องค์ความรู้: สำนักหอสมุดแห่งชาติ เรื่อง: เข็มข้าหลวงเดิม








           เครื่องราชอิสริยาภรณ์หรือที่เรียกกันว่า ตรา เป็นเครื่องหมายแสดงเกียรติยศและบำเหน็จความชอบที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้างขึ้นสำหรับพระราชทานเป็นบำเหน็จความชอบในราชการ รวมถึงเหรียญที่ระลึกที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างในโอกาสสำคัญต่าง ๆ เมื่อสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติ ทรงนำรูปวชิราวุธมาใช้ประกอบในเครื่องหมายและเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในรัชกาลของพระองค์ และเมื่อวันที่ 15 เมษายน ร.ศ.130 (พ.ศ.2454) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศใช้ "พระราชบัญญัติเข็มข้าหลวงเดิม" 
 
           เข็มข้าหลวงเดิม เป็นเข็มชั้นเดียว มีลักษณะเป็นรูปวชิราวุธแนวตั้ง คมเงินด้ำทอง พระราชทานแก่ข้าราชบริพารในพระองค์ ผู้ได้รับราชการในพระองค์มาแต่ก่อนเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ และยังคงรับราชการสืบมา แม้ไม่ได้ถวายตัวด้วยดอกไม้ธูปเทียนก็ตาม ผู้ที่ได้รับพระราชทานเข็มนี้แล้ว เมื่อมีความผิดรับพระอาญาต้องคืนเข็มยกเว้นแต่จะได้รับพระราชทานพระมหากรุณาเป็นพิเศษจึงสามารถประดับเข็มต่อไปได้ เข็มข้าหลวงเดิมนั้นให้ประดับที่เสื้อข้างซ้ายได้ทุกเวลา ให้ติดระหว่างกระดุมเม็ดที่ 2 และเม็ดที่ 3 ยกเว้นถ้าแต่งเครื่องยศประดับเครื่องราชอิศริยาภรณ์ ห้ามประดับเหนือเครื่องราชอิศริยาภรณ์และเหรียญ
 
          เข็มข้าหลวงเดิมนี้ พระราชทานแต่เฉพาะฝ่ายหน้า ต่อมาวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2463 โปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มเติมเข็มข้าหลวงเดิมสำหรับสตรี ลักษณะลวดลายเหมือนเข็มข้าหลวงเดิมของบุรุษ มีขนาดสูง 5.5 เซนติเมตร สามารถประดับเพชรพลอยเพิ่มขึ้นที่ลายริมคมและที่ลายต้นเข็ม พระราชทานเป็นเครื่องเชิดชูเกียรติยศแก่ข้าราชบริพารฝ่ายในที่เคยรับราชการสนองพระเดชพระคุณมาแต่ก่อนเสด็จเสวยราชย์สมบัติ
 
-----------------------------------------------
รายการอ้างอิง 
สารานุกรมพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว.  กรุงเทพฯ: มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว,  2540. 
พระราชบัญญัติเข็มข้าหลวงเดิม.  [ออนไลน์].  สืบค้นเมื่อ 29 มิถุนายน 2565, จาก: http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2454/A/7.PDF
 
เรียบเรียงโดย: นางสาวพีรญา ทองโสภณ บรรณารักษ์ปฏิบัติการ สำนักหอสมุดแห่งชาติ
 

(จำนวนผู้เข้าชม 1375 ครั้ง)

Messenger