พระที่นั่งหันหลังชนกัน ที่วัดมหาธาตุ จังหวัดราชบุรี






วัดมหาธาตุวรวิหาร ราชบุรี หรือเดิมเรียกว่า วัดหน้าพระธาตุ เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่เลขที่ ๗ ถนนเขางู ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี เป็นวัดเก่าแก่ที่สำคัญของเมืองราชบุรีตั้งอยู่บริเวณฝั่งขวาของแม่น้ำแม่กลอง
วัดมหาธาตุ พบหลักฐานที่น่าสนใจ และสร้างความประหลาดใจต่อผู้ที่พบเห็น คือ บริเวณด้านหน้าองค์พระปรางค์มีวิหารที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยประทับนั่งหันพระปฤษฎางค์ (หลัง) ชนกัน จำนวน ๕ หลังวิหารทั้ง ๕ หลัง ประกอบด้วย
๑. วิหารหลวง ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าพระปรางค์ วางตัวในแนวแกนทิศตะวันออก - ตะวันตก ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยประทับนั่งหันพระปฤษฎางค์ (หลัง) ชนกัน ๒ องค์ คือ พระมงคลบุรี และพระศรีนัคร์ มีลักษณะเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นแกนด้านในทำจากหินทรายสีแดง ขนาดเท่ากันวางตัวในแกนทิศตะวันออก - ตะวันตก เช่นเดียวกับตัวอาคาร
๒. วิหารราย ๒ หลัง ตั้งอยู่ขนาบกับวิหารหลวงทั้งสองด้าน วางตัวแนวแกนทิศตะวันออก – ตะวันตก เช่นเดียวกับวิหารหลวง ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยประทับนั่งหันพระปฤษฎางค์ (หลัง) ชนกัน ในขนาดที่ต่างกัน พระพุทธรูปองค์ใหญ่ประดิษฐานด้านหน้า พระพุทธรูปองค์เล็กประดิษฐานด้านหลัง หันพระพักตร์ทางทิศตะวันออก - ตะวันตก ตามแนวแกนวิหาร
๓. วิหารราย ๒ หลัง ตั้งอยู่ด้านหน้าถัดออกไปจากวิหารรายในข้อ ๒ วางตัวแนวแกนทิศเหนือ – ใต้ ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยประทับนั่งหันพระปฤษฎางค์ (หลัง) ชนกัน ในขนาดที่ต่างกัน พระพุทธรูปองค์ใหญ่ประดิษฐานด้านหน้า พระพุทธรูปองค์เล็กประดิษฐานด้านหลัง หันพระพักตร์ทางทิศเหนือ - ใต้ ตามแนวแกนวิหาร
พระพุทธรูปเหล่านี้ไม่ปรากฏหลักฐานการสร้างแน่ชัด แต่ด้วยรูปแบบทางศิลปะของพระพุทธรูปทั้งหมดในวิหารแต่ละหลัง มีลักษณะเป็นพระพุทธรูปสมัยอยุธยา อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๐ - ๒๒ พระพุทธรูปเหล่านี้ถูกเคลื่อนย้ายมาจากวัดร้างที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงวัดมหาธาตุ เช่น วัดลั่นทมที่อยู่ทางทิศใต้ วัดอุทัยตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ วัดโพธิ์เขียวหรือวัดเพรงที่ตั้งอยู่ทางทิศเหนือ เป็นต้น การประดิษฐานให้พระพุทธรูปสององค์ให้นั่งหันหลังชนกันนั้น ก็ไม่ปรากฏมูลเหตุแน่ชัด อาจจะเป็นความตั้งใจที่ต้องการให้ช่วยปกปักรักษาคุ้มครองบ้านเมืองทั้งสี่ทิศ เนื่องจากช่วงเวลานั้นเป็นช่วงที่บ้านเมืองมีศึกสงครามอยู่บ่อยครั้งก็เป็นได้
--------------------------------------------------------------
ที่มาของข้อมูล : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี
https://www.facebook.com/ilove.ratchaburi.national.museum/posts/pfbid02Ncda16WY8AwtmWLF3omd2XLc2Zn1eGsQZLDSJp4HqjsCzf6xZWVXfdkXmXXgM6Vxl
*เผยแพร่ข้อมูลทางเว็บไซต์ โดยกลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมศิลปากร
*เผยแพร่ข้อมูลทางเว็บไซต์ โดยกลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมศิลปากร
(จำนวนผู้เข้าชม 11513 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม
-
นโยบายเว็บไซต์ |
มาตรฐาน