงานศิลปกรรมการสร้างรูปธรรมจักรจึงมักจะพบอยู่คู่กับรูปกวางหมอบ เพื่อแสดงว่าคือสวนกวางสถานที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา
ปัจจุบันเหตุการณ์พุทธประวัติตอนพระพุทธเจ้าแสดงปฐมเทศนา หรือแสดงพระธรรมครั้งแรกนั้นตรงกับวัน “อาสาฬหบูชา” (วันเพ็ญเดือน ๘) เนื้อหาธัมมจักกัปปวัตตนสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่พระปัญจวัคคีย์ในครั้งนั้นกล่าวถึง การดำรงตนในทางสายกลาง หรือ “มัชฌิมาปฏิปทา” ประกอบด้วยอริยมรรค ๘ ประการ ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ (เห็นชอบ) สัมมาสังกัปปะ (ความดำริชอบ) สัมมาวาจา (เจรจาชอบ) สัมมากัมมันตะ (ทำการงานชอบ) สัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีพชอบ) สัมมาวายามะ (เพียรพยายามชอบ) สัมมาสติ (ระลึกชอบ) และสัมมาสมาธิ (ตั้งจิตชอบ) การปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าวนี้เป็นทางสายกลางเพื่อไปสู่การตรัสรู้และนิพพาน
“...ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้แลคือปฏิปทาสายกลางนั้นที่ตถาคตได้ตรัสรู้แล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำดวงตาให้เกิด ทำญาณให้เกิด ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน ฯ...”
จากนั้นพระพุทธเจ้าจึงแสดงธรรม อริยสัจ ๔ หรือความจริงอันประเสริฐ ๔ ประการ ได้แก่ ทุกข์ (ความไม่สบายกายและใจ) สมุหทัย (สาเหตุแห่งการเกิดทุกข์) นิโรธ (ความดับทุกข์) มรรค (หลักปฏิบัติการดับทุกข์) การแสดงธรรมครั้งนี้โกณฑัญญะ หนึ่งในปัญจวัคคีย์ได้ฟังก็เกิดบรรลุทางธรรม
“...ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงเปล่งพระอุทานว่าท่านผู้เจริญ โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ ท่านผู้เจริญโกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ เพราะเหตุนั้น คำว่าอัญญาโกณฑัญญะนี้ จึงได้เป็นชื่อของท่านพระโกณฑัญญะด้วยประการฉะนี้ฯ...”
กล่าวคือภายหลังจากโกณฑัญญะได้ฟังพระธรรมครั้งนี้ จึงทูลขอบรรพชาเป็นพระสาวก ถือว่าเป็นวันที่พระสาวกรูปแรกบังเกิดขึ้น และพุทธศาสนามีองค์ประกอบครบสามประการ ได้แก่ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ที่รู้จักกันในนาม “พระรัตนตรัย”
ในวัฒนธรรมทวารวดี “ธรรมจักร” เป็นสัญลักษณ์ทางพุทธศาสนา สื่อถึงการเผยแผ่พระธรรมของพระพุทธเจ้า นอกจากนี้รูปธรรมจักรในวัฒนธรรมทวารวดียังปรากฏใน พระพิมพ์ รอยพระพุทธบาท* และเหรียญเงิน อีกด้วย
*ตัวอย่างเช่น รอยพระพุทธบาทคู่ ที่โบราณสถานสระมรกต อำเภอศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี
--------------------------------------------------
อ้างอิง
- พุทธมงคล (นางแฝง). สารัตถสมุจจัย อธิบายธรรมจักรกัปปวัตตนสูตร. กรุงเทพฯ: แสวงสุทธิการพิมพ์, ๒๕๒๗.
- ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะทวารวดี วัฒนธรรมยุคแรกเริ่มในดินแดนไทย. นนทบุรี: เมืองโบราณ, ๒๕๖๒.
- ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินทร (องค์การมหาชน). จารึกในประเทศไทย (จารึกเหรียญเงินทวารวดี (วัดพระประโทนเจดีย์ 1). [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๖๖, จาก:https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/detail/695
---------------------------------------------------
ที่มาของข้อมูล Facebook: National Museum Bangkok : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
https://www.facebook.com/nationalmuseumbangkok/posts/pfbid0Hsx39MKk8Fd4GiddxP2Pcaexye62XVTekuh2UMfaC66KH7Cp47fxW2Rr3tHTYrDQl
(จำนวนผู้เข้าชม 1362 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม
-
นโยบายเว็บไซต์ |
มาตรฐาน