เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
เปิดให้ชมวันแรก “ครอบพระเศียรทองคำสมัยล้านนา” และ เครื่องปั้นดินเผาสมัยลพบุรีจากแหล่งเตาจังหวัดบุรีรัมย์
เมื่อวันพุธที่ 22 มิถุนายน 2565 กรมศิลปากรเปิดให้ประชาชนเข้าชมโบราณวัตถุที่ได้รับมอบจากสหรัฐอเมริกาและผู้บริจาคชาวไทย เป็นวันแรก หลังจากพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับมอบโบราณวัตถุดังกล่าวในนามของรัฐบาล ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ มิถุนายนที่ผ่านมา โดยครอบพระเศียรทองคำสมัยล้านนา อายุราวพุทธศตวรรษที่ 20 - 21 ที่ได้รับมอบจากครอบครัวชาวอเมริกัน จัดแสดงที่ห้องประวัติศาสตร์โบราณคดีล้านนา อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ ส่วนเครื่องปั้นดินเผาสมัยลพบุรีจากแหล่งเตาจังหวัดบุรีรัมย์ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12 – 19 ที่รับมอบจากนายโยธิน และนางวิวรรณ ธาราหิรัญโชติ จัดแสดงที่ห้องประวัติศาสตร์โบราณคดีสมัยลพบุรี อาคารมหาสุรสิงหนาท พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ผู้สนใจสามารถเข้าชมได้ทุกวันพุธ - วันอาทิตย์ เวลา 09.00 น. – 16.00 น. ปิดวันจันทร์ - วันอังคาร
ครอบพระเศียรพระพุทธรูป ทองคํา
ครอบครัว Cornell ชาวอเมริกัน มีความประสงค์ส่งมอบครอบพระเศียรพระพุทธรูป ทองคำ ที่บรรพบุรุษได้เก็บสะสมไว้กลับคืนสู่ประเทศไทย โดยประสานผ่านทาง ศ.ดร.ม.ล. ภัทรธร จิรประวัติ หนึ่งในคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย กรมศิลปากร โดยสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นำเสนอที่ประชุมคณะอนุกรรมการด้านวิชาการและมีมติยืนยันขอรับมอบครอบพระเศียรดังกล่าว โดยมีสถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกา เป็นผู้แทนรับมอบและส่งกลับคืนประเทศไทยผ่านกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ถึงกรมศิลปากร เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 19 พฤษภาคม 2565
ครอบพระเศียรพระพุทธรูปล้านนา พุทธศตวรรษที่ 21 ขนาดกว้าง 14 เซนติเมตร สูง 30 เซนติเมตร น้ำหนัก 202.10 กรัม ผลการตรวจพิสูจน์ด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์ พบว่ามีส่วนประกอบคือ ทองคำ 85-95 % เงิน 8-11 % ทองแดง 1-2 % โลหะชนิดอื่น น้อยกว่า 1%
กรรมวิธีในการสร้างครอบพระเศียร ใช้การขึ้นรูปโดยการตี บุ ดุน แผ่นทองให้เป็นรูปร่างตามที่ต้องการ โดยรูปแบบที่ปรากฏ เป็นครอบพระเศียรที่มีรัศมีเป็นเปลวเพลิง เม็ดพระศกกลม เล็ก มีร่องรอยการฝังอัญมณีที่บริเวณเหนือพระนลาฏ พระรัศมีและขอบพระเศียรแสดงให้เห็นถึงความศรัทธาของพุทธศาสนิกชนที่ตกแต่งพระพุทธรูปให้งดงามด้วยอัญมณี และโลหะมีค่าถวายเป็นพุทธบูชา
กรมศิลปากรได้นำมาจัดแสดงให้ประชาชนทั่วไปชม ณ จัดแสดงที่ห้องประวัติศาสตร์โบราณคดีล้านนา อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
เ
ครื่องปั้นดินเผาสมัยลพบุรีจากแหล่งเตาจังหวัดบุรีรัมย์
นายโยธิน และนางวิวรรณ ธาราหิรัญโชติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้งบริษัท บีเอสวายกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้มอบเครื่องปั้นดินเผาสมัยลพบุรีจากแหล่งเตาจังหวัดบุรีรัมย์ ให้กับกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม จำนวน 164 รายการ มูลค่า 82 ล้านบาท โดยทำพิธีรับมอบอย่างเป็นทางการ ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการรับมอบ
นายโยธิน และนางวิวรรณ ธาราหิรัญโชติ ได้มอบเครื่องปั้นดินเผาชุดนี้ให้กับกรมศิลปากร เพื่อเก็บรักษาไว้เป็นสมบัติของชาติ และจัดแสดงในนิทรรศการเครื่องปั้นดินเผา ห้องลพบุรี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร โดยมีวัตถุประสงค์ 2 ประการ คือ
1. เพื่อให้คนไทยโดยเฉพาะอนุชนรุ่นใหม่ ได้ภาคภูมิใจในความสามารถของคนไทยในอดีต ที่เป็นศูนย์กลางการผลิตเครื่องปั้นดินเผาที่มีคุณภาพดีมาตั้งแต่โบราณ จากหลักฐานแหล่งผลิตที่เตาบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกไปยังราชสำนักเมืองพระนครและเมืองอื่นภายใน อาณาจักรเขมรโบราณ เช่นเดียวกับในปัจจุบันคนไทยยังคงเป็นผู้ผลิตสินค้าชั้นนำที่มีคุณภาพดีส่งไป จำหน่ายทั่วโลก
2. เครื่องปั้นดินเผาสมัยลพบุรีจากแหล่งเตาเมืองบุรีรัมย์ชุดนี้เมื่อจัดแสดงในนิทรรศการ เครื่องปั้นดินเผาที่ห้องลพบุรีแล้ว จะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติให้เข้ามาชม พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร มากยิ่งขึ้น
นายโยธินใช้เวลาในการศึกษารวบรวมมากว่า 20 ปี ผ่านกระบวนการศึกษาวิจัยโดยผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องปั้นดินเผาทั้งชาวไทยและต่างประเทศ จนเป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับจากนักวิชาการด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์ทั่วโลกว่าเป็นเครื่องปั้นดินเผาจากแหล่งเตาบุรีรัมย์ที่ดีที่สุดในประเทศไทย
ทั้งนี้ เครื่องปั้นดินเผาสมัยลพบุรี กรมศิลปากรได้พบแหล่งผลิตเป็นเตาเผาจำนวนมากในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ อันเป็นแหล่งอุตสาหกรรมในอดีต ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 12-19 นิยมผลิตเครื่องปั้นดินเผาที่เป็นเอกลักษณ์ คือใช้น้ำเคลือบสีน้ำตาล สีเขียว สร้างสรรค์เป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ เพื่อจำหน่ายเป็นสินค้าในภูมิภาค ปัจจุบันจึงพบเครื่องปั้นดินเผาจากเตานี้ ในแหล่งโบราณคดีที่เป็นศาสนสถานทั้งในประเทศไทย และประเทศกัมพูชา ปัจจุบันกรมศิลปากรได้นำโบราณวัตถุดังกล่าวจัดแสดงให้ประชาชนทั่วไปชม ณ ห้องศิลปะลพบุรี อาคารมหาสุรสิงหนาท พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ตามเจตนารมณ์ของผู้มอบ
(จำนวนผู้เข้าชม 1472 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน