เครื่องประดับทองคำรูปหน้ายักษ์ จากเมืองโบราณอู่ทอง

          เครื่องประดับทองคำรูปหน้ายักษ์ พบบริเวณเมืองโบราณอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี จัดแสดง ณ ห้องบรรพชนคนอู่ทอง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง 
          เครื่องประดับทองคำ ขนาดกว้าง ๑.๑ เซนติเมตร สูง ๑.๙ เซนติเมตร สันนิษฐานว่าเป็นรูปใบหน้ายักษ์ สวมเครื่องประดับศีรษะยอดแหลม ขอบกระบังหน้าเป็นสันนูน คิ้วหนาตกแต่งด้วยขีดเป็นร่อง ระหว่างคิ้วเหนือจมูกมีรอยย่น ตาโปนกลมโต จมูกกลมใหญ่ แก้มป่อง หูสั้นมีปลายแหลม ริมฝีปากหนา อ้าปากเห็นฟันซี่ใหญ่ที่ขีดเป็นร่อง เหนือริมฝีปากด้านซ้ายและขวามีลายขีดเป็นร่องอาจเป็นหนวด ด้านหลังทำเป็นห่วงกลม และมีเดือยเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมอยู่ด้านล่าง กำหนดอายุสมัยทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๔ หรือประมาณ ๑,๒๐๐ – ๑,๔๐๐ ปีมาแล้ว
          ประติมากรรมรูปยักษ์ ปรากฏมาแล้วตั้งแต่สมัยอินเดียโบราณ และมีพัฒนาการทางรูปแบบศิลปะของแต่ละยุคสมัยเรื่อยมา ทั้งยังส่งอิทธิพลให้ศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ประเทศไทย กัมพูชา อินโดนีเซีย และเวียดนาม เป็นต้น  สำหรับงานศิลปกรรมสมัยทวารวดี นอกจากเครื่องประดับทองคำรูปหน้ายักษ์ชิ้นนี้แล้ว ยังพบประติมากรรมรูปยักษ์ทำจากดินเผาหรือปูนปั้นตามเมืองโบราณสมัยทวารวดีต่าง ๆ พบทั้งประติมากรรมลอยตัวและประติมากรรมนูนสูงสำหรับประดับศาสนสถาน บางชิ้นสันนิษฐานว่าเป็นทวารบาลผู้พิทักษ์ศาสนสถาน เช่น เศียรยักษ์ปูนปั้นพบที่เมืองโบราณอู่ทอง เศียรยักษ์พบที่หน้าบริเวณที่ทำการไปรษณีย์ จังหวัดลพบุรี ทวารบาลดินเผารูปยักษ์ พบที่โบราณสถานวัดพระงาม จังหวัดนครปฐม เป็นต้น
          เครื่องประดับรูปหน้ายักษ์ชิ้นนี้แม้มีขนาดเล็ก แต่ก็มีรายละเอียดที่คมชัด งดงาม เป็นหลักฐานที่แสดงถึงแสดงถึงความชำนาญและฝีมือของช่างสมัยทวารวดี ที่ทำเครื่องประดับทองคำนี้เมื่อกว่าพันปีมาแล้ว นอกจากนี้ที่เมืองโบราณอู่ทอง ยังพบเครื่องประดับทำด้วยทองคำอีกจำนวนหนึ่ง ได้แก่ เครื่องประดับรูปกินรี ตุ้มหู แหวน จี้และลูกปัด เป็นต้น

--------------------------------------------------- 
เอกสารอ้างอิง
กรมศิลปากร. โบราณคดีเมืองอู่ทอง. นนทบุรี : สหมิตรพริ้นติ้ง, ๒๕๔๕.
กรมศิลปากร. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์. กรุงเทพฯ : อมรินพริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, ๒๕๖๔
เฉิดฉันท์ รัตน์ปิยะภาภรณ์. “การศึกษาคติความเชื่อและรูปแบบของ “ยักษ์” จากประติมากรรมที่พบในประเทศไทย.” วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิตสาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๓๑.

----------------------------------------------------
ที่มาของข้อมูล : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง 
https://www.facebook.com/Uthongmuseum/posts/pfbid02N59fbeRwJEM4L17dYF8JozvoiBZ57S2FvYmosk25J1yGQ5DoGT8cob846HbqKT19l
----------------------------------------------------

*เผยแพร่ข้อมูลทางเว็บไซต์ โดยกลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมศิลปากร
 

(จำนวนผู้เข้าชม 1257 ครั้ง)

Messenger