เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
โบราณวัตถุ ๑๐ ชิ้นห้ามพลาดในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับประชาชนทุกเพศทุกวัยและยังเป็นสถานที่ต้อนรับอาคันตุกะระดับชาติของประเทศไทย จึงเป็นแหล่งที่รวบรวมมรดกวัฒนธรรมของชาติไว้เป็นจำนวนมาก เป็นการยากที่จะบอกว่า โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุชิ้นไหนเป็นชิ้นเอกในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เนื่องจากทุกชิ้นล้วนมีความสำคัญด้วยกันทั้งสิ้น อย่างไรก็ตามพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร มีโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุแนะนำ ๑๐ รายการ ที่จัดแสดงอยู่ภายในพระที่นั่ง และอาคารต่างๆ ที่ผู้เข้าชมไม่ควร พลาดชมและต้องไปให้ถึงอาคารจัดแสดงนั้นๆ ประกอบด้วย
๑. พระพุทธสิหิงค์ จัดแสดง ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์
พระพุทธปฏิมาศิลปะสุโขทัย – ล้านนา หล่อด้วยสำริดกะไหล่ทอง อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑ นับถือกันว่า เป็นพระพุทธปฏิมาศักดิ์สิทธิ์ทรงอานุภาพ ตามตำนานพระพุทธสิหิงค์กล่าวว่า ได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ไปประดิษฐานเป็นสิริมงคลยังพระนครหลวงและเมืองสำคัญแต่โบราณของไทยหลายแห่ง คือ นครศรีธรรมราช สุโขทัย กำแพงเพชร เชียงราย เชียงใหม่ พระนครศรีอยุธยา และในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๘ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท พระมหาอุปราชในรัชกาลที่ ๑ อัญเชิญจากเมืองเชียงใหม่มาประดิษฐานเป็นพระพุทธรูปสำคัญประจำพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ เนื่องจากพระพุทธสิหิงค์เป็นพระพุทธรูปที่อำนวยความอุดมสมบูรณ์ จึงได้อัญเชิญออกไปให้ประชาชนสรงน้ำขอพรในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งภายหลังกรมศิลปากรได้ขอพระบรมราชานุญาตหล่อองค์จำลองสำหรับเทศกาลสงกรานต์จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี
๒. พระคเณศ จัดแสดงห้อง ศรีวิชัย อาคารมหาสุรสิงหนาท
พระคเณศ ๔ กร จากจันทิสิงหส่าหรี เกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย ศิลปะชวาตะวันออก อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๕ - ๑๖ ความสูง ๑๗๒ เซนติเมตร ลักษณะเป็นประติมากรรมจำหลักศิลานูนสูง ประทับนั่งบนบัลลังก์กะโหลกมนุษย์ หัตถ์ขวาบนถือขวาน หัตถ์ซ้ายบนถือพวงลูกประคำ หัตถ์ขวาและหัตถ์ซ้ายล่างถือถ้วยขนม ทรงศิราภรณ์ประดับด้วยกะโหลกมนุษย์ แม้แต่กุณฑล พาหุรัด เข็มขัด รัดองค์ ทองพระกร ทองพระบาท และภูษาทรงล้วนประดับด้วยลวดลายกะโหลกมนุษย์ และสวมสายยัชโญปวีตรูปงู ตามประวัติกล่าวว่า ผู้สำเร็จราชการเกาะชวาซึ่งเป็นชาวฮอลันดาน้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ในคราวเสด็จประพาสชวาเมื่อ พ.ศ.๒๔๓๙ ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ในห้องศรีวิชัย อาคารมหาสุรสิงหนาท
๓. พระปัทมปาณีโพธิสัตว์ จัดแสดงห้อง ศรีวิชัย อาคารมหาสุรสิงหนาท
พระปัทมปาณีโพธิสัตว์หรือพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ๒ กร ศิลปะศรีวิชัย อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๔ พบเพียงท่อนบนพระวรกาย พบที่วัดเวียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ลักษณะเอียงพระวรกาย ทรงศิราภรณ์ ส่วนยอดของชฎามกุฎหักหายไป พระเนตรเหลือบต่ำ สวมสร้อยประคำและกรองศอ พระอังสาด้านซ้ายคล้องผ้าเฉวียงบ่า และทับด้วยสายยัชโญปวีตประดับหัวกวาง สันนิษฐานว่า อาจเป็นองค์เดียวกับพระโพธิ์สัตว์ปัทมปาณี ที่กล่าวถึงในจารึกจากวัดเวียงว่า ถึงพระเจ้าธรรมเสตะสร้างปราสาทอิฐสามหลังเพื่ออุทิศถวายแด่พระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์สององค์ ซึ่งพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรนี้มีผู้นับถืออย่างมากทั้งใน พุทธศาสนามหายานและวัชรยาน ซึ่งเคารพนับถืออยู่ในชวาภาคกลางในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ - ๑๔ เป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงความเกี่ยวข้องระหว่างอาณาจักรศรีวิชัยในคาบสมุทรภาคใต้กับราชวงศ์ไศเลนทร์ในชวาภาคกลาง
๔. ตะเกียงโรมัน จัดแสดงห้องเอเชีย อาคารมหาสุรสิงหนาท
ตะเกียงโรมัน ขุดพบที่ตำบลพงตึก อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี ราชบัณฑิตยสภาได้มอบให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๐ ลักษณะตะเกียงหล่อด้วยสำริด ปลายด้ามมีช่องสำหรับวางไส้ตะเกียง ด้านบนมีฝาเปิดหล่อเป็นรูปพระพักตร์เทพเจ้าไซเลนุส (Silenus) ผู้เป็นอาจารย์ของเทพเจ้าไดโอนีซุส (Dionysus) เทพเจ้าแห่งเหล้าองุ่นของโรมัน ด้ามจับหล่อเป็นลายใบปาล์มและปลาโลมาคู่หันหน้าเข้าหากัน ตะเกียงนี้อาจหล่อขึ้นที่เมืองอเล็กซานเดรีย เมืองท่าทางทะเลในประเทศอียิปต์ เมื่อครั้งอยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิโรมันราวก่อนพุทธศตวรรษที่ ๖ หรืออาจหล่อขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ ๙ - ๑๐ และคงเป็นของที่พ่อค้าชาวอินเดียได้นำเข้ามาในประเทศไทย เนื่องจากบริเวณที่พบนั้น ตั้งอยู่บนเส้นทางการค้าที่พ่อค้าชาวอินเดียเคยเดินทางผ่านไปมา ซึ่งสอดคล้องกับการค้นพบเหรียญโรมันสำริดของจักรพรรดิวิคโตรินุสที่เมืองโบราณอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นสิ่งยืนยันได้ว่าชุมชนโบราณในภูมิภาคตะวันตกของประเทศไทยมีการติดต่อค้าขายกับโลกตะวันตก ได้แก่ กลุ่มประเทศแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียนคือ กรีก-โรมัน รวมทั้งเปอร์เซีย ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๖ – ๙ ซึ่งอาจเป็นการติดต่อโดยตรงกับพ่อค้าโรมันที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานตามบ้านเมืองท่าชายฝั่งของอินเดีย หรือติดต่อผ่านพ่อค้าชาวอินเดียที่เดินทางมาจากเมืองท่าต่าง ๆ ก็เป็นได้
๕. พระพุทธรูปปางปฐมเทศนา จัดแสดงอาคารประพาสพิพิธภัณฑ์
พระพุทธรูปปางปฐมเทศนาหรือที่เรียกกันว่า “หลวงพ่อศิลาขาว” ศิลปะทวารวดี พุทธศตวรรษที่ ๑๓ - ๑๔ พระพุทธรูปประทับนั่งห้อยพระบาท เป็นพระพุทธรูปที่นำมาประกอบจาก ๕ ส่วนคือ พระเศียรและบั้นพระองค์ได้มาจากวัดพระยากง ตำบลสำเภาล่ม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ส่วนพระอุระ พระเพลา และพระบาท ได้จากวัดพระเมรุ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม โดยช่างในอดีตใช้เทคนิคในการเข้าสลักลิ่มเพื่อยึดชิ้นส่วนทั้ง ๕ เข้าด้วยกัน
เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๙ อาจารย์เศวต เทศน์ธรรม ผู้ซ่อมแซมพระพุทธรูปศิลาขาวทั้ง ๓ องค์คือ ประดิษฐานที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ ได้ใช้ปูนซีเมนต์และปูนปลาสเตอร์ในการซ่อมองค์พระ และใช้แท่งสแตนเลสเป็นแกนเพื่อยึดชิ้นส่วนต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ซึ่งทั้งสามองค์ไม่พบชิ้นส่วนพระหัตถ์เลย ผู้ซ่อมแซมจึงใช้รูปแบบปางแสดงธรรมจากพระพุทธรูปนั่งขนาดเล็กในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา เป็นต้นแบบในการซ่อมแซม
๖. พระหายโศก จัดแสดงห้องล้านนา อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์
พระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะล้านนา ประทับขัดสมาธิเพชร พระบาทไขว้กันแลเห็นฝ่าพระบาททั้งสองข้าง มีพระรัศมีรูปดอกบัวตูม พระโอษฐ์แย้มเล็กน้อย พระวรกายอวบอ้วน พระหัตถ์ขวาคว่ำอยู่บนพระชานุ (เข่า) นิ้วพระหัตถ์ชี้ลงด้านล่าง เป็นท่านั่งที่เกี่ยวเนื่องกับพุทธประวัติตอน “มารผจญ” เป็นกิริยาที่พระพุทธเจ้าทรงเรียกแม่พระธรณีมาเป็นพยานการบำเพ็ญพระบารมี ส่วนฐานพระพุทธรูปมีลักษณะเป็นรูปบัวคว่ำบัวหงาย โดยบัวหงายมีขนาดใหญ่กว่าบัวคว่ำและปลายกลีบดอกบัวมีความอ่อนช้อย กลีบบัวมีการตกแต่งด้วยลายพฤกษา และลายช่อดอกโบตั๋น จากพุทธลักษณะที่กล่าวมาข้างต้นแสดงให้เห็นถึงพุทธศิลป์ล้านนาแบบสิงห์ ๑ กำหนดอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๑ อันเป็นยุคทองของล้านนาที่นิยมสร้างพระพุทธรูปแบบฐานบัวงอน
ด้านหลังที่ฐานพระพุทธรูปมีจารึกด้วยอักษรไทย ภาษาไทย สมัยรัตนโกสินทร์ ว่า “พระหายโศก มาถึงกรุงเทพฯ วัน ๑ ๑๑+ ๕ ค่ำ (วันอาทิตย์ ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๕) ปิ์มเสงยังเป็นอัฐศก ศักราช ๑๒๑๘” ซึ่งตรงกับวันที่ ๕ เมษายน พุทธศักราช ๒๓๙๙ ในรัชกาลที่ ๔
นาม “หายโศก”สะท้อนถึงธรรมเนียมการตั้งชื่อพระพุทธรูปล้านนาที่มักตั้งตามคติความเชื่อด้านพระพุทธคุณในเชิงขจัดปัดเป่า เคราะห์ภัยอันตรายต่าง ๆ ที่อาจนำความทุกข์โศกมาสู่ผู้กราบไหว้บูชา แต่เดิมนั้นพระพุทธรูปองค์นี้เป็นพระพุทธรูปของหลวง และใช้ในการพระราชพิธีเท่านั้น ก่อนที่กรมพระราชพิธีจะส่งมาเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ปัจจุบันนี้ จัดแสดงอยู่ที่ห้องล้านนา อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์
๗. ศิลาจารึกหลักที่ ๑ จัดแสดงห้องสุโขทัย อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์
เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ยังดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ามงกุฎฯ ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ณ วัดราชาธิวาส (วัดสมอราย) ในสมัยรัชกาลที่ ๓ และเสด็จจาริกธุดงค์ไปยังหัวเมืองเหนือเมื่อประมาณ พ.ศ.๒๓๗๖ ทรงพบศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ศิลาจารึกวัดป่ามะม่วงและพระแท่นมนังคศิลาบาตร ที่เนินปราสาทเก่าสุโขทัย และทรงอ่านจารึกได้เป็นพระองค์แรก เนื้อหาในศิลาจารึกแบ่งออกเป็นสามตอนคือ ตอนที่ ๑ ตั้งแต่บรรทัดที่ ๑ ถึง บรรทัดที่ ๑๘ เล่าประวัติของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ตั้งแต่ประสูติจนได้เสวยราชสมบัติใช้คำว่า “กู” เป็นหลัก ส่วนตอนที่ ๒ เล่าเรื่องเหตุการณ์ต่าง ๆ รวมถึงธรรมเนียมในเมืองสุโขทัย เล่าถึงการประดิษฐ์ตัวอักษรไทยเมื่อพ.ศ.๑๘๒๖ การสร้างพระธาตุเมืองศรีสัชนาลัยเมื่อพ.ศ.๑๘๒๘ และสร้างพระแท่นมนังคศิลาเมื่อพ.ศ.๑๘๓๕ โดยใช้คำว่า “พ่อขุนรามคำแหง” แทนคำว่า “กู” และจารึกตอนที่ ๓ ตั้งแต่ด้านที่ ๔ บรรทัดที่ ๑๒ ถึงบรรทัดสุดท้าย เป็นคำสรรเสริญพระเกียรติคุณพ่อขุนรามคำแหงมหาราช และกล่าวถึงอาณาเขตเมืองสุโขทัยที่แผ่ออกไป สันนิษฐานว่า เป็นการจารึกภายหลังหลายปี เนื่องจากตัวหนังสือไม่เหมือนกับตอนที่ ๑ และตอนที่ ๒ จารึกหลักนี้กำหนดอายุตามปีศักราชที่ระบุไว้คือพ.ศ.๑๘๓๕ และเมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๔๖ ได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก (Memory of the World) องค์การยูเนสโก
๘. พระอิศวร จัดแสดงห้องสุโขทัย อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์
พระอิศวรสำริด สมัยสุโขทัย อายุประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ลักษณะตามประวัติกล่าวว่ารับมาจากเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ กรุงเทพฯ สันนิษฐานว่าคือ พระมเหศวร ที่กล่าวถึงในจารึกวัดป่ามะม่วงว่า พระมหาธรรมราชาธิราช ที่ ๑ (พญาลิไท) โปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานไว้ในหอเทวาลัยมหาเกษตรพิมาน คู่กับพระวิษณุอีกองค์หนึ่ง เมื่อปีฉลู มหาศักราช ๑๒๗๑ ตรงกับปีพุทธศักราช ๑๘๙๓
๙. พระมหาพิชัยราชรถ จัดแสดงที่โรงราชรถ
พระมหาพิชัยราชรถ เป็นราชรถที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๓๓๘ มีขนาดกว้าง ๔.๘๕ เมตร ความยาวรวมงอนรถ ๑๘ เมตร (ความยาวเฉพาะตัวรถ ๑๔.๑๐ เมตร) สูง ๑๑.๒๐ เมตร น้ำหนักรวม ๑๓.๗๐ ตัน ปัจจุบันใช้กำลังพลฉุดชักจากกรมสรรพาวุธทหารบก ๒๑๖ นาย เมื่อแรกสร้างนั้นโปรดให้สร้างขึ้นเป็นราชรถขนาดใหญ่ตามโบราณราชประเพณีที่เคยมีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา เพื่อเชิญพระบรมอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกออกถวายพระเพลิง ณ พระเมรุมาศท้องสนามหลวง นับแต่นั้น พระมหาพิชัยราชรถเชิญพระโกศพระบรมศพพระมหากษัตริย์ พระบรมราชินี และพระบรมวงศ์ษานุวงศ์ชั้นสมเด็จเจ้าฟ้าในสมัยต่อ ๆ มา และใน พ.ศ.๒๕๖๐ ใช้ทรงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ปัจจุบันพระมหาพิชัยราชรถได้เก็บรักษาไว้ ณ โรงราชรถ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
๑๐. พระที่นั่งบุษบกเกริน จัดแสดง ณ พระที่นั่งอิสราวินิจฉัย
พระที่นั่งบุษบกเกรินหรือบุษบกราชบัลลังก์ ตั้งอยู่ด้านหน้าพระทวารกลางของพระที่นั่งมุขกระสัน ด้านทิศตะวันออกของหมู่พระวิมาน เป็นพระที่นั่งไม้ทรงบุษบกขนาบด้วยเกรินทั้งซ้ายขวา ตกแต่งด้วยไม้แกะสลักรูปยักษ์ ครุฑ และเทพนม ปิดทองประดับกระจก สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ โดยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาททรงใช้เสด็จออกรับขุนนางหรือออกว่าราชการ ซึ่งบริเวณพื้นที่โดยรอบเรียกว่า ท้องพระโรงหน้า ถัดจากพระที่นั่งบุษบกเกรินเป็นชาลาและมีอาคารทิมคดตั้งอยู่สามด้านเรียกว่า ทิมมหาวงศ์ สำหรับเป็นที่ประชุมเหล่านักปราชญ์ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๓ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพทรงสร้างพระที่นั่งขึ้นใหม่ต่อมาจากมุขกระสันและรื้อทิมมหาวงศ์ออก โดยมีพระที่นั่งบุษบกเกรินประดิษฐานเป็นประธานในอาคารหลังใหม่นามว่า พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เปิดให้ประชาชนเข้าชมทุกวันพุธ – อาทิตย์ เวลา ๐๘.๓๐-๑๖.๐๐ น. (ปิดวันจันทร์ - อังคาร) สอบถามเพิ่มเติม โทร. ๐-๒๒๒๔-๑๔๐๒, ๐-๒๒๒๔-๑๓๓๓
(จำนวนผู้เข้าชม 43551 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน