พระพิมพ์รูปพระโพธิ์สัตว์ (นางตารา) สมัยพุกาม

พระพิมพ์รูปพระโพธิ์สัตว์ (นางตารา)
สมัยพุกาม พุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๙
กองตำรวจรักษาของโบราณประเทศพม่า ส่งมาเมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๔
ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ ณ ห้องเอเชีย อาคารมหาสุรสิงหนาท พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
-----------------------------------------------  
ดินเผากลมรูปพระโพธิสัตว์ทรงยืนตริภังค์* แสดงวรทมุทรา (ปางประทานพร) พระเกศารวบขึ้นเป็นพระเมาลี รอบพระเศียรแสดงศิรประภา หรือรัศมี (สื่อถึงเป็นผู้มีพระธรรมเป็นแสงสว่าง) พระพรหาขวาแนบพระวรกาย ยกพระกรหันฝ่าพระหัตถ์ขวาออก พระหัตถ์ซ้ายทรงก้านดอกบัวอุตปละ (utpala) หรือ บัวสาย พระวรกายท่อนล่างแสดงการทรงพระภูษายาวจรดข้อพระบาท ด้านข้างของพระโพธิ์สัตว์มีจารึกอักษรเทวนาครี และสถูป
พระพิมพ์ชิ้นนี้เป็นหนึ่งในรายการพระพิมพ์ที่กองแผนกตรวจรักษาของโบราณประเทศพม่าส่งมาแลกเปลี่ยนกับราชบัณฑิตยสภาเมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๔ โดยส่งพระพิมพ์มาแลกเปลี่ยนทั้งหมด ๑๖ รายการ (ประกอบด้วยพระพิมพ์ที่พบจากเมือง PAGAN จำนวน ๔ รายการ และพระพิมพ์ที่พบจากเมือง HMAWZA จำนวน ๑๒ รายการ) ทั้งนี้ราชบัณฑิตยสภาได้ส่งพระพิมพ์ไปยังประเทศพม่า จำนวน ๒๗ รายการ 
สำหรับพระพิมพ์ชิ้นนี้ Charles Duroiselle ระบุว่าเป็นพระพิมพ์ที่ขุดค้นพบในบริเวณเมือง HMAWZA (ซึ่งเป็นที่ตั้งของแหล่งโบราณคดีอาณาจักรศรีเกษตร) เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๑ โดยตีความว่าเป็นรูปพระโพธิ์สัตว์ตาราซึ่งสอดคล้องกับแสดงการถือดอกบัวอุตปละ และจารึกที่ปรากฏคือจารึกคาถา “เยธฺมา เหตุปฺปภวา” และกำหนดอายุไว้ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๕-๑๖ จากรูปแบบของพระพิมพ์ชิ้นนี้แสดงถึงอิทธิพลศิลปะอินเดียเหนือ (แบบปาละ) ที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในสมัยพุกาม (ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๙) เช่น การยืนตริภังค์ การแสดงพระกรสองข้างตรงข้ามกัน เป็นต้น 
พระโพธิ์สัตว์ตาราเป็นพระโพธิ์สัตว์เพศหญิง เป็นเทพีองค์สำคัญในพุทธศาสนามหายาน กล่าวคือ เป็นเทพีแห่งความกรุณา และเป็นผู้ปลดเปลื้องความทุกข์ให้แก่มนุษย์ โดยพระองค์ได้รับการยกย่องให้เป็นศักติของพระโพธิ์สัตว์อวโลกิเตศวร ภาคปรากฏของพระนางตารานั้น มีหลายวรรณะและหลายลักษณะ (บางตำรากล่าวว่ามีทั้งหมด ๒๑ วรรณะ) แต่ที่รู้จักอย่างแพร่หลายนั้นได้แก่ ตาราวรรณขาว (สิตตารา) และตาราวรรณเขียว (ศยามตารา) 
 
*ตริภังค์ หมายถึง ท่ายืนเอียงกายสามส่วน อันได้แก่ ส่วนที่หนึ่งเอียงจากเท้าถึงสะโพก ส่วนที่สองเอียงจากสะโพกถึงไหล่ ส่วนที่สามเอียงจากไหล่ถึงศีรษะส่วนใหญ่พบในศิลปะอินเดีย (อ้างอิงจาก กรมศิลปากร. ศัพทานุกรมโบราณคดี. กรุงเทพฯ: รุ่งศิลป์การพิมพ์, ๒๕๕๐ หน้า๒๐๐)
------------------------------------------------
อ้างอิง :
กรมศิลปากร. ศัพทานุกรมโบราณคดี. กรุงเทพฯ: รุ่งศิลป์การพิมพ์, ๒๕๕๐.
เชษฐ์ ติงสัญชลี. มุทรา ท่าทาง เครื่องทรง สิ่งของรูปเคารพในศาสนาพุทธ เชน ฮินดู. นนทบุรี: มิวเซียม เพรส, ๒๕๖๕.
ผาสุข อินทราวุธ. พุทธปฏิมามหายาน. กรุงเทพฯ: อักษรสมัย, ๒๕๔๓.
ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะพม่า. กรุงเทพฯ: มติชน, ๒๕๕๗.
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. (๔)ศธ ๒.๑.๑/๑๘๐. เอกสารกระทรวงศึกษาธิการ กรมศิลปากร. เรื่อง แลกเปลี่ยน พระพิมพ์ดินเผาระหว่างกองตำรวจรักษาของโบราณประเทศพม่ากับราชบัณฑิตยสภา (๒๒ เมษายน ๒๔๗๔-๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๔๗๕).
H. Hargreaves, editor. Annual Report of the Archaeological Survey of India for the year 1927-1928. Calcutta: Government of India Central Publication Branch, 1931.
------------------------------------------------
เรียบเรียงข้อมูล :  นายพนมกร นวเสลา ภัณฑารักษ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ

(จำนวนผู้เข้าชม 2913 ครั้ง)

Messenger