กรมศิลปากรพร้อมเปิดให้ชม “ครอบพระเศียรทองคำสมัยล้านนา” และ“เครื่องปั้นดินเผาสมัยลพบุรีจาก แหล่งเตาจังหวัดบุรีรัมย์” ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ตั้งแต่ ๒๒ มิถุนายนนี้เป็นต้นไป

          นายกิตติพันธ์ พานสุวรรณ อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า กรมศิลปากรได้เตรียมการเปิดให้ประชาชนเข้าชมโบราณวัตถุที่ได้รับมอบจากสหรัฐอเมริกาและผู้บริจาคชาวไทย หลังจากพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับมอบโบราณวัตถุดังกล่าวในนามของรัฐบาล ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ ๑๔ มิถุนายนที่ผ่านมา โดยครอบพระเศียรทองคำสมัยล้านนา อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐ - ๒๑ ที่ได้รับมอบจากครอบครัวชาวอเมริกัน จะจัดแสดงที่ห้องประวัติศาสตร์โบราณคดีล้านนา อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ ส่วนเครื่องปั้นดินเผาสมัยลพบุรีจากแหล่งเตาจังหวัดบุรีรัมย์ อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๙ ที่รับมอบจากนายโยธิน และนางวิวรรณ ธาราหิรัญโชติ จัดแสดงที่ห้องประวัติศาสตร์โบราณคดีสมัยลพบุรี อาคารมหาสุรสิงหนาท พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ตั้งแต่วันพุธที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๖๕ เป็นต้นไป





           อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า ขณะนี้ทางสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติได้ดำเนินการพัฒนารูปแบบ การจัดแสดงโบราณวัตถุที่ห้องประวัติศาสตร์โบราณคดีสมัยลพบุรี อาคารมหาสุรสิงหนาท แล้วเสร็จ รวมถึงการจัดแสดงเครื่องปั้นดินเผาสมัยลพบุรีจากแหล่งเตาจังหวัดบุรีรัมย์ จำนวน ๑๖๔ รายการ ที่ได้รับมอบใหม่ในครั้งนี้ เพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้เข้าชมและศึกษาหาความรู้ตามเจตนารมณ์ของผู้มอบ และให้คนไทยโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ได้ภาคภูมิใจในความสามารถของคนไทยในอดีตที่เป็นศูนย์กลางการผลิตเครื่องปั้นดินเผาคุณภาพดีมาแต่โบราณ อีกทั้งยังเป็นสินค้าส่งออกไปยังราชสำนักเมืองพระนครและเมืองอื่นภายในอาณาจักรเขมรโบราณ















          อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวอีกว่า “เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๐ กรมศิลปากรได้ดำเนินการศึกษาขุดค้นเตาเผา โบราณ ซึ่งพบเป็นจำนวนมากในอำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ ต่อมาได้สร้างอาคารคลุมกลุ่มเตาเผา พร้อมจัดแสดงเป็นศูนย์ข้อมูลสำหรับผู้สนใจเข้าชม ๒ แห่ง ประกอบด้วย ศูนย์ข้อมูลแหล่งเตาเผาโบราณบ้านสวาย และศูนย์ข้อมูลแหล่งเตาโบราณนายเจียน จึงขอแนะนำให้ผู้ที่ได้เข้าชมการจัดแสดงเครื่องปั้นดินเผาสมัยลพบุรีจากแหล่งเตาจังหวัดบุรีรัมย์ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร และมีโอกาสเดินทางไปยังจังหวัดบุรีรัมย์ เข้าเยี่ยมชมแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผากลุ่มนี้ เป็นการเติมเต็มเรื่องราวของเครื่องปั้นดินเผาสมัยลพบุรีที่ได้รับมอบในครั้งนี้ด้วย”




แหล่งเตาเผาโบราณบ้านสวาย





แหล่งเตาโบราณนายเจียน

(จำนวนผู้เข้าชม 1278 ครั้ง)

Messenger