ขอเชิญชมนิทรรศการพิเศษ “เงินตราในประเทศไทย : วิวัฒน์เงินตราไทย จากสุโขทัยถึงรัตนโกสินทร์”
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร จัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย ประจำปี ๒๕๖๖ การจัดนิทรรศการพิเศษ เรื่อง “เงินตราในประเทศไทย : วิวัฒน์เงินตราไทย จากสุโขทัยถึงรัตนโกสินทร์” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพและวันอนุรักษ์มรดกไทย และเพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับเรื่องเงินตราที่ใช้ในประเทศไทย พัฒนาการของเงินตรา รูปแบบของเงินตราในสมัยต่าง ๆ โดยเฉพาะที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร ให้แก่นักเรียนนักศึกษา ครูอาจารย์ และประชาชนทั่วไป
นิทรรศการพิเศษดังกล่าวจะบอกเล่าเรื่องราวของเงินตราในหัวข้อต่าง ๆ ได้แก่
๑. เงินตราในฐานะสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน
๒. พัฒนาการเงินตราในประเทศไทย
๓. เบี้ย : ความหมายของเบี้ย เบี้ยในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ หลักฐานการใช้เบี้ยเป็นเงินตราในประเทศไทย การยกเลิกใช้เบี้ย
๔. พดด้วง สมัยสุโขทัย อยุธยา และรัตนโกสินทร์
๕. มาตราเงินไทยโบราณ
๖. การปฏิรูประบบเงินตราในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
๗. เมื่อแรกปรากฏพระบรมรูปบนเหรียญกษาปณ์ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ กับการเปิดรับความเจริญจากชาวตะวันตก
๘. เงินตราสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ถึง พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ ๘
๙. เงินตราสมัยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙
๑๐. เงินตราสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐
นอกจากนี้ ภายในนิทรรศการยังมีการจัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ประเภทเงินตราต่าง ๆ เช่น เบี้ย สมัยอยุธยา พุทธศตวรรษที่ ๒๐ – ๒๓, เงินพดด้วง ชนิดราคา ๑ บาท ในสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม สมเด็จพระนารายณ์ และสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ ช่วงสมัยอยุธยาตอนกลางถึงตอนปลาย ซึ่งเป็นโบราณวัตถุที่พบในพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชร
เบี้ย สมัยอยุธยา
เงินพดด้วง ราคา ๑ บาท สมัยอยุธยา รัชกาลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม
เงินพดด้วง ราคา ๑ บาท สมัยอยุธยา รัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
เงินพดด้วง ราคา ๑ บาท สมัยอยุธยา รัชกาลสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ
เหรียญพระบรมรูป – ตราแผ่นดิน ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ บนเหรียญไม่ระบุศักราช เริ่มผลิตครั้งแรก ร.ศ. ๙๕ หรือ พ.ศ. ๒๔๑๙ ถือเป็นครั้งแรกที่มีการอัญเชิญพระบรมรูปพระมหากษัตริย์ประทับบนหน้าเหรียญ
เหรียญพระบรมรูป – ตราไอราพต ผลิตขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๖ จนถึง พ.ศ. ๒๔๖๘ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๑ พ.ศ. ๒๔๖๑ เศรษฐกิจตกต่ำ ราคาโลหะเงินเพิ่มสูงขึ้น จึงมีการลดส่วนผสมในการผลิตเงิน
เหรียญตราอุณาโลม – พระแสงจักร ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นเหรียญที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผลิตตามลักษณะแบบสตางค์รูที่เคยจัดทำในสมัยรัชกาลที่ ๕ แต่มีรายละเอียดแตกต่างกันบ้าง เช่น ศักราชที่ระบุบนเหรียญในสมัยนี้ใช้ปีพุทธศักราช (พ.ศ.) ส่วนในสมัยรัชกาลที่ ๕ ใช้ปีรัตนโกสินทร์ศก (ร.ศ.)
เหรียญพระบรมรูป – ตราพระครุฑพ่าห์ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ซึ่งตราพระครุฑพ่าห์ รัชกาลที่ ๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นตราพระราชลัญจกรประจำแผ่นดิน
เหรียญพระบรมรูป – ตราแผ่นดิน ชนิดราคา ๑ บาท ผลิตใน พ.ศ. ๒๕๐๕ สมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นเหรียญบาทที่มีลักษณะโดดเด่น เนื่องจากมีขนาดใหญ่ เส้นผ่านศูนย์กลาง ๒๗ มิลลิเมตร
เหรียญกษาปณ์ที่ระลึกเนื่องในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ ๑๐ วันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ด้านหน้าของเหรียญเป็นพระบรมรูป พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ส่วนด้านหลังมีรูปตราพระราชลัญจกรประจำพระองค์ มีรัศมีโดยรอบ
ธนบัตร แบบ ๓ รุ่น ๑ ชนิดราคา ๑ บาท เริ่มออกใช้ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๔๗๗ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นธนบัตรแบบแรกที่เชิญพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ของพระมหากษัตริย์เป็นภาพประธาน และมีการพิมพ์ข้อความแจ้งโทษของการปลอมแปลงธนบัตรเป็นครั้งแรก
ธนบัตรแบบ ๙ ชนิดราคา ๕๐ สตางค์ ประกาศออกใช้ครั้งแรก วันที่ ๒๖ มกราคม ๒๔๙๑ สมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นธนบัตรที่ไม่ปรากฏพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ รัชกาลที่ ๙ อีกทั้งไม่มีลายมือชื่อผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และไม่มีลายน้ำ
ผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมได้ระหว่างเดือนเมษายนถึงมิถุนายน ๒๕๖๖ โดยพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร เปิดให้บริการทุกวันพุธถึงวันอาทิตย์ เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๖.๐๐ น. หยุดวันจันทร์ วันอังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ค่าธรรมเนียมเข้าชม ชาวไทย ๒๐ บาท ชาวต่างชาติ ๑๐๐ บาท ยกเว้น นักเรียนนักศึกษา นักบวชทุกศาสนา และผู้สูงอายุ
---------------------------------------------
ข้อมูลวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๖๖
โดยนางสาวพรรณลักษณ์ พันธ์วนิชดำรง ภัณฑารักษ์ชำนาญการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร
(จำนวนผู้เข้าชม 9766 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม
-
นโยบายเว็บไซต์ |
มาตรฐาน