*เผยแพร่ข้อมูลทางเว็บไซต์ โดยกลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมศิลปากร
(ที่มาภาพ https://mapio.net/pic/p-42150518/)

          รถไฟ เข้ามาในประเทศไทยเป็นเวลานานร่วมร้อยปีแล้ว ด้วยเกิดจากพระราชดำริในพระบาท สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ที่ทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญของกิจการรถไฟที่ทำให้การติดต่อค้าขายหรือขนส่งสินค้าระหว่างกรุงเทพฯ และภูมิภาคต่าง ๆ มีความสะดวกสบายมากกว่าการคมนาคมทางเรือหรือทางเกวียนซึ่งใช้เวลานานและไม่สะดวกเท่า โดยทางรถไฟสายแรกที่เปิดให้บริการแก่ชาวสยามในสมัยนั้น คือ ทางรถไฟสายกรุงเทพฯ – นครราชสีมา ก่อนที่ในเวลาต่อมาจะมีการสร้างรถไฟสายเหนือหรือรถไฟสายกรุงเทพฯ – เชียงใหม่และพัฒนากิจการรถไฟมาเป็นลำดับเช่นในปัจจุบัน
          ทางรถไฟสายเหนือ ถือเป็นเส้นทางคมนาคมสำคัญที่เอื้อให้การติดต่อระหว่างกรุงเทพฯ กับเมืองต่าง ๆ ในภาคเหนือเป็นไปโดยสะดวกมากขึ้น ความน่าสนใจประการหนึ่งของเส้นทางรถไฟสายดังกล่าว คือ การสร้างทางแยกที่ชุมทางบ้านดารา (ปัจจุบันอยู่ในเขตพื้นที่อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์) และมาสิ้นสุดที่เมืองสวรรคโลกหรือจังหวัดสวรรคโลก (ปัจจุบันคือ สถานีรถไฟสวรรคโลก อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย) ทำให้ทางรถไฟสายนี้ถูกเรียกว่า เส้นทางรถไฟสายสวรรคโลก มีระยะทาง ๒๙ กิโลเมตร เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๔๕๒ เป็นต้นมาจนถึงในปัจจุบัน แรกเริ่มทางรถไฟสายนี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางรถไฟที่จะไปยังเมืองตาก เชื่อมต่อพื้นที่ลุ่มแม่น้ำน่านและพื้นที่ลุ่มแม่น้ำปิงเข้าด้วยกันทว่าการก่อสร้างทางรถไฟกลับไม่ได้ดำเนินการต่อจนบรรลุตามจุดประสงค์เดิม ทำให้เส้นทางรถไฟสายนี้สิ้นสุดลงที่เมืองสวรรคโลกเท่านั้น ถึงกระนั้น เส้นทางรถไฟสายสวรรคโลกก็นับเป็นเส้นทางรถไฟสายสำคัญที่ช่วยขนส่งท่อนไม้ ของป่า และสินค้าอื่น ๆ รวมถึงช่วยให้การเดินทางติดต่อของผู้คนจากเมืองสวรรคโลกและเมืองต่าง ๆ ในบริเวณใกล้เคียงไปยังกรุงเทพฯ มีความสะดวกสบายมากขึ้น ทั้งยังเป็นหลักฐานบ่งชี้ถึงความสำคัญของเมืองสวรรคโลกซึ่งสอดคล้องกับการประกาศยกฐานะเมืองสวรรคโลกเป็นจังหวัดสวรรคโลกในปี พ.ศ. ๒๔๕๙ ด้วย
          ทุกวันนี้ เส้นทางรถไฟสายสวรรคโลกยังคงเปิดให้บริการมาโดยตลอด กระทั่งช่วงสองปีมานี้ที่มีการปิดให้บริการชั่วคราวเนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) จึงอาจเรียกได้ว่าทางรถไฟสายนี้เป็นมรดกความทรงจำสำคัญของผู้คนในท้องถิ่นที่ยังรอคอยที่จะทำหน้าที่ของตนเองต่อไป

--------------------------------------------------------------------
เอกสารอ้างอิง
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารกระทรวงการต่างประเทศ กต.๕.๒/๗๙ เรื่อง พระราชดำรัสในการเปิดรถไฟสายเหนือ.
การรถไฟไทย. ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าเสริมสวาสดิ์ กฤดากร ณ สุสานหลวงวัดเทพ
ศิรินทราวาส วันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๔๘๔.
ประวัติการรถไฟแห่งประเทศไทย [ออนไลน์]. เข้าถึงเมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๖๕. เข้าถึงได้จาก https://www.railway.co.th/
 
---------------------------------------------------------------------
ที่มาของข้อมูล : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สวรรควรนายก
https://www.facebook.com/sawanvoranayok/posts/pfbid02ikJfWnVkQnjUCQx7fbU9pK7qCNgYbinToEjsF9k8misgazc99Mn3bSdsUW1GUDgjl


*เผยแพร่ข้อมูลทางเว็บไซต์ โดยกลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมศิลปากร

(จำนวนผู้เข้าชม 1814 ครั้ง)