โบราณสถานวัดแก้ว (วัดรัตนาราม)
โบราณสถานวัดแก้ว (วัดรัตนาราม) ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 2 บ้านวัดแก้ว ถนนสันตินิมิต ตำบลเลม็ด อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นวัดโบราณคู่กับวัดหลง มีโบราณสถานที่สำคัญ คือ เจดีย์ทรงปราสาทโครงสร้างก่ออิฐไม่สอปูน อยู่ในผังรูปกากบาทประกอบด้วย เรือนธาตุ และมุขทั้งสี่ด้าน ฐานชั้นล่างสุดเป็นฐานเขียงรูปกากบาท ลักษณะเป็นฐานประทักษิณ มีบันไดทางขึ้นด้านตะวันออก และตะวันตก ผนังด้านนอกอาคารมีการตกแต่งด้วยเสาติดผนัง และเซาะร่องผ่ากลางเสาจากโคนไปถึงยอดเสา
ลักษณะดังกล่าวคล้ายกับจันทิกะลาสันในศิลปะชวาภาคกลาง ประเทศอินโดนีเซีย และปราสาทมิเซน และปราสาทดงเดือง ในศิลปะจาม ประเทศเวียดนาม จึงกำหนดอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 14-15
ปัจจุบันอาคารโบราณสถานพังทลายเหลือเพียงส่วนฐานถึงเรือนธาตุ ส่วนเครื่องยอด หรือหลังคาหักพังลงมาหมดแล้ว กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 53 หน้า 1532 วันที่ 27 กันยายน 2497
ใน พ.ศ. 2564 สำนักศิลปากรที่ 12 นครศรีธรรมราช ดำเนินการขุดค้นเจดีย์วัดแก้วบริเวณทิศใต้ติดกับส่วนฐานเจดีย์ ขนาดหลุมกว้าง 2 เมตร ยาว 2 เมตร ความลึก 1.20 เมตรจากระดับผิวดิน เพื่อตรวจสอบฐานอาคารโบราณสถานเจดีย์วัดแก้ว ผลจากการขุดค้นพบสิ่งสำคัญ ได้แก่
1. เศษภาชนะดินเผาเนื้อดิน พบในระดับผิวดิน โดยจะพบเป็นเศษภาชนะดินเผาผิวเรียบมี 2 สี ได้แก่ สีเทา และสีส้ม สันนิษฐานว่าผลิตจากแหล่งเตาพื้นเมือง
2. เศษแก้ว และลูกปัดแก้ว พบในระดับผิวดิน เป็นเศษแก้วใสสีฟ้า และลูกปัดแก้วสีเหลือง
3. เศษเครื่องถ้วยจีน พบในระดับลึกลงไปจากระดับผิวดิน พบเครื่องถ้วยจีนเคลือบเขียว เคลือบน้ำตาล และลายคราม บางชิ้นสามารถกำหนดอายุสมัยราชวงศ์หมิง (ประมาณพุทธศตวรรษที่ 21-22) ลักษณะเป็นเครื่องถ้วยจีนลายคราม เขียนลายดอกไม้ และเส้นรอบก้นถ้วย 2 เส้น
4. แนวฐานเจดีย์โบราณสถานวัดแก้ว พบแนวอิฐเรียงตัวในแนวเดียวกัน นับจากระดับผิวดินลงไปได้ 7 ชั้น ซึ่งชั้นล่างสุดของอาคารโบราณสถานมีการนำเศษอิฐมาปรับพื้นที่ให้ได้ระนาบ หรือบดอัดเป็นส่วนฐานรากก่อนการก่อสร้างอาคาร
จากการขุดค้นโบราณสถานวัดแก้ว พบโบราณวัตถุประเภทเศษภาชนะดินเผาเนื้อดิน สันนิษฐานว่าเศษภาชนะดินเผาเหล่านี้ผลิตขึ้นจากแหล่งเตาพื้นเมือง และพบเศษเครื่องถ้วยจีน ซึ่งบางชิ้นสามารถบอกอายุสมัยได้ว่าอยู่ช่วงราชวงศ์หมิง (ประมาณพุทธศตวรรษที่ 21-22) แสดงให้เห็นการใช้งานพื้นที่โบราณสถานแห่งนี้ในสมัยอยุธยา
นอกจากนี้ ยังพบว่าส่วนฐานอาคาร มีการนำเศษอิฐมาปรับพื้นที่ให้ได้ระนาบหรือบดอัดเป็นส่วนฐานรากก่อนการก่อสร้างอาคาร และพบร่องรอยการปรับพื้นที่ก่อนการบูรณะอาคารโบราณสถานอีกด้วย
-------------------------------------------------------------
เรียบเรียง/กราฟิก : นายณัฐพล พิทักษ์รัตน์ นักวิชาการวัฒนธรรม
ตรวจทาน : นายจักรพันธ์ เพ็งประไพ นักโบราณคดีชำนาญการ
-------------------------------------------------------------
อ้างอิง
1. กรมศิลปากร. โบราณสถานแหล่งโบราณคดีจังหวัดสุราษฎร์ธานี, 2553. (อัดสำเนา)
2. กรมศิลปากร. รายงานการบรรยาย และเสวนา คาบสมุทรภาคใต้ตอนบนของไทย ข้อมูลใหม่จากหลักฐานโบราณคดี. กรุงเทพฯ : เรือนแก้วการพิมพ์. 2564.
3. เขมชาติ เทพไชย. การสำรวจขุดค้นวัดแก้ว อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี. นิตยสารศิลปากร. 24, 2523. หน้า 13-23.
4. นภัคมน ทองเฝือ. โบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนในเขตพื้นที่สำนักศิลปากรที่ 12 นครศรีธรรมราช. นครศรีธรรมราช: สำนักศิลปากรที่ 12 นครศรีธรรมราช กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม, 2563.
--------------------------------------------------------------
ที่มาของข้อมูล : สำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราช
---------------------------------------------------------------
*เผยแพร่ข้อมูลทางเว็บไซต์ โดยกลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมศิลปากร
(จำนวนผู้เข้าชม 4059 ครั้ง)