พระราชพิธีเดือน5 : พระราชพิธีศรีสัจจปานกาลคเชนทรัศวสนาน
          ในสมัยอยุธยามีการประกอบพระราชพิธีสนามต่างๆ ซึ่งกระทำในเดือน 5 (เมษายน) นับเป็นเดือนขึ้นปีใหม่ที่พระมหากษัตริย์ต้องเสด็จออกทอดพระเนตรคล้ายการตรวจกำลังพลสวนสนาม เพื่อเป็นสิริมงคลแก่แผ่นดิน
          ในพระราชกำหนดกฎมนเทียรบาลจะมีการพระราชพิทธีเผดจ์ศกลดแจตรออกสนาม ซึ่งเป็นพระราชพิธีออกสนามใหญ่ มีกระบวนกองทัพช้าง ม้า กองกำลังทุกหน่วยทั้งหัวเมือง พลเรือน และไพร่ จุดประสงค์ของการประกอบพิธีเพื่อให้ทหาร และพลเรือนแสดงความจงรักภักดี และเป็นการแสดงความพร้อมหรือแสนยานุภาพของกองทหารให้ปรากฏแก่ขุนนางข้าราชการ และเจ้าประเทศราช
          มีการประกอบพระราชพิธีออกสนามคือพระราชพิธีคเชนทรัศวสนานเป็นพระราชพิธีทอดเชือกดามเชือก และพระราชพิธีศรีสัจจปานกาลหรือ พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา บางครั้งเรียกต่อกันว่า “พระราชพิธีศรีสัจจปานกาลคเชนทรัศวสนาน” ทำในเดือนห้า และเดือนสิบ เป็นการแสดงพระบรมเดชานุภาพของกษัตริย์และความเข้มแข็งของกองทัพ ขบวนช้าง ม้า และทหาร
          พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตย์หรือเดิมเรียกว่า พระราชพิธีศรีสัจจปานกาลเป็นพระราชพิธีที่ยิ่งใหญ่สืบเนื่องมาแต่โบราณ ด้วยคติความเชื่อเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์เป็นผู้มีพระราชอำนาจสูงสุดและเป็นศูนย์กลางของพระราชอาณาจักร มีรูปแบบที่จัดขึ้นเพื่อให้พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการดื่มน้ำสาบานว่าจะจงรักภักดีและซื่อตรงต่อพระมหากษัตริย์ เป็นการให้สัตย์สาบานประเภทหนึ่งที่ใช้น้ำเป็นสื่อกลาง ส่วนในทางปฏิบัติของการถือน้ำนั้นเป็นการเอาคมศาสตราวุธต่างๆ มาทำพิธีสวดหรือสาปแช่ง โดยการอ่านลิลิตโองการแช่งน้ำแล้วเสียบลงในน้ำที่จะนำไปพระราชทานให้ดื่มเป็นหลักสำคัญ
          พระราชพิธีนี้เชื่อว่ามีมาก่อนการก่อตั้งกรุงศรีอยุธยา และยังเป็นที่แพร่หลายในดินแดนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในสมัยอยุธยามีหลักฐานวรรณกรรมเรื่อง ลิลิตโองการแช่งน้ำใช้เป็นประกาศคำถวายสัตย์ในพระราชพิธีถือน้ำ พระราชพิธีดังกล่าวนี้ยังประกอบในโอกาสต่างๆ เช่น พระราชพิธีถือน้ำเมื่อพระมหากษัตริย์เสด็จขึ้นครองราชย์ พระราชพิธีถือน้ำเมื่อออกสงคราม นอกเหนือไปจากที่กระทำเป็นประจำทุกปีๆ ละสองครั้ง
          ในสมัยอยุธยาข้าราชการถือน้ำที่วัดพระศรีสรรเพชญ์ ต่อมาย้ายไปที่พระวิหารมงคลบพิตร เมื่อถือน้ำแล้วใช้ดอกไม้ธูปเทียนไปถวายบังคมพระเชษฐบิดร เป็นรูปเทวดาฉลองพระองค์พระเจ้าอู่ทอง หรือสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 แล้วจึงเข้าไปถวายบังคมพระเจ้าแผ่นดินพร้อมกัน
          สำหรับในสมัยรัตนโกสินทร์สถานที่ใช้ประกอบพระราชพิธี คือ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หลังจากนั้นจึงนำดอกไม้ธูปเทียนมาถวายบังคมพระบรมอัฐิของรัชกาลที่ 1 และถวายบังคมพระอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมมหาปัยกาธิบดีแทนพระเชษฐบิดร ในรัชกาลต่อๆ มา ยังมีการถวายบังคมพระอัฐิพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ก่อนๆ ซึ่งเสด็จสวรรคตล่วงไปแล้วโดยลำดับ
          พระราชพิธีคเชนทรัศวสนาน เป็นพระราชพิธีออกสนามใหญ่กระทำในเดือนห้า พระราชพิธีนี้เกิดขึ้นจากความต้องการทำพิธีทอดเชือกดามเชือกของพราหมณ์พฤฒิบาศ เป็นส่วนหนึ่งของพิธีทางคชกรรม เพื่อสร้างความเป็นสิริมงคลแก่ช้าง ม้า ให้พระเจ้าแผ่นดินทอดพระเนตร เพื่อเป็นการตรวจกำลังพล ความเข้มแข็งของกองทัพ


ภาพ จิตรกรรมพระราชพิธีสิบสองเดือนที่พระอุโบสถวัดเสนาสนาราม ภาพจิตรกรรมพระราชพิธีสงกรานต์เป็นภาพที่เขียนขึ้นใหม่ ด้านบนของภาพเป็นพระราชพิธีสรงมุธาภิเษก เพื่อความเป็นสิริมงคลของบ้านเมือง โดยพระมหากษัตริย์จะประทับที่พระแท่นนพปฎลเศวตรฉัตร มีท่อไขสหัสธาราสำหรับสรงน้ำตั้งที่ข้างพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยฯ
          ตอนล่างเป็นภาพพระราชพิธีคเชนทรัศวสนาน มีการแห่ช้างต้น ม้าต้น ผ่านหน้าพระที่นั่งชัยชุมพล ซึ่งเป็นพระที่นั่งพลับพลาบนกำแพงพระบรมมหาราชวัง เพื่อให้พราหมณ์รดน้ำเพื่อเป็นสิริมงคล เสมือนกับเป็นการแสดงความพร้อมเพรียงด้านแสนยานุภาพของบ้านเมือง



ภาพพระราชพิธีคเชนทรัศวสนาน มีการแห่ช้างต้น ม้าต้น ผ่านหน้าพระที่นั่งชัยชุมพล ซึ่งเป็นพระที่นั่งพลับพลาบนกำแพงพระบรมมหาราชวัง เพื่อให้พราหมณ์รดน้ำเพื่อเป็นสิริมงคล เสมือนกับเป็นการแสดงความพร้อมเพรียงด้านแสนยานุภาพของบ้านเมือง



ภาพพระราชพิธีคเชนทรัศวสนาน ในภาพจิตรกรรมมีชะนีสีดำอยู่ที่ด้านหลังขบวน แต่ตามความเป็นจริงควรจะเป็นลิงเผือกอันเป็นสหชาติกับช้างอันเป็นสัตว์คู่พระบารมี



ภาพพระราชพิธีสรงมุธาภิเษก เพื่อความเป็นสิริมงคลของบ้านเมือง โดยพระมหากษัตริย์จะประทับที่พระแท่นนพปฎลเศวตรฉัตร มีท่อไขสหัสธาราสำหรับสรงน้ำตั้งที่ข้างพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยฯ

เอกสารอ้างอิง
1) ฉัตรบงกช ศรีวัฒนสาร. “การพระราชพิธีสิบสองเดือนในจิตกรรมฝาผนัง วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพมหานคร”. สาระนิพนธ์ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ บัณฑิตวิทยาลัย.มหาวิทยาลัยศิลปากร. 2546. 2) ทศพร ทองคำ. “จิตกรรมพระราชพิธีสิบสองเดือน วัดเสนาสนาราม ต.หัวรอ อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา”. การศึกษาเฉพาะบุคคลในประวัติศาสตร์ศิลปะ ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร. 2556. 3) จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. พระราชพิธีสิบสองเดือน. กรุงเทพฯ : บรรณกิจ 1991, 2553.

-------------------------------------------------------
ที่มาของข้อมูล : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม:Chantharakasem National Museum https://www.facebook.com/294696457254757/posts/5232819673442386/

(จำนวนผู้เข้าชม 6718 ครั้ง)

Messenger