วัฒนธรรมล้านช้างที่ปรากฏบนภูพระบาท

          อุทยานประวัติศาสตร์ตั้งอยู่ที่ตำบลเมืองพาน อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี จากการศึกษาทางโบราณคดีที่ผ่านมา พบว่าภูพระบาทได้ปรากฏร่องรอยกิจกรรมของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์เมื่อราว 3,000 – 2,500 ปีมาแล้ว จากการพบภาพเขียนสีบนเพิงผาและผนังถ้ำมากกว่า 54 แห่งบนภูเขาแห่งนี้ นอกจากนี้ยังพบการดัดแปลงเพิงหินธรรมชาติให้เป็นพื้นที่ใช้งานในวัฒนธรรมทวารวดี เขมรโบราณ จนถึงวัฒนธรรมล้านช้าง ซึ่งหลักฐานทางโบราณคดีเหล่านี้ แสดงให้เห็นพัฒนาการทางสังคม และวัฒนธรรมของ ภูพระบาทได้เป็นอย่างดี
          วัฒนธรรมล้านช้างปรากฏขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19 – 20 ศูนย์กลางของวัฒนธรรมอยู่ที่เมืองเชียงดงเชียงทอง หรือหลวงพระบาง โดยมีแม่น้ำคานไหลสู่แม่น้ำโขงและมีพูสี (ภูศรี) เป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ประจำเมืองตามคติศูนย์กลางจักรวาล ซึ่งนิยมสร้างพระธาตุเจดีย์บนยอดเขา ตั้งแต่ช่วงพุทธศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมาดินแดนของล้านนา สุโขทัย อยุธยา และล้านช้าง มีการนับถือพุทธศาสนานิกายเถรวาทในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน สำหรับอาณาจักรล้านช้างนั้นพงศาวดารล้านช้างได้กล่าวว่า พระยาฟ้างุ้มลี้ภัยไปยังอินทปัตต์นคร (พระนครหลวงของกัมพูชา) และกลับมาพร้อมพระมหาเถรปาสมันต์ โดยอัญเชิญพระบางพระพุทธรูปองค์สำคัญมาด้วย และได้ประดิษฐานไว้ที่เมืองเวียงคำ จนถึงรัชกาลพระยาวิชุนราชจึงอัญเชิญขึ้นมาประดิษฐาน ณ เมืองเชียงดงเชียองทอง นับเป็นจุดเริ่มต้นของพุทธศาสนานิกายเถรวาทในอาณาจักรล้านช้าง
          ช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 21 สมัยสมเด็จพระไชยเชษฐาราช ได้มีการติดต่อทางพุทธศาสนาครั้งสำคัญระหว่างล้านช้างและล้านนา ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมด้านภาษา อักษร และงานศิลปกรรมทางศาสนา เกิดการสร้าง ปฏิสังขรณ์วัด และพระธาตุเจดีย์ที่สำคัญหลายแห่ง เช่น วัดเชียงทอง เมืองหลวง พระบาง พระธาตุบังพวน จังหวัดหนองคาย และพระธาตุพนม จังหวัดนครพนม
          ในรัชกาลของพระยาสุริยวงศาธรรมิกราชถือเป็นยุคทองของล้านช้าง บ้านเมืองมีความสงบสุข และมีความเจริญทางพุทธศาสนาอย่างมาก มีการสร้างศาสนสถานและพระพุทธรูป รวมทั้งมีการแต่งวรรณคดีทางศาสนาคือ อุรังคธาตุนิทาน ภายหลังพระยาสุริยวงศาธรรมิกราชสิ้นพระชนม์ บ้านเมืองเกิดความแตกแยกกลายเป็นสามนครรัฐ คือ หลวงพระบาง เวียงจันทน์ และจำปาสัก ระยะนี้อยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 23 ตรงกับสมัยอยุธยาตอนปลาย จากนั้นเมื่อกษัตริย์องค์สุดท้ายของอาณาจักรล้านช้างคือ เจ้าอนุวงศ์ ซึ่งเคยพำนักในกรุงเทพฯ และกลับไปครองนครเวียงจันทน์ ส่งผลให้ศิลปกรรมของวัฒนธรรมล้านช้างในยุคนี้ได้รับอิทธิพลศิลปะรัตนโกสินทร์ ต่อมาเจ้าอนุวงศ์เกิดความขัดแย้งกับราชสำนักในกรุงเทพฯ จนเกิดสงครามยืดเยื้อ ท้ายที่สุดเจ้าอนุวงศ์ถูกสำเร็จโทษ ส่วนเมืองเวียงจันทน์ได้ถูกทำลายลง ถือเป็นการสิ้นสุดลงของสมัยล้านช้าง โดยภูพระบาทได้พบหลักฐานการเข้ามาใช้พื้นที่ของผู้คนในวัฒนธรรมล้านช้าง 3 แห่ง ดังนี้
          1. ถ้ำช้าง มีลักษณะเป็นเพิงหินขนาดใหญ่ 2 ก้อนซ้อนกัน ตั้งอยู่บนลานพื้นหินที่ยกตัวสูงขึ้น โดยพบภาพจิตรกรรมฝาผนังทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของตัวถ้ำ เขียนสีแดงเป็นลวดลายช้าง ลายเส้นดูอ่อนช้อย สันนิษฐานว่าเขียนขึ้นในช่วงวัฒนธรรมล้านช้าง ราวพุทธศตวรรษที่ 21 – 23
          2. เจดีย์ร้าง ผู้คนในท้องถิ่นเรียกเจดีย์ดังกล่าวว่า อูปโมงค์ ลักษณะเป็นอาคารทรงสี่เหลี่ยมก่อผนังอิฐทึบ 3 ด้าน มีประตูทางเข้า 1 ด้าน ตั้งอยู่บนลานหิน สันนิษฐานว่าเคยเป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาท รูปแบบของอาคารคล้ายคลึงกับอูบมุง มาจากคำว่าอุโมงค์ ในศิลปะล้านช้างที่มักก่อหลังคาเป็นทรงจั่ว และมีการประดับหลังคาด้วยช่อฟ้าปราสาทกลางหลังคา และลักษณะดังกล่าวยังคล้ายคลึงกับเจดีย์ครอบพระพุทธบาทที่วัดพระพุทธบาทบัวบานอีกด้วย รูปแบบเช่นนี้มีลักษณะเป็นคันธกุฎี หรือกุฎิส่วนพระองค์ของพระพุทธเจ้า ถูกระบุในวินัยว่าเป็นสถานที่สำราญพระสรีระของพระพุทธเจ้าโดยเฉพาะ จึงสร้างให้พอดีกับพระพุทธรูปองค์เดียว
           3. วัดพระพุทธบาทบัวบก ตามประวัติว่าแต่เดิมมีอุบมง (มณฑป) ขนาดเล็กสร้างครอบพระพุทธบาทไว้ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2463 พระอาจารย์สีทัตถ์ สุวรรณมาโจ ได้ธุดงค์มาพบจึงได้ปฏิสังขรณ์สร้างพระธาตุครอบใหม่ดังปรากฏในปัจจุบัน โดยเสร็จสิ้นราวพ.ศ. 2479 ซึ่งนำรูปแบบทางศิลปกรรมมาจากองค์พระธาตุพนม คือ เป็นพระธาตุทรงเหลี่ยมฐานกว้างด้านละ 8.50 เมตร สูงประมาณ 45 เมตร ส่วนฐานชั้นล่างก่อเป็นห้อง สามารถเข้าไปนมัสการรอยพระพุทธบาทได้ ส่วนยอดพระธาตุทรงบัวเหลี่ยมสูงเพรียว ประดับด้วยฉัตร 9 ชั้น ในส่วนยอดประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่ขุดพบในรอยพระพุทธบาทเดิม
          จากหลักฐานดังกล่าวจะเห็นได้ว่าวัฒนธรรมล้านช้างมีความสำคัญต่อพื้นที่ภูพระบาทอย่างมาก ดังปรากฏในรูปแบบของภาพเขียนสีบนผนังถ้ำ รวมถึงงานศิลปกรรมอย่างเจดีย์ และพระธาตุที่สะท้อนให้เห็นถึงคติความเชื่อ ศาสนา และวัฒนธรรมในสมัยวัฒนธรรมล้านช้างบนพื้นที่ภูพระบาทได้เป็นอย่างดี




















---------------------------------------------------------
เรียบเรียงโดย นางสาวนิชา คำสิงห์ ผู้ช่วยนักโบราณคดีอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ภาพโดย นายจักรชัย พรหมวิชัย นายช่างศิลปกรรมอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท
--------------------------------------------------------
บรรณานุกรม
กรมศิลปากร, ตำนานอุรังคธาตุ (ตำนานพระธาตุพนม) ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ อ.ต. หลวงประชุม บรรณสาร (พิณ เดชะคุปต์) วันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2483 ณ สุสานวัดมกุฎกษัตริยาราม , 2483. จักรพันธ์ เพ็งประไพ, การสำรวจสภาพปัจจุบันของแหล่งโบราณคดีและภาพเขียนสีในเขตอุทยาน ประวัติศาสตร์ภูพระบาท (เอกสารประกอบการประเมินผลการทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการ, มปป). ประภัสสร์ ชูวิเชียร, ศิลปะลาว (กรุงเทพฯ: มติชน, 2557). สุรศักดิ์ ศรีสำอาง, ลำดับกษัตริย์ลาว (กรุงเทพฯ: สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2545).

(จำนวนผู้เข้าชม 10770 ครั้ง)

Messenger