สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล รัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท มีพระนามเดิมว่า บุญมา ประสูติเมื่อ วันพฤหัสบดี เดือน ๑๑ ขึ้น ๑ ค่ำ ปีกุน จ.ศ. ๑๑๐๕ (ตรงกับวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๒๘๖) พระราชบิดารับราชการในราชสำนักกรุงศรีอยุธยามีบรรดาศักดิ์เป็นพระพินิจอักษร (ทองดี) ส่วนพระชนนีมีพระนามว่า ดาวเรือง (บางเอกสารกล่าวว่าชื่อ หยก) ทรงเป็นพระอนุชาของ นายทองด้วง (ต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ แห่งราชวงศ์จักรี) เมื่อเจริญพระชนมพรรษาได้รับราชการอยู่กรมมหาดเล็กในราชสำนักอยุธยา
ภายหลังเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง พระองค์หลบหนีทหารพม่าไปเข้าร่วมเป็นทหารในกองทัพของสมเด็จพระเจ้าตากสินตีเมืองจันทบุรีและขับไล่พม่าที่เมืองธนบุรี พระองค์ได้ดำรงตำแหน่งเป็นพระมหามนตรีเจ้ากรมตำรวจ ตลอดสมัยกรุงธนบุรีพระองค์เป็นทหารเอกคนสำคัญของสมเด็จพระเจ้าตากสิน ได้รับการเลื่อนยศหลายครั้งในตำแหน่ง พระยาอนุชิตราชา พระยายมราช และพระยาสุรสีห์พิษณุวาธิราชผู้สำเร็จราชการเมืองพิษณุโลก ตามลำดับ ด้วยพระอัธยาศัยที่กล้าหาญ เข้มแข็งและเด็ดขาด จึงมีพระสมัญญานามว่า “พระยาเสือ”
พ.ศ. ๒๓๒๕ เมื่อสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ ๑) พระเชษฐาของพระองค์ พระราชทานอุปราชาภิเษกเจ้าพระยาสุรสีห์ สมเด็จพระอนุชาธิราช เป็นพระมหาอุปราช ตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ประทับ ณ พระราชวังบวรสถานมงคล ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของพระบรมมหาราชวัง โดยเป็นพระราชวังที่ถ่ายแบบมาจากพระราชวังจันทรเกษม กรุงศรีอยุธยา และมีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมที่แตกต่างไปจากวังหลวง อาทิ หลังคาชั้นเดียวเป็นหลังคาทรงจั่ว มุงด้วยกระเบื้องดินเผา คันทวยรองรับหลังคาเป็นรูปนาคประดับพันธุ์พฤกษา หมู่พระวิมานไม่ทำซุ้มประตูหน้าต่าง (ยกเว้นพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์) รูปแบบเช่นนี้ต่างจากงานสถาปัตยกรรมในพระบรมมหาราชวังที่นิยมทำอาคารที่แสดงฐานันดรชั้นสูง อาทิ การทำซ้อนชั้นหลังคา ทรงยอดปราสาท ประตูหน้าต่างประดับด้วยซุ้มปูนปั้นอย่างไทยประเพณี เช่น ซุ้มบันแถลง ซุ้มยอดมงกุฎ เป็นต้น
ตลอดสมัยรัชกาลที่ ๑ พระองค์ยังคงมีบทบาทในการทำสงครามอยู่หลายครั้ง ได้แก่ สงครามเก้าทัพที่ตำบลลาดหญ้า (พ.ศ. ๒๓๒๘) สงครามขับไล่พม่าที่ท่าดินแดง (พ.ศ. ๒๓๒๙) สงครามตีเมืองทวาย (พ.ศ. ๒๓๓๐) สงครามขับไล่พม่าที่เมืองเชียงใหม่ (พ.ศ. ๒๓๓๘) ภายหลังเสร็จศึกกับพม่า เจ้าเมืองเชียงใหม่ได้ทูลเกล้าฯ ถวาย พระพุทธสิหิงค์ พระองค์ได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ลงมาประดิษฐานไว้ที่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์
ในคราวสงครามป้องกันพม่าที่เมืองเชียงใหม่ (พ.ศ. ๒๓๔๕) สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ทรงยกทัพออกไปรบร่วมกับสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ แต่ระหว่างทางที่พระองค์เสด็จ พระองค์เกิดประชวรด้วยพระโรคนิ่วที่เมืองเถิน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงทรงมีรับสั่งให้กรมพระราชวังหลังเสด็จขึ้นไปช่วยในการศึกจนกระทั่งสามารถชนะทัพฝ่ายพม่าได้ในที่สุด
ขณะเดียวกันสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาททรงใส่พระทัยในพระราชกรณียกิจด้านศาสนา โดยเฉพาะการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดหลายแห่งในพื้นที่ฝั่งพระนคร ได้แก่ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ (พระองค์พระราชทานนามว่า วัดนิพพานาราม) วิหารคดวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) หอมณเฑียรธรรมวัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดชนะสงคราม (วัดตองปุ) วัดสังเวชวิศยาราม (วัดบางลำพู) วัดเทวราชกุญชร (วัดสมอแครง) วัดราชาธิวาส (วัดสมอราย) และวัดปทุมคงคา (วัดสำเพ็ง) วัดในพื้นที่ฝั่งธนบุรี ได้แก่ วัดครุฑ วัดสุวรรณคีรี (วัดขี้เหล็ก) ส่วนวัดในหัวเมือง เช่น วัดสุวรรณดาราราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และวัดพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี
นอกจากนี้พระองค์ยังมีงานวรรณกรรมที่ทรงพระนิพนธ์ไว้หลายเรื่อง ได้แก่ เพลงยาวถวายพยากรณ์ (พ.ศ. ๒๓๓๒) พระนิพนธ์ในคราวที่เกิดอัสนีบาตตกมาหน้าบันมุขเด็จพระที่นั่งอินทราภิเษก (ต่อมาถูกรื้อลงแล้วสร้างพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทขึ้นแทน) เพลงยาวรบพม่าที่นครศรีธรรมราช (พ.ศ. ๒๓๒๙) พระนิพนธ์เมื่อครั้งยกทัพไปรบพม่าที่ตั้งทัพอยู่ทางหัวเมืองภาคใต้ เพลงยาวเรื่องตีเมืองพม่า (พ.ศ. ๒๓๓๐) พระนิพนธ์ในคราวยกทัพไปตีเมืองทวาย
ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) ได้กล่าวว่า สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ประชวรเป็นโรคนิ่วนับตั้งแต่ที่พระองค์ยกทัพขึ้นไปเมืองเชียงใหม่ แต่ใน พระนิพนธ์เรื่อง “นิพานวังน่า” ของ พระองค์เจ้าหญิงกัมพุชฉัตร ซึ่งเป็นพระธิดาในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ได้บันทึกไว้ว่าสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท มีพระประชวรด้วยโรควัณโรคอย่างไรก็ตามนับตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๔๕ พระอาการก็ทรุดลงตามลำดับ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมและทอดพระเนตรการรักษาเป็นเวลา ๖ วัน ถึงวันพฤหัสบดี เดือน ๑๒ แรม ๔ ค่ำ จ.ศ.๑๑๖๕ (ตรงกับวันที่ ๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๓๔๖) สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท เสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งบูรพาภิมุข พระราชวังบวรสถานมงคล พระชนมายุได้ ๖๐ พรรษา ทรงดำรงพระอิสริยยศกรมพระราชวังบวรสถานมงคลเป็นเวลา ๒๑ ปี
-------------------------------------------------
อ้างอิง
กรมศิลปากร. กรมพระราชวังบวรสถานมงคลสมัยรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ: รุ่งศิลป์การพิมพ์, ๒๕๕๕.
. สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, ๒๕๔๗.
กัมพุชฉัตร, พระองค์เจ้าหญิง. นิพานวังน่า. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ: มติชน, ๒๕๔๓.
ทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑. (กรุงเทพฯ : บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), ๒๕๓๙.
(จำนวนผู้เข้าชม 38052 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม
-
นโยบายเว็บไซต์ |
มาตรฐาน