“อัปสร” นางผู้เคลื่อนไหวในน้ำ
อัปสร หรือนางอัปสร เป็นชื่อเรียกสิ่งวิเศษอย่างหนึ่งซึ่งดินแดนต่าง ๆ ที่ได้รับอิทธิพลศาสนาพราหมณ์ - ฮินดูจากชมพูทวีปจะคุ้นเคยกันในรูปของ “เทวดาผู้หญิง” รูปร่างงดงามแต่งกายด้วยถนิมพิมพาภรณ์อันมีค่าโดยทำเป็นประติมากรรมประดับอยู่ตามศาสนสถานบ้าง พบในจิตรกรรมฝาผนังเขียนประดับอยู่ภายใน
ศาสนสถานบ้าง หรือในภาพวาดทางศาสนาบ้าง กำเนิดของนางอัปสรมีกล่าวถึงในคัมภีร์หลายฉบับ อาทิ วิษณุปุราณะ อัคนิปุราณะ หรือแม้แต่รามายณะ ต่างระบุตรงกันว่านางอัปสรเป็นของวิเศษหนึ่งที่เกิดจากการกวนเกษียรสมุทร (มหาสมุทรน้ำนม) โดยในคราวนั้น พระอินทร์ทรงต้องคำสาปจากฤๅษีทุรวาสทำให้ทรงอ่อนแอลง จำเป็นต้องเสวยน้ำอมฤตที่ได้จากการกวนเกษียรสมุทรเพื่อฟื้นฟูพละกำลัง แต่การกวนเกษียรสมุทรเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องใช้กำลังมากมายมหาศาล จึงมีการเจรจาสงบศึกระหว่างเทพกับอสูรเป็นการชั่วคราวเพื่อขอให้เหล่าอสูรมาช่วยในการกวนเกษียรสมุทรโดยสัญญาว่าจะแบ่งน้ำอมฤตให้ ทว่าในระหว่างการกวนเกษียรสมุทรนอกจากได้น้ำอมฤตแล้วยังเกิดของวิเศษต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเพชรพลอย ต้นกัลปพฤกษ์ หรือต้นปาริชาติ เป็นต้น ผุดขึ้นมาจากเกษียรสมุทรซึ่งรวมถึงนางอัปสรด้วย บางตำนานยังได้กล่าวว่าพระนางลักษมี พระชายาของพระวิษณุก็ถือกำเนิดขึ้นจากเหตุการณ์ครั้งนี้เช่นกัน ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่มาของชื่อที่ใช้เรียกเหล่านางวิเศษที่ผุดขึ้นมาจากการกวนเกษียรสมุทรนี้ว่า อัปสร ซึ่งเป็นคำภาษาสันสกฤตที่เกิดจากการผสมคำว่า อัป (น้ำ) เข้ากับคำว่า สรา (เคลื่อนไหว) แปลได้ว่า ผู้เคลื่อนไหวในน้ำ หรือผู้
ที่อาศัยในน้ำ นั่นเอง
แม้นางอัปสรที่ผุดขึ้นมาจะมีรูปร่างหน้าตางดงาม สามารถร่ายรำและขับร้องได้อย่างไพเราะ จนได้รับหน้าที่สร้างความรื่นรมย์ให้กับเหล่าเทวดาและชาวสวรรค์ แต่นางอัปสรก็ยังมีบทบาทปรากฏในตำนานมากมาย เช่น เรื่องราวของฤๅษีวิศวามิตร ที่บำเพ็ญเพียรแก่กล้าจนพระอินทร์ทรงต้องส่งนางอัปสรชื่อ "เมนกา" ลงมารบกวนการบำเพ็ญเพียรและให้กำเนิดนางศกุนตลา มเหสีของท้าวทุษยันต์และมารดาของท้าวภรต บรรพบุรุษของเหล่าปาณฑพและเการพในมหากาพย์มหาภารตะ นอกจากนี้ เรายังพบว่าในงานศิลปกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนาพราหมณ์ - ฮินดูมีการใช้ภาพลักษณ์ของนางอัปสรเป็นตัวแทนของสวรรค์ เช่น การประดับนางอัปสรตามส่วนต่าง ๆ ของปราสาทหิน อาทิ ผนัง ทับหลัง เสากรอบประตู กระเบื้องเชิงชาย ซึ่งเป็นการประดับในเชิงสัญลักษณ์ที่บ่งบอกว่าศาสนสถานนั้นเปรียบเสมือนสรวงสวรรค์และแนวคิดดังกล่าวก็ยังคงสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน
----------------------------------------------
ที่มาของข้อมูล : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สวรรควรนายก
https://www.facebook.com/profile/100068573273249/search/?q=%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%AD%E0%B8%B1%E0%B8%9B%E0%B8%AA%E0%B8%A3
(จำนวนผู้เข้าชม 24471 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม
-
นโยบายเว็บไซต์ |
มาตรฐาน