วิหารหลวงพ่อนาค ศาสนสถานบนเขาธรรมามูล จังหวัดชัยนาท
ภูเขานับตั้งแต่อดีตเป็นต้นมาบรรดาพื้นที่ส่วนต่าง ๆ บนพื้นโลกนั้น พื้นที่ส่วนที่เป็น ภูเขา นั้นนับเป็นพื้นที่ ที่มักถูกยึดโยงทางความเชื่อและวัฒนธรรมให้เกี่ยวข้องและสัมพันธ์กับอำนาจศักดิ์สิทธิ์ของท้องถิ่นนั้น ๆ โดยถือว่าเป็นอำนาจจากเบื้องบน โดยมีน้ำและแผ่นดินเป็นอำนาจพื้นล่างที่รองลงมา ภูเขาในพื้นที่ต่าง ๆ มักจะถูกกำหนดไว้ให้เป็นพื้นที่สถิตของอำนาจเหนือธรรมชาติ ซึ่งความเชื่อนี้ก็พบโดยทั่วไปในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และพื้นที่อื่น ๆ อีก เช่น จีน ทิเบต และอินเดีย
ในจังหวัดชัยนาทนั้นปรากฎภูเขาอยู่หลายลูก เช่น เขาแหลม เขาพลอง เขาขยาย เขาท่าพระ เขาสรรพยา และเขาธรรมามูล เป็นต้น แต่ภูเขาที่ถือว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ปรากฎในตราประจำจังหวัดชัยนาทมีด้วยกันอยู่ 2 ลูก อันได้แก่ เขาสรรพยา ในอำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท และ เขาธรรมามูล ในอำเภอเมืองฯ จังหวัดชัยนาท โดยความสำคัญของภูเขา 2 ลูกนี้นั้นถึงขนาดที่มีผลให้ กรมศิลปากร ในสมัยจอมพลป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี นั้น เห็นควรทำตราประจำจังหวัดชัยนาท เป็นรูปธรรมจักรกับภูเขา โดย ธรรมจักร มีความหมายถึง วัดธรรมามูล ส่วนภูเขา มีความหมายถึง เขาธรรมามูล หรือเขาสรรพยาก็ได้ เลยทีเดียว
เมื่อภูเขาถูกยึดโยงเข้ากับความเชื่อที่ว่าเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของอำนาจศักดิ์สิทธิ์จากเบื้องบนแล้วนั้น ภูเขาในหลาย ๆ ที่จึงมักถูกชาวบ้านและชาวเมืองนั้น ๆ ใช้เป็นพื้นที่ประดิษฐานสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชุมชนหรือบ้านเมืองนั้น ๆ นับถือ เฉกเช่น บนเขาธรรมามูล ของเมืองชัยนาท ที่ปรากฎการสร้างวิหารประดิษฐานรูปเคารพบนเขา
เมื่อเดินเท้าขึ้นไปตามบันไดขึ้นเขาที่ทอดตัวตามแนวเชิงเขาอยู่ จำนวน 565 ขั้น ที่เริ่มขั้นแรกอยู่บริเวณด้านหน้าพระอุโบสถวัดธรรมามูลวรวิหาร ก็จะพบลานพื้นที่ราบบนเขาธรรมามูล หลังจากนั้นเดินเท้าไปตามทางราบสลับที่สูงอีกราว 500 เมตร ก็จะพบกับวิหารหลวงพ่อนาค ที่เป็นศาสนสถานบนเขาธรรมามูลแห่งนี้ วิหารแห่งนี้เป็นศาสนสถานที่ค่อนข้างเล็ก เป็นวิหารก่ออิฐถือปูนและฉาบผนังอาคารด้วยปูนตำโบราณที่มีทางเข้าทางเดียวทางด้านหน้า ผนังด้านข้างทั้ง 2 และผนังด้านหลังพระประธาน ทึบไม่มีช่องหน้าต่าง ฐานวิหารปรากฎการทำฐานบัว ภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปจำนวน 3 องค์ โดยองค์กลางเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ขนาบด้านข้างทั้ง 2 ด้วยพระพุทธรูปนาคปรก ส่วนหลังคาของวิหารดั้งเดิมน่าจะผุพังไป มีการสร้างหลังคากระเบื้องลอนแบบปัจจุบันทดแทนไว้
จากร่องรอยดังกล่าวจึงแสดงให้เห็นถึงความเชื่อความศรัทธาของชาวบ้าน ชาวเมือง ต่อภูเขาจนทำให้เกิดการสร้างศาสนสถานบนเขา เพื่อเชื่อมโยงอำนาจศักดิ์สิทธิ์เบื้องบนกับความศรัทธาของชาวพื้นราบ ให้สอดประสานทางใจอันเป็นที่พึ่งอีกทางของชาวบ้านชาวเมืองชัยนาทนั่นเอง
-----------------------------------------------------
ที่มาของข้อมูล : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชัยนาทมุนี
-----------------------------------------------------
*เผยแพร่ข้อมูลทางเว็บไซต์ โดยกลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมศิลปากร
(จำนวนผู้เข้าชม 3446 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม
-
นโยบายเว็บไซต์ |
มาตรฐาน