ชโย หรือ ไชโย  เป็นคำอุทานที่แสดงถึงความยินดีมีชัย หรือแปลตามราชบัณฑิตยสถาน 2554 หมายความว่า ความชนะ เป็นคำที่เราคนไทยรู้จักเป็นอย่างดี แต่เดิมคนไทยใช้วิธี “โห่” โดยมีต้นเสียงเป็นผู้นำร้องโห่ และผู้ร่วมชุมนุมแสดงความยินดีร้องรับ “ฮิ้ว” พร้อมเพรียงกัน จากนั้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงเริ่มใช้คำว่า ชะโย ที่มีรากศัพท์มาจากคำว่า ชย หรือ ชัยชนะ ทรงนำมาใช้ครั้งแรกในบทเพลงสรรเสริญพระบารมี “ดุจะถวายไชย ชโยฯ” ที่พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์แก้ไขใหม่เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 22 มกราคม 2456 
          ครั้นต่อมาเมื่อเสด็จพระราชดำเนินบวงสรวงพระเจดีย์ยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ตามธรรมเนียมโบราณคนไทยจะต้องโห่ร้องเอาชัยตามประเพณี เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายดวงวิญญาณแด่องค์กษัตริย์ผู้กล้าหาญ แต่เนื่องด้วยเหตุบังเอิญหรือใด ๆ ไม่ทราบ ต้นเสียงผู้นำโห่ขึ้น ขบวนเสือป่าไม่สามารถโห่รับให้เป็นเสียงเดียวกันได้ ไม่มีความพร้อมเพรียงกันทั้ง 3 ครั้ง เกิดเป็นเหตุให้ทรงไม่พอพระราชหฤทัย พระองค์ทรงแก้ไขเหตุการณ์ดังกล่าว ทรงมีพระดำรัสขึ้นกล่าวถึงสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเป็นการระลึกพระคุณ และได้ให้ผู้ที่มาชุมนุมนั้นเปล่งเสียงไชโยตามพระองค์ เมื่อสิ้นกระแสรับสั่งแล้ว พระองค์ทรงเปล่งเสียงกังวานนำขึ้นว่า “ชัย” จากนั้นเองเสือป่าและลูกเสือทั้งหลายก็ร้องรับ “โย” เป็นเสียงเดียวกันดังกึกก้องพร้อมเพรียง ซ้อนกันทั้ง 3 ครั้ง ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยซ้อมด้วยกันมาก่อน จนเป็นที่พอพระราชหฤทัยอย่างยิ่ง นับเป็นครั้งแรกที่คำว่า ไชโย ได้มีการเปล่งเสียงขึ้นมา และคนไทยใช้คำว่าไชโยเป็นคำอวยพรแสดงความยินดีนับแต่นั้นมาจนถึงวันนี้
ภาพ : บทสรรเสริญพระบารมี


ภาพ : ดุสิตสมิต ฉบับพิเศษ



ภาพ : พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวกับสมาชิกกองเสือป่า
 
--------------------------------------------------------------
รายการอ้างอิง
วรชาติ มีชูบท. “ชโย ชโย ชโย,” วชิราวุธานุสรณ์สาร 19, 2 (6 เมษายน 2543): 21-24.
อมรดรุณารักษ์ (แจ่ม สุนทรเวช).  เสือป่าและลูกเสือในประวัติศาสตร์ รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว.  กรุงเทพฯ: องค์การค้าของคุรุสภา, 2514. 
--------------------------------------------------------------
เรียบเรียงโดย : นางสาวพีรญา ทองโสภณ บรรณารักษ์ปฏิบัติการ สำนักหอสมุดแห่งชาติ
 
 
*เผยแพร่ข้อมูลทางเว็บไซต์ โดยกลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมศิลปากร

(จำนวนผู้เข้าชม 2467 ครั้ง)

Messenger