“วิธีการใช้น้ำมันมะพร้าวจุดตะเกียงเจ้าพายุแทนแอลกอฮอล์” ในปี ๒๔๘๗
ค้นพบ “วิธีการใช้น้ำมันมะพร้าวจุดตะเกียงเจ้าพายุแทนแอลกอฮอล์” ในปี ๒๔๘๗
.
เอกสารจดหมายเหตุชุดจังหวัดจันทบุรี ระบุว่าเมื่อวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๘๗ ปลัดกระทรวงมหาดไทยได้แจ้งคณะกรมการจังหวัดจันทบุรีว่า นายสถานีรถไฟสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย ได้ค้นพบวิธีการใช้น้ำมันมะพร้าวจุดตะเกียงเจ้าพายุแทนแอลกอฮอล์ขึ้นสำเร็จ จึงขอให้จังหวัดเผยแพร่ข้อมูลให้ประชาชนทราบต่อไป โดยมีคำแนะนำวิธีการใช้ดังนี้
.
---- ให้เทน้ำมันมะพร้าวใส่จานแอลกอฮอล์ ซึ่งติดอยู่ที่โคนเสาไส้ตะเกียงเจ้าพายุประมาณเศษสองส่วนสามของจาน
---- ฉีกเศษผ้า ชุบน้ำมันมะพร้าวให้ชุ่มเอาวางในจานแอลกอฮอล์ ให้บางส่วนของผ้าพ้นขึ้นมาจากน้ำมันเล็กน้อย
---- เอาไม้ขีดไฟจุดที่ผ้าซึ่งมีน้ำมันหล่อเลี้ยง พอเสาไส้ตะเกียงมีความร้อนได้ที่ จึงทำการสูบ
ผลที่ได้จากการใช้น้ำมันมะพร้าวแทนแอลกอฮอล์จุดตะเกียงนี้ กรมวิทยาศาสตร์ได้ทำการทดลองปรากฏว่าใช้แทนกันได้ดี แต่ใช้เวลานานกว่าแอลกอฮอล์เล็กน้อย
.
• ความเป็นมาของตะเกียงเจ้าพายุ
ตะเกียงเจ้าพายุดวงแรกของโลก ได้ถือกำเนิดขึ้นในปี ค.ศ.๑๘๙๕ โดยนาย Meyenberg, Wendorf และ Henlein ได้ทำการจดลิขสิทธิ์ “ตะเกียงไอ (Vapourlamp)” เมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม ค.ศ.๑๘๙๕ ตะเกียงประเภทนี้นอกจากใช้ในบ้านเรือนแล้ว ยังใช้เป็นโคมไฟตามถนนหนทาง รวมถึงประภาคารเพื่อส่องแสงเจิดจ้าฝ่าความมืดผ่านมหาสมุทรเพื่อแจ้งเตือนเรือถึงภัยจากหินโสโครก
.
• หลักการทำงานของตะเกียงเจ้าพายุ
เกิดจากหลักการเปล่งแสงของวัสดุ อันเนื่องมาจากพลังงานความร้อน (Incandescent)
เหมือนกับหลอดไฟไส้ร้อนและสว่างจ้าจากกระแสไฟฟ้านั่นเอง แต่เจ้าพายุนั้นจะให้ความร้อนกับไส้ไหม (Rayon)
ที่ทำมาจากสาร ceramic พวก Thorium Oxide, Cerium Oxide และ Magnesium Oxide ซึ่งสารทั้ง ๓ ตัวนี้ จะมีคุณสมบัติพิเศษ คือเปล่งแสงได้สว่างที่สุดเมื่อได้รับความร้อน โดยแสงนั้นจะสว่างจ้ากว่าเปลวไฟจากน้ำมันถึง ๖ เท่า
.
การให้ความร้อนกับไส้ไหมนี้ กระทำโดยพ่นน้ำมันก๊าดที่มีความดันผ่านหัวฉีด และผสมกับอากาศ
และจุดให้เปลวน้ำมันก๊าดนี้ "พ่น" ผ่านไปยังไส้ไหมที่เคลือบ Oxide ไว้ โดยไส้ไหมของเจ้าพายุ จะไม่ไหม้เป็นจุณเพราะสาร ceramic ที่เคลือบไส้นี้มีจุดหลอมเหลว
สูงถึง ๒,๕๕๐ องศา แต่เปลวจากไอน้ำมันก๊าดที่เผาไส้นั้นจะร้อนเพียง ๑,๔๐๐ องศาเท่านั้น
ผู้สนใจสามารถค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี และระบบสืบค้นเอกสารจดหมายเหตุ https://archives.nat.go.th
ผู้เรียบเรียง
นางสาวสุจิณา พานิชกุล นักจดหมายเหตุปฏิบัติการ
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี
------------------------------
อ้างอิง :
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี. เอกสารกระทรวงมหาดไทย ชุดจังหวัดจันทบุรี จบ ๑.๒.๔/๓๑๗ เรื่องการใช้น้ำมันมะพร้าวธรรมดาแทนแอลกอฮอล์จุดตะเกียงเจ้าพายุ (๑๓ กุมภาพันธ์ - ๒๙ มีนาคม ๒๔๘๗).
ตะเกียงเจ้าพายุ. เข้าถึงได้จาก https://www.thailandoutdoor.com/.../Lantern/lantern.html สืบค้นเมื่อ ๑ กันยายน ๒๕๖๕.
หลักการทำงานของตะเกียงเจ้าพายุ. เข้าถึงได้จาก https://www.facebook.com/shopoutdoorlife สืบค้นเมื่อ ๑ กันยายน ๒๕๖๕.
(จำนวนผู้เข้าชม 3091 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม
-
นโยบายเว็บไซต์ |
มาตรฐาน