ร่ายระบำฟ้อนกิงกะหร่า
ร่ายระบำฟ้อนกิงกะหร่า
ฟ้อนกิงกะหร่า เป็นศิลปะการแสดงอย่างหนึ่งของชาวไทใหญ่ โดยมีความเชื่อมาจากพุทธศาสนา กิงกะหร่า ในความหมายตามสารพจนานุกรม คือ ชื่อของ กินนร หรือ กินรี ใช้พูดในภาษาไทใหญ่ หมายถึงสัตว์หิมพานต์ ที่มีท่อนล่างเป็นนก ท่อนบนเป็นคน ได้รับอิทธิพลการฟ้อนมาจากประเทศพม่าโดยมีชื่อว่า ฟ้อนนกเก็งไนยา
ประวัติความเป็นมาของการฟ้อนกิงกะหร่านั้น มีเรื่องเล่าว่า หลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จกลับจากจำพรรษาเพื่อโปรดพระมารดา ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ขณะเสด็จลงสู่โลกมนุษย์นั้น พุทธศาสนิกชนได้พร้อมใจกันนำอาหารไปทำบุญตักบาตร หรือที่รู้จักกันดีว่า "การตักบาตรเทโวโรหนะ" และเหล่าสัตว์ต่าง ๆ จากป่าหิมพานต์ คือ กินนรและกินนรี พากันออกมาฟ้อนร่ายรำเพื่อถวายการเคารพบูชา
ในการแสดงฟ้อนกิงกะหร่า จะแสดงท่าทางอากัปกิริยาเลียนแบบนกกินรี ผู้แสดงมีได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง ใส่ชุดที่ประกอบด้วย ๓ ส่วนคือ ลำตัว ปีก หาง ทำด้วยไม้ไผ่หรือหวาย แต่ละส่วนขึ้นโครงก่อนแล้วจึงติดผ้าแพร ประดับเพิ่มด้วยกระดาษสีต่าง ๆ ตัดเป็นลวดลายให้ตัวนกงดงามมากขึ้น จากนั้นใช้เชือกปอหรือหนังยางรัดให้แน่น อีกทั้งทำเชือกโยงดึงไปทั้งปีกและหาง เพื่อให้ขยับได้สมจริง ส่วนตัวผู้แสดงนั้นมักแต่งชุดสีเดียวกับส่วนหัวและส่วนหาง
เครื่องดนตรีที่ใช้ในการฟ้อนนกกิงกะหร่านี้ มี กลองก้นยาว ๑ ลูก มอง (ฆ้อง) ๔ - ๕ ใบ (มักเป็นฆ้องราว) และฉาบ (แส่ง) ๑ คู่ โดยจะใช้จังหวะของกลองประกอบการฟ้อน เมื่อนกทำท่าบิน คนจะตีกลองเป็นทำนองหนึ่ง แต่เมื่อเปลี่ยนเป็นท่านกกระโดดโลดเต้น จึงจะเปลี่ยนทำนองการตีกลอง เป็นต้น
การแสดงฟ้อนกิงกะหร่านี้ มักใช้แสดงในประเพณีเดือน ๑๑ ในเทศกาล "ออกหว่า" หรือ ออกพรรษา ของชาวไทใหญ่ ซึ่งมักแสดงควบคู่กับฟ้อนโตหรือเต้นโต
ผู้เรียบเรียง : นางสาวอริสรา คงประเสริฐ นักจดหมายเหตุ
ภาพ : หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เชียงใหม่
อ้างอิง :
๑. อุดม รุ่งเรืองศรี. ม.ป.ป. "ฟ้อนกิงกะหร่า". สารานุกรมวัฒนธรรมไทย(Online). https://db.sac.or.th/thailand-cultural.../detail.php... , สืบค้นเมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๖๕.
๒. มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่. ม.ป.ป. "ข้อมูลการฟ้อนนกกิงกะหร่าและการเต้นโต". โครงการยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชฏักเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น เรื่อง การวิจัยหลักสูตรอย่างมีส่วนร่วมของมนุษยชนสำหรับสถานศึกษา(Online). https://online.pubhtml5.com/aofc/ufdf/#p=2 , สืบค้นเมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๖๕.
ฟ้อนกิงกะหร่า เป็นศิลปะการแสดงอย่างหนึ่งของชาวไทใหญ่ โดยมีความเชื่อมาจากพุทธศาสนา กิงกะหร่า ในความหมายตามสารพจนานุกรม คือ ชื่อของ กินนร หรือ กินรี ใช้พูดในภาษาไทใหญ่ หมายถึงสัตว์หิมพานต์ ที่มีท่อนล่างเป็นนก ท่อนบนเป็นคน ได้รับอิทธิพลการฟ้อนมาจากประเทศพม่าโดยมีชื่อว่า ฟ้อนนกเก็งไนยา
ประวัติความเป็นมาของการฟ้อนกิงกะหร่านั้น มีเรื่องเล่าว่า หลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จกลับจากจำพรรษาเพื่อโปรดพระมารดา ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ขณะเสด็จลงสู่โลกมนุษย์นั้น พุทธศาสนิกชนได้พร้อมใจกันนำอาหารไปทำบุญตักบาตร หรือที่รู้จักกันดีว่า "การตักบาตรเทโวโรหนะ" และเหล่าสัตว์ต่าง ๆ จากป่าหิมพานต์ คือ กินนรและกินนรี พากันออกมาฟ้อนร่ายรำเพื่อถวายการเคารพบูชา
ในการแสดงฟ้อนกิงกะหร่า จะแสดงท่าทางอากัปกิริยาเลียนแบบนกกินรี ผู้แสดงมีได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง ใส่ชุดที่ประกอบด้วย ๓ ส่วนคือ ลำตัว ปีก หาง ทำด้วยไม้ไผ่หรือหวาย แต่ละส่วนขึ้นโครงก่อนแล้วจึงติดผ้าแพร ประดับเพิ่มด้วยกระดาษสีต่าง ๆ ตัดเป็นลวดลายให้ตัวนกงดงามมากขึ้น จากนั้นใช้เชือกปอหรือหนังยางรัดให้แน่น อีกทั้งทำเชือกโยงดึงไปทั้งปีกและหาง เพื่อให้ขยับได้สมจริง ส่วนตัวผู้แสดงนั้นมักแต่งชุดสีเดียวกับส่วนหัวและส่วนหาง
เครื่องดนตรีที่ใช้ในการฟ้อนนกกิงกะหร่านี้ มี กลองก้นยาว ๑ ลูก มอง (ฆ้อง) ๔ - ๕ ใบ (มักเป็นฆ้องราว) และฉาบ (แส่ง) ๑ คู่ โดยจะใช้จังหวะของกลองประกอบการฟ้อน เมื่อนกทำท่าบิน คนจะตีกลองเป็นทำนองหนึ่ง แต่เมื่อเปลี่ยนเป็นท่านกกระโดดโลดเต้น จึงจะเปลี่ยนทำนองการตีกลอง เป็นต้น
การแสดงฟ้อนกิงกะหร่านี้ มักใช้แสดงในประเพณีเดือน ๑๑ ในเทศกาล "ออกหว่า" หรือ ออกพรรษา ของชาวไทใหญ่ ซึ่งมักแสดงควบคู่กับฟ้อนโตหรือเต้นโต
ผู้เรียบเรียง : นางสาวอริสรา คงประเสริฐ นักจดหมายเหตุ
ภาพ : หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เชียงใหม่
อ้างอิง :
๑. อุดม รุ่งเรืองศรี. ม.ป.ป. "ฟ้อนกิงกะหร่า". สารานุกรมวัฒนธรรมไทย(Online). https://db.sac.or.th/thailand-cultural.../detail.php... , สืบค้นเมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๖๕.
๒. มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่. ม.ป.ป. "ข้อมูลการฟ้อนนกกิงกะหร่าและการเต้นโต". โครงการยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชฏักเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น เรื่อง การวิจัยหลักสูตรอย่างมีส่วนร่วมของมนุษยชนสำหรับสถานศึกษา(Online). https://online.pubhtml5.com/aofc/ufdf/#p=2 , สืบค้นเมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๖๕.
(จำนวนผู้เข้าชม 16966 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม
-
นโยบายเว็บไซต์ |
มาตรฐาน