สศก.ที่ 3 พระนครศรีอยุธยา ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ วิเคราะห์ความเสียหายของพลับพลาที่ประทับ สถานีรถไฟบางปะอิน เพื่อดำเนินการอนุรักษ์



          พลับพลาที่ประทับ สถานีรถไฟบางปะอิน ถูกสร้างขึ้นมาในช่วงราวปี พ.ศ.2434-2439 ครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริให้สร้างทางรถไฟสายเหนือ กรุงเทพ-โคราช ซึ่งเป็นเส้นทางรถไฟสายแรกในประเทศไทยไม่เพียงแต่รูปแบบของสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นแล้ว ภายในยังถูกประดับดับตกแต่งด้วยงานศิลปกรรมที่สวยงามและประณีต ประกอบด้วย งานแกะสลักไม้ งานปิดทอง และงานกระจกเขียนสี หรือที่เรียกโดยทั่วไปว่ากระจกสเตนกลาส ณ เวลานี้ อาคารหลังนี้มีอายุราว 130 กว่าปี ซึ่งควรถึงแก่เวลาในการอนุรักษ์ตัวอาคารและกระจกสเตนกลาส ซึ่งเสื่อมสภาพตามอายุการใช้งานของวัสดุ รวมถึงปัจจัยภายนอก



          เมื่อวันที่ 12-16 มิถุนายน 2566 สำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยาจึงได้ดำเนินการสำรวจและบันทึกสภาพความเสียหายอย่างครบถ้วนโดยวิเคราะห์ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ ก่อนดำเนินการรื้อถอนกระจกสเตนกลาสถอดเก็บเพื่อดำเนินการอนุรักษ์ตัวอาคารและกระจกสเตนกลาสต่อไป การดำเนินงานในครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากหลายหน่วยงาน ประกอบด้วย - สำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา -  การรถไฟแห่งประเทศไทย - รองศาสตราจารย์ จักรพันธ์ วิลาสินิกุล และอาจารย์สวรรยา จันทรสมัยสตูดิโอแก้ว คณะจิตรกรรมและประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร - Jerry Cummins & Jill Stehn Pty. Ltd.
          จากการตรวจสอบสภาพของกระจกสเตนกลาสโดยสำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา และผู้เชี่ยวชาญด้านงานอนุรักษ์กระจกสเตนกลาสจากประเทศออสเตรเลีย สตูดิโอแก้ว จากคณะจิตรกรรมและประติมากรรม มหาวิทยาศิลปากร พบว่า รางตะกั่วซึ่งเป็นโครงสร้างสำคัญที่จะประคองชิ้นกระจกให้ยึดติดบนผนังได้นั้นเสื่อมสภาพลง รวมถึงชิ้นกระจกบางส่วนได้แตกและหลุดหาย จึงทำให้น้ำฝนสามารถไหลผ่านเข้าตัวอาคารได้ และมีโอกาสที่งานศิลปกรรมจะเสืยหายโดยง่ายในอนาคต





















ที่มาของข้อมูล : Facebook สำนักศิลปากรที่ ๓ พระนครศรีอยุธยา https://www.facebook.com/100064413381094/posts/pfbid0DvgL3Yve5YBBjdcENx3VqkZ1zhCAHrGLBptM1uVmkZ3ZiA3ig5YdxcEqp382W9eKl/

(จำนวนผู้เข้าชม 636 ครั้ง)