พระพุทธรูปขัดสมาธิเพชร ศิลปะอยุธยา ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม
องค์ความรู้ทางวิชาการเรื่อง พระพุทธรูปขัดสมาธิเพชร ศิลปะอยุธยา ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม
ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม มีการจัดแสดงพระพุทธรูปที่ค้นพบจากพระอุระและพระพาหาซ้ายของพระมงคลบพิตร ในคราวที่กรมศิลปากรดำเนินการขุดแต่งและบูรณะโบราณสถานภายในเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา พ.ศ.2499
โดยมีพระพุทธรูปกลุ่มหนึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกันกับพระพุทธรูปในศิลปะล้านนา คือกลุ่มพระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิเพชรแลเห็นฝ่าพระบาททั้งสองหงายขึ้น พระวรกายอวบอ้วน พระพักตร์ค่อนข้างกลม พระรัศมีเป็นต่อมกลมคล้ายดอกบัวตูมหรือหยดน้ำ ครองจีวรห่มเฉียง ชายสังฆาฏิมักเป็นแถบสั้นพาดอยู่บนพระอังสาซ้ายเหนือพระอุระ และยังมีพระพุทธรูปลักษณะเดียวกันนี้อีกหลายองค์ที่พระยาโบราณราชธานินทร์เก็บรวบรวมไว้ นิยมเรียกกันโดยทั่วไปว่า “แบบขนมต้ม”
เดิมเข้าใจว่ากลุ่มพระพุทธรูปขัดสมาธิเพชรในศิลปะอยุธยา มีแหล่งกำเนิดที่นครศรีธรรมราชก่อน แล้วส่งต่อมายังศิลปะอยุธยา แต่ปัจจุบันมีการศึกษาแล้วพบว่าพระพุทธรูปขัดสมาธิเพชรในศิลปะอยุธยานั้น รับรูปแบบมาจากพระพุทธรูปขัดสมาธิเพชรในศิลปะล้านนาที่เรียกว่าพระพุทธรูป “แบบเชียงแสนสิงห์หนึ่ง”ซึ่งน่าจะเกี่ยวข้องกับคตินิยมพระพุทธสิหิงค์ ที่มีรูปแบบและคตินิยมในล้านนาก่อนที่จะถ่ายทอดลงมายังอยุธยา และส่งต่อไปยังนครศรีธรรมราช
สันนิษฐานว่าช่างอยุธยาคงได้รับรูปแบบและตำนานเกี่ยวกับพระพุทธรูปขัดสมาธิเพชรจากล้านนาอย่างชัดเจน ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 21 ที่อยุธยามีความสัมพันธ์กับล้านนา ในรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถและพระเจ้าติโลกราช ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ล้านนานิยมสร้างพระพุทธรูปขัดสมาธิเพชรอย่างมาก และต่อมามีหลักฐานปรากฏในเอกสาร เช่น คำให้การขุนหลวงหาวัด ที่ระบุอย่างชัดเจนว่า “พระพุทธสิหิงค์นั้นเป็นพระสมาธิเพชร” แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจที่ว่าพระพุทธรูปขัดสมาธิเพชรนั้นคือพระพุทธสิหิงค์
อย่างไรก็ตามพระพุทธรูปขัดสมาธิเพชรในศิลปะอยุธยา ก็ปรากฏลักษณะเฉพาะของตนเองที่ต่างไปจากศิลปะล้านนา ได้แก่ เส้นขอบพระเนตรกับพระขนงป้ายเป็นแผ่นโค้ง พระโอษฐ์กว้างหยักเป็นคลื่น บางองค์มีไรพระศก ส่วนฐานของพระพุทธรูปเป็นฐานยกสูง ประกอบด้วยฐานกลีบบัวหงายซ้อนเหนือฐานปัทม์และขาสิงห์ย่อเก็จ ทั้งนี้ลักษณะสำคัญที่ไม่เคยปรากฏในกลุ่มพระพุทธรูปขัดสมาธิเพชรในศิลปะล้านนาคือ การเล่นชายสังฆาฏิและชายผ้าที่พระเพลาโดยตกแต่งให้มีริ้วผ้าซ้อนเป็นชั้นๆ แตกต่างกันไปในแต่ละองค์
พระพุทธรูปขัดสมาธิเพชรในศิลปะอยุธยา สามารถกำหนดอายุร่วมกับพระพุทธรูปกลุ่มอื่นๆ ที่พบในพระอุระและพระพาหาของพระมงคลบพิตร ซึ่งส่วนใหญ่กำหนดอายุได้ในสมัยอยุธยาตอนกลาง ราวช่วงต้นหรือกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๑ – ช่วงกลางพุทธศตวรรษ ๒๒
----------------------------------------------
อ้างอิง
1. กรมศิลปากร, 2566. พระพุทธรูปสำคัญในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ. กรุงเทพฯ : รุ่งศิลป์การพิมพ์ (1977) จำกัด.
2. ศักดิ์ชัย สายสิงห์. (2551). “พระพุทธรูปขัดสมาธิเพชร ศิลปะอยุธยา: กรณีศึกษาพระพุทธรูปที่พบในองค์พระมงคลบพิตร”. เมืองโบราณ ปีที่ 34 ฉบับที่ 1 (มกราคม – มีนาคม 2551) 132-141.
----------------------------------------------
ที่มาของข้อมูล : Facebook พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม:Chantharakasem National Museum
----------------------------------------------
ที่มาของข้อมูล : Facebook พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม:Chantharakasem National Museum
https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=pfbid02JVWwfPJ4BMc4ksBa5WWcZoH6H6z4wBtLTvz71SkynCtdjykFekesaDuhZ8wJeA3sl&id=100057533676734&mibextid=Nif5oz
----------------------------------------------
เผยแพร่ทางเว็บไซต์ โดยกลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมศิลปากร
----------------------------------------------
เผยแพร่ทางเว็บไซต์ โดยกลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมศิลปากร
(จำนวนผู้เข้าชม 1274 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม
-
นโยบายเว็บไซต์ |
มาตรฐาน